อาจไม่ใช่แค่นอนกรน แต่หยุดหายใจขณะหลับ

อาจไม่ใช่แค่นอนกรน แต่หยุดหายใจขณะหลับ

HIGHLIGHTS:

  • หากอาการนอนกรนส่งผลต่อชีวิตประจำวัน เช่น มีอาการไม่สดชื่นหลังตื่นนอนแม้ได้นอนอย่างเพียงพอ หลับไม่เต็มอิ่ม ความดันโลหิตสูง หรือกระทบกับความสัมพันธ์ในชีวิตคู่ ส่งผลต่อความมั่นใจในการเข้าสังคม หรือมีอาการ หยุดหายใจขณะหลับ สะดุ้งตื่นบ่อยครั้ง มีอาการคล้ายสำลักน้ำ ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง
  • การรักษาการนอนกรน มีทั้งแบบใช้การผ่าตัดและไม่ใช้การผ่าตัด  การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะก่อนเข้านอน การลดน้ำหนัก การใช้อุปกรณ์ช่วย เช่น ฟันยาง  
  • การผ่าตัดเพื่อรักษาอาการนอนกรน มีหลายวิธีขึ้นกับลักษณะทางกายวิภาคที่เป็นสาเหตุของการนอนกรน เช่น   การใช้เลเซอร์ผ่าตัดบริเวณเพดานอ่อน การใช้เครื่องมือจี้เพื่อนำเอาเนื้อเยื่อส่วนเกินที่เพดานอ่อนและลิ้นออก  การผ่าตัดผนังกั้นจมูก การผ่าตัดต่อมทอนซิลหรือต่อมอะดีนอยด์   
     

นอนกรน คืออะไร

นอนกรน เกิดจากการที่ขณะหลับมีการสั่นสะเทือนของลิ้นไก่และเพดานอ่อนที่แรงมากกว่าปกติ เนื่องจากตอนนอน กล้ามเนื้อส่วนนี้มีการหย่อนคล้อยลงมา เกิดการปิดกั้นเส้นทางการหายใจ ทำให้หายใจเอาอากาศเข้าสู่หลอดลมและปอดได้ไม่สะดวก ลมที่ถูกปิดกั้นนี้ทำให้ลิ้นไก่และเพดานอ่อนเกิดการสั่นกระพือจนเกิดเป็นเสียงกรนขึ้น

นอนกรน เกิดจากอะไร

ส่วนใหญ่แล้วคนที่นอนกรนจะมีช่องที่หลังลิ้นไก่แคบ ซึ่งเป็นมาตั้งแต่กำเนิด แต่การนอนกรนที่เกิดขึ้นภายหลัง อาจเกิดจากปัจจัยเสริม ได้แก่ น้ำหนักที่เพิ่มขึ้น ขนาดของคอ เนื้อรอบคอที่มีมาก ทำให้มีขนาดคอใหญ่ หรือเป็นจากโรคทางระบบประสาททำให้กล้ามเนื้อที่คอมีความอ่อนแอ

นอนกรน อันตรายไหม

การนอนกรนนั้นอาจเป็นอันตรายมากกว่าที่คิดได้ คนส่วนใหญ่มักคิดว่าการนอนกรนนั้นดูเป็นเรื่องเล็กน้อย  บางคนอาจคิดว่าการนอนกรนเป็นการบอกว่าเรานอนหลับได้สนิท ซึ่งทางการแพทย์ได้พิสูจน์แล้วว่า จริงๆ แล้ว การนอนกรนนั้น เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าร่างกายผิดปกติ และมีการรบกวนการนอนหลับ  

การนอนกรนนั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย และการนอนกรนที่รุนแรงและต่อเนื่องนั้น ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคสำคัญ ๆ ต่าง ๆ หลายโรคได้ อาทิเช่น 

ถึงแม้การนอนกรนอาจไม่ทำอันตรายต่อสุขภาพ แต่ก็อาจสร้างปัญหาอย่างอื่นได้ เช่น มีปัญหากับชีวิตคู่ ปัญหาทางสังคม ทำให้เกิดความรู้สึกอาย หรือ เสียบุคลิกภาพ เป็นต้น

