เมื่อ... เอ็นไขว้หน้าขาด

เมื่อ... เอ็นไขว้หน้าขาด

HIGHLIGHTS:

  • สาเหตุที่ เอ็นไขว้หน้าขาด ส่วนมากมาจากอุบัติเหตุจากการเล่นกีฬา โดยเฉพาะกีฬาที่ต้องมีการปะทะ, กีฬาที่ต้องมีการเคลื่อนไหวในลักษณะบิดหมุนตัว หรือกีฬาที่ต้องใช้การกระโดดตัวขึ้นลง รวมถึงอาจเกิดจากอุบัติเหตุได้เช่นกัน
  • การรักษาเอ็นไขว้หน้าขาด ทำได้หลายวิธี ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดทุกราย
  • การผ่าตัดส่องกล้อง สามารถมองเห็นพยาธิสภาพอื่นๆ ภายในข้อเข่าได้ชัดเจนกว่าการผ่าตัดแบบเปิด ทำให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น

บ่อยครั้งที่เรามักได้ยินข่าวว่านักกีฬาได้รับบาดเจ็บเอ็นข้อเข่าขาด โดยเฉพาะกีฬายอดฮิตอย่างฟุตบอล ซึ่งนักเตะระดับโลกหลายคนก็เคยเจอกับการบาดเจ็บนี้มาแล้วและภาวะข้อเข่าที่มีการบาดเจ็บจนต้องได้รับการผ่าตัดบ่อยคือ 

เอ็นไขว้หน้า (Anterior Cruciate Ligament หรือ ACL) คืออะไร

เอ็นไขว้หน้า คือ เส้นเอ็นที่อยู่ในข้อเข่าวางตัวอยู่ทางด้านหน้า มีหน้าที่สำคัญในการรักษาความมั่นคงของข้อเข่าในการเคลื่อนไหว โดยเฉพาะการบิดหมุนตัวซึ่งต้องใช้เอ็นไขว้หน้าในการควบคุม เอ็นไขว้หน้าจะช่วยล็อกไม่ให้ข้อเข่าทรุด หรือไม่ให้มีอาการไม่มั่นคงในข้อเข่า

เอ็นไขว้หน้าขาด เกิดจากอะไร

เอ็นไขว้หน้าขาด สาเหตุส่วนมากมาจากอุบัติเหตุจากการเล่นกีฬา

  • โดยเฉพาะกีฬาที่ต้องมีการปะทะ เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล รักบี้
  • กีฬาที่ต้องมีการเคลื่อนไหวในลักษณะบิดหมุนตัว เช่น เทนนิส แบดมินตัน
  • กีฬาที่ต้องใช้การกระโดดตัวขึ้นลงอย่างยิมนาสติก เป็นต้น
  • อาจเกิดจากกิจกรรมอื่นทั่วไป เช่น ตกบันได อุบัติเหตุ แม้แต่เดินสะดุดก็อาจทำให้เอ็นไขว้หน้าขาดได้เช่นกัน

เอ็นไขว้หน้าขาด อาการเป็นอย่างไร

  • หลังการบาดเจ็บเอ็นไขว้หน้า จะมีอาการบวม ภายใน 1-2 ชั่วโมง (เลือดออกในข้อเข่า) ไม่สามารถเล่นกีฬา หรือทำกิจกรรมต่อไปได้หลังการบาดเจ็บ
  • สิ่งที่มองเห็นคือ เข่าบวม ขยับเข่าลำบาก ขัด เจ็บ
  • สำหรับคนที่มีอาการรุนแรงจะรู้สึกเหมือนเข่าหลวม ไม่เข้าที่

หากได้รับการบาดเจ็บร่วมกับมีอาการปวดอย่างรุนแรงในทันที และข้อเข่าบวมภายในระยะเวลา 1-2 ชั่วโมง แบบนี้ควรรีบมาพบแพทย์ทันทีเพราะอาการบวมอย่างรวดเร็วเกิดจากเอ็นข้อเข่าฉีกขาด ทำให้มีเลือดออกในข้อ หรืออาจมีกระดูกแตกร่วมด้วย

แต่ในกรณีที่ได้รับการบาดเจ็บแล้วไม่ได้บวมเร็วมาก มักเป็นการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อทั่วไป หยุดพักการใช้งานประมาณ 1-2 สัปดาห์ ก็จะหาย แต่ถ้านานเกินกว่า 2 สัปดาห์แล้วยังไม่หาย ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและได้รับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

เอ็นไขว้หน้าขาดหายเองได้ไหม จำเป็นต้องผ่าตัดหรือไม่

การรักษาเอ็นไขว้หน้าขาด ทำได้หลายวิธี ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดทุกราย ใครเหมาะกับการรักษาแบบไหนต้องประเมินจากอาการและไลฟ์สไตล์เป็นรายบุคคลไป

เอ็นไขว้หน้าขาดเส้นเดียว อาจพิจารณา ไม่ต้องผ่าตัด

ในกลุ่มคนที่มีอายุมาก เอ็นไขว้หน้าขาดเส้นเดียว แต่สามารถปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิต ลดการใช้เข่าลงได้ แบบนี้อาจพิจารณาไม่ต้องผ่าตัด สามารถรักษาโดยการทานยาและกายภาพบำบัดได้

แต่ถ้าในกลุ่มที่มีอายุน้อย และกลุ่มที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องใช้ข้อเข่าในการหมุนมากๆ ลงได้ เช่น นักกีฬา ผู้ที่ต้องทำงานในการปีนที่สูง นักดับเพลิง ตำรวจ ฯลฯ ในกลุ่มคนเหล่านี้อาจต้องพิจารณารักษาโดยการผ่าตัด เพื่อไม่ให้มีปัญหาในระหว่างการทำงาน

อย่างไรก็ตามถึงแม้คนไข้จะอายุเท่าไหร่ก็แล้วแต่ ถ้าเอ็นไขว้หน้าขาดบวกกับมีภาวะข้อเข่าไม่มั่นคงร่วมด้วย หรือรักษาโดยกายภาพบำบัดแล้วไม่ดีขึ้น ก็ต้องพิจารณาการผ่าตัดรