ภาวะท้องผูก เป็นภาวะที่พบได้บ่อยถึงประมาณร้อยละ 10 ของประชากรทั่วไป ซึ่งอาการท้องผูกนั้นมีลักษณะที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล บางคนอาจหมายถึงการที่ต้องใช้แรงและเวลานานเพื่อเบ่งถ่ายอุจจาระ บางคนอาจหมายถึงความถี่ของการถ่ายอุจจาระหรือการถ่ายอุจจาระนานๆ ครั้ง บางคนอาจหมายถึงความรู้สึกเหมือนยังถ่ายไม่สุดเมื่อถ่ายเสร็จแล้ว หรือบางคนอาจหมายถึงการมีอาการปวดท้องหรือท้องอืดร่วมกับอาการท้องผูกด้วย
สาเหตุของอาการท้องผูกแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ แบบปฐมภูมิ ที่มักเกิดจากสรีรวิทยาของการขับถ่ายที่เปลี่ยนไป และแบบทุติยภูมิ ที่มีสาเหตุจากปัจจัยบางอย่าง เช่น ยาหรืออาหารเสริมบางชนิด โรคทางต่อมไร้ท่อ และโรคทางระบบทางเดินอาหาร
การรักษาภาวะท้องผูก สามารถทำได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ดื่มน้ำมากๆ ออกกำลังกาย และการใช้ยาระบาย หากผู้ป่วยละเลยการรักษาจนเกิดภาวะท้องผูกเรื้อรัง หรือไม่ตอบสนองต่อการรักษา อาจมีสาเหตุมาจากการเบ่งถ่ายที่ผิดวิธี หรือมีภาวะ Dyssynergia ซึ่งแพทย์จะวินิจฉัยด้วยเครื่องมือตรวจวัดการทำงานของกล้ามเนื้อส่วนปลายของลำไส้ใหญ่และหูรูดทวารหนัก (Anorectal manometry) การรักษาที่ได้ผลต่อภาวะนี้ คือ การฝึกกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเบ่งถ่ายให้ทำงานถูกต้อง (Biofeedback training) เป็นการฝึกกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเบ่งถ่ายให้ทำงานถูกวิธีด้วยเครื่องมือที่แสดงการทำงานของกล้ามเนื้อที่ควบคุมการขับถ่าย ให้ผลดีในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมีอาการท้องผูกร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น น้ำหนักลด ถ่ายเป็นเลือด ท้องผูกสลับท้องเสีย โดยเฉพาะในผู้ที่มีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือเริ่มมีอาการท้องผูกตอนอายุมากกว่า 45 ปี ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยโดยเร็วที่สุด เนื่องจากภาวะท้องผูกนั้น ถึงแม้จะไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้ายแรงอื่นๆ เช่น โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้