นอนกรนแบบธรรมดา

การนอนกรนแบบธรรมดา คือการนอนกรนเสียงดังอย่างเดียว ถือเป็นภาวะที่ก่อความรำคาญต่อคู่สมรส หรือคนอื่น ๆ ที่นอนร่วมห้อง หรือข้างเคียง ซึ่งมีผลต่อการดำเนินชีวิตคู่ สร้างความอับอาย ทำให้ไม่กล้านอนร่วมห้องกับผู้อื่น

นอนกรนที่เกิดจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep apnea)

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เกิดจากการที่มีทางเดินหายใจแคบมากในเวลาหลับ โดยที่เมื่อยังหลับไม่สนิทจะยังเป็นการกรนที่สม่ำเสมอ แต่เมื่อหลับสนิทจะเกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจ และจะมีช่วงหยุดกรนไปชั่วระยะหนึ่ง เป็นช่วงที่เกิดการหยุดหายใจ (Obstructive sleep apnea) ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายกับการกลั้นหายใจ

หยุดหายใจขณะหลับ อันตรายไหม

ช่วงที่หยุดหายใจนี้เอง ที่ทำให้เกิดอันตรายเนื่องจากระดับออกซิเจนในเลือดแดงจะลดต่ำลงอย่างมาก  ทำให้เกิดความผิดปกติในการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ เช่น หัวใจ ปอด และสมอง ซึ่งร่างกายจะมีกลไกตอบสนองต่อภาวะนี้ โดยสมองของเราจะถูกปลุกหรือกระตุ้นให้ตื่นขึ้น ทำให้การหลับของเรานั้นถูกรบกวน ต้องตื่นขึ้นเพื่อหายใจใหม่ สามารถสังเกตได้ว่าจะมีอาการสะดุ้งตื่น หรือมีอาการคล้าย ๆ กำลังสำลักน้ำลายตนเอง หรือบางคนอาจมีอาการหายใจอย่างแรงเหมือนขาดอากาศ

อาการตอบสนองเหล่านี้เป็นไปเพื่อทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนอีกครั้ง แต่หลังจากนั้นไม่นาน สมองจะเริ่มหลับอีก และก็จะเกิดภาวะขาดอากาศอย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า วนเวียนอย่างนี้เป็นจำนวนหลายครั้งในแต่ละคืน หลายคนคงอยากรู้ว่า เหมือนเราตื่นบ่อย แต่ทำไมเราจำไม่ได้ว่ามีอาการตื่น เนื่องจากการตื่นเพื่อให้มีอากาศเข้าไปในปอด เป็นเพียงไม่กี่วินาที ทำให้เราจำไม่ได้ ยิ่งหยุดหายใจมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งส่งผลให้กลางวันง่วงมากหรือเพลียมากเท่านั้

อาการของภาวะ หยุดหายใจขณะหลับ

ในบางครั้งผู้ที่นอนกรน ไม่สามารถรู้ว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วยหรือไม่ อาจให้คนใกล้ชิดช่วยสังเกตอาการให้ เช่น 

  • มีอาการสะดุ้งตื่น
  • มีอาการคล้ายๆ สำลักน้ำ 
  • มีอาการหายใจอย่างแรงเหมือนขาดอากาศ
  • อาจพิจารณาด้วยตนเองว่า เมื่อตื่นขึ้นมาแล้วรู้สึกว่านอนหลับไม่เต็มอิ่ม
  • รู้สึกไม่สดชื่น ทั้งที่มีเวลานอนพียงพอหรือปวดศรีษะเป็นประจำในตอนเช้า
  • มีอาการของกรดไหลย้อน

แนะนำโปรแกรมตรวจหาภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ คลิกที่นี่

อาการนอนกรนที่ควรมาพบแพทย์ 

ควรพบแพทย์เมื่อมีอาการนอนกรนและส่งผลต่อชีวิตประจำวัน เช่น มีอาการไม่สดชื่นหลังตื่นนอนแม้ได้นอนอย่างเพียงพอ หลับไม่เต็มอิ่ม ความดันโลหิตสูง หรือกระทบกับความสัมพันธ์ในชีวิตคู่ ส่งผลต่อความมั่นใจในการเข้าสังคม หรือมีอาการหยุดหายใจขณะหลับ สะดุ้งตื่นบ่อยครั้ง มีอาการคล้ายสำลักน้ำ เป็นต้น

