เนื่องจากแข่งขันไตรกีฬาเป็นการรวมสุดยอดความอึดทั้ง 3 อย่างไว้ด้วยกัน และยังเป็นกีฬาที่ใช้การเคลื่อนไหวแบบทนทาน (Endurance Sports) ซึ่งต้องใช้ความแข็งแรง และความอดทนอย่างมาก การฝึกซ้อมจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง
- ควรเตรียมตัวไม่ต่ำกว่า 3 เดือนก่อนการแข่งขัน และฝึก 5 วันต่อสัปดาห์เป็นอย่างน้อย
- การฝึกว่ายน้ำ ควรฝึกในสถานที่เปิดตามระยะทางที่เลือกลงแข่ง หรือหากฝึกในสระว่ายน้ำ อาจต้องฝึกว่ายอย่างต่อเนื่องโดยไม่พักให้ได้ประมาณ 2 เท่าของระยะจริง
- แบ่งการฝึกออกเป็นวันสำหรับว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน และวิ่ง โดยฝึกระยะสั้นๆ ก่อน จากนั้นจึงเพิ่มระยะทาง จนสามารถทำระยะได้ตามระยะทางที่จะลงแข่งขัน
- ฝึกซ้อมแบบเปลี่ยน เช่นว่ายน้ำแล้วเปลี่ยนไปปั่นจักรยาน หรือวิ่งอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ร่างกายคุ้นเคยกับการเปลี่ยนแปลงการใช้กล้ามเนื้อแต่ละส่วนแบบเฉียบพลัน ช่วยป้องกันการบาดเจ็บขณะลงแข่งจริง
- มีตารางซ้อมที่ได้มาตรฐาน โดยศึกษาจากผู้เคยลงแข่งหรือแชมป์จากสมัยต่างๆ นำมาปรับใช้กับร่างกายและความสามารถของตนเอง
- สำหรับผู้มีโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการแข่งขัน โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคหัวใจ ควรเข้ารับการทดสอบหัวใจโดยการเดินสายพาน (exercise stress test – EST) เพื่อดูภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดขณะออกกำลังกาย ทั้งนี้ผู้มีโรคประจำตัวหลายคนเคยลงแข่งไตรกีฬาคนเหล็ก (Ironman) และประสบความสำเร็จแล้วมากมาย
ไตรกีฬา กับอาการบาดเจ็บที่ไม่ควรละเลย
อาการบาดเจ็บตอนซ้อม
การฝึกฝนอย่างหนักหน่วงและต่อเนื่องอาจทำให้ร่างกายเหนื่อยล้า และเกิดการบาดเจ็บก่อนการแข่งขันได้ หากเกิดการบาดเจ็บระหว่างการซ้อม เช่น เท้าบวม ปวดเข่า หรือเอ็นหัวไหล่อักเสบ ควรพบแพทย์เพื่อประเมินอาการว่าควรหยุดพักหรือสามารถฝึกต่อได้ เพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บมากขึ้นจนไม่สามารถเข้าร่วมแข่งได้
อาการบาดเจ็บระหว่างแข่ง
ทั้งนี้ในระหว่างการแข่งขัน การว่ายน้ำคือจุดที่นับว่าอันตรายที่สุดของการแข่งขันไตรกีฬา เนื่องจากเป็นการว่ายน้ำในสถานที่เปิด อาจจะเป็น ทะเล ทะเลสาบ คลอง และแม่น้ำ และต้องว่ายอย่างต่อเนื่องตามระยะทางที่กำหนด รวมถึงระหว่างแข่งขันอาจมีคลื่น ลม หรือปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ไม่สามารถควบคุมได้ ดังนั้นการฝึกฝนว่ายน้ำและดูแลสุขภาพให้แข็งแรงก่อนลงแข่งจึงเป็นเรื่องสำคัญ
อาการบาดเจ็บหลังแข่ง ไตรกีฬา
หลังการแข่งขันก็เช่นกันหากรู้สึกอ่อนเพลีย พักนานกว่า 1 สัปดาห์แล้วไม่ดีขึ้น หรือมีอาการปวดบวมตามข้อต่อต่างๆ ควรปรึกษาแพทย์ เนื่องจากหากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้การบาดเจ็บเล็กน้อยกลายเป็นปัญหาใหญ่ การรักษาอาจยุ่งยากและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
ไม่ว่าการเข้าแข่งขันไตรกีฬาจะเป็นเพียงเทรนด์หรือความท้าทายเพื่อเอาชนะขีดจำกัดของตัวเอง หากผู้เข้าแข่งรู้จักและเข้าใจความสามารถของตน เลือกระดับระยะทางที่เหมาะสม รวมถึงหมั่นฝึกฝนอย่างต่อเนื่องและมีวินัย สุขภาพที่ดีและความแข็งแรงราวมนุษย์เหล็กคงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมแน่นอน