การคูลดาวน์ที่เพียงพอจะช่วยลดโอกาสหน้ามืด หรือภาวะความดันโลหิตต่ำลงหลังออกกำลังกาย (Post exercise hypotension) ซึ่งเกิดเนื่องจากขณะออกกำลังกายนั้นร่างกายจะมีอุณภูมิสูงขึ้น การไหลของเลือดจะไปอยู่ที่บริเวณเส้นเลือดส่วนปลาย หรือบริเวณเท้ากับขาค่อนข้างมาก ทำให้เลือดที่ไหลกลับมายังหัวใจมีปริมาณลดลง นำไปสู่อาการหน้ามืด ดังนั้นอาการค่อยๆ ลดระดับความหนักของการออกกำลังกายลงช้าๆ 5-10 นาทีจนกระทั่งอุณภูมิของเซลล์กล้ามเนื้อ ค่อยๆ ลดลง (Cool down) พร้อมกับร่างกายที่ค่อยๆ กลับคืนสู่สภาวะปกติ
คูลดาวน์ด้วย การยืดกล้ามเนื้อแบบหยุดนิ่ง (static stretching exercises)
มักพบเห็นได้บ่อยๆ ในผู้ออกกำลังกายทั่วไป เช่น ตามสวนสาธารณะ หรือในฟิตเนส
การยืดกล้ามเนื้อแบบหยุดนิ่งนี้ ควรทำเป็นขั้นตอนสุดท้ายหลังคูลดาวน์ หรือออกกำลังกายเสร็จ ซึ่งควรใช้ระยะเวลา ให้นานเท่าการวอร์มอัพ จนกว่าชีพจรหรืออัตราการเต้นหัวใจลดต่ำลงอยู่ในระดับที่ไม่เหนื่อยมาก หรืออย่างน้อย 5-10 นาทีขึ้นไป โดยทำค้างไว้อย่างน้อย 10-20 วินาที จึงจะเกิดการยืดของเซลล์กล้ามเนื้ออย่างมีประสิทธิภาพ
หลังการคูลดาวน์ ควรยืดกล้ามเนื้อด้วยการยืดเหยียดแบบหยุดนิ่ง เนื่องจากขณะออกกำลังกายเราใช้กล้ามเนื้อติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง มักเกิดการบาดเจ็บเล็กๆ น้อยๆ ในกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อก็จะพยายามสร้างแรงตึงตัวให้มากขึ้นเพื่อเป็นการป้องกันตัวเอง
ถ้าไม่ Cool Down หลังออกกำลังกาย จะเกิดอะไรขึ้น
สุดท้ายแล้วหากไม่มีการยืดเหยียดหลังออกกำลังกาย กล้ามเนื้อเหล่านี้จะเกิดการเกร็งตัวและหดค้าง ส่งผลให้กล้ามเนื้อตึง เกิดอาการปวดเมื่อยหลังจากออกกำลังกายจนถึงวันรุ่งขึ้นได้
หากมีภาวะนี้สะสมเป็นระยะเวลานาน ในการออกกำลังกายครั้งต่อไป จะรู้สึกปวดตึงกล้ามเนื้อมากจนไม่สามารถออกกำลังกายในระดับเดิมได้ ดังนั้นการยืดเหยีดแบบหยุดนิ่ง จึงมีบทบาทสำคัญในการปรับความตึงตัวของกล้ามเนื้อให้กลับมาใกล้เคียงกับระดับก่อนออกกำลังกาย ซึ่งเป็นระดับกล้ามเนื้อปกติในชีวิตประจำวัน
การวอร์มอัพและคูลดาวน์เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม และควรกระทำก่อนและหลังออกกำลังกายอย่างถูกวิธี เพื่อช่วยป้องกันการบาดเจ็บและเพิ่มประสิทธิภาพของการออกกำลังกายให้มากขึ้น