วิธีรักษาอาการนอนกรน 

การรักษาการนอนกรน มีทั้งแบบใช้การผ่าตัดและไม่ใช้การผ่าตัด

วิธีที่ไม่ใช้การผ่าตัด

  • การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะก่อนเข้านอน การลดน้ำหนัก
  • การใช้ยากลุ่มลดน้ำมูกและแก้แพ้ ทำให้ทางเดินหายใจโล่งขณะนอนหลับ
  • การใช้ nasal strip คาดที่จมูก จะช่วยทำให้ทางเดินหายใจเปิดค้างขณะหลับ
  • การใช้อุปกรณ์ช่วย เช่น ฟันยาง เพื่อช่วยให้กรามอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมขณะนอนหลับ แต่ต้องเป็นฟันยางที่ได้รับการวัดขนาดเพื่อการช่วยนอนหลับโดยเฉพาะ

การใช้การผ่าตัด มีหลายวิธีขึ้นกับลักษณะทางกายวิภาคที่เป็นสาเหตุของการนอนกรน เช่น

  • การใช้เลเซอร์ผ่าตัดบริเวณเพดานอ่อน (Laser-assisted uvulopalatoplasty-LAUP)
  • การใช้เครื่องมือจี้เพื่อนำเอาเนื้อเยื่อส่วนเกินที่เพดานอ่อนและลิ้นออก (Ablation therapy )
  • การผ่าตัดผนังกั้นจมูก (Septoplasty) ทำในรายที่มีผนังกั้นจมูกผิดรูป
  • การผ่าตัดต่อมทอนซิลหรือต่อมอะดีนอยด์ (Tonsillectomy or adenoidectomy) 

นอนกรนแค่ไหน ที่จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด 

แพทย์อาจแนะนำวิธีการผ่าตัดเมื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การใช้ยา หรือใช้เครื่องมือต่าง ๆ แล้วไม่ได้ผล และการนอนกรนหรือหยุดหายใจขณะหลับมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันอย่างมาก

การผ่าตัดรักษาอาการนอนกรน

การผ่าตัดอาการนอนกรนขึ้นกับลักษณะทางกายวิภาคที่เป็นสาเหตุของการนอนกรน โดยการผ่าตัดโดยใช้เลเซอร์หรือการจี้ที่บริเวณเพดานอ่อน ลิ้นไก่ ผนังคอหอย จะใช้เวลานอนโรงพยาบาล 1 คืน หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน อาการนอนกรนจะดีขึ้นใน 1-2 สัปดาห์หลังผ่าตัด และแผลจะหายเป็นปกติประมาณ 4 สัปดาห์หลังการผ่าตัด แต่หากเป็นการผ่าตัดโดยใช้มีดและการเย็บซ่อมแซมอาจใช้เวลาในการนอนโรงพยาบาล 2-3 วันและใช้เวลาในการหายของแผลนานกว่า

การรักษานอนกรนด้วยการผ่าตัด เรียบเรียงโดย พญ. ศศิกานต์ ภูมิคอนสาร
แนะนำโปรแกรมตรวจหาภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ คลิกที่นี่

References:
  1. มหาวิทยาลัยมหิดล. (n.d.). สาเหตุของโรคนอนกรน. https://sst.or.th/sleep/wp-content/uploads/2017/06/หนังสือ-108-ปัญหาของคนนอนกรน.pdf 
  2. มหาวิทยาลัยมหิดล. (n.d.). การนอนกรน: สัญญาณเตือน โรคเรื้อรัง. https://m.youtube.com/watch?v=pxAcat3tCBc. 
  3. มหาวิทยาลัยมหิดล. (n.d.). นอนกรน:  รักษาได้ https://www.bangkokhospital.com/content/do-not-think-snoring-not-important. 
  4. WebMD. (n.d.). Snoring. https://www.webmd.com/sleep-disorders/sleep-apnea/snoring
  5. Cleveland Clinic. (n.d.). Snoring. https://my.clevelandclinic.org/services/snoring-treatment
  6. News-Medical. (n.d.). Surgical Solutions to Snoring. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3413800/
  7. Johns Hopkins Medicine. (n.d.). Snoring. https://www.hopkinsmedicine.org/otolaryngology/specialty-areas/snoring-sleep-surgery
สอบถามเพิ่มเติม

*โปรดระบุ

ชื่อ*
ชื่อ*
นามสกุล*
นามสกุล*
ประเภทคำถาม*
ประเภทคำถาม*
คำถามของคุณ*
คำถามของคุณ*
อีเมล*
อีเมล*
คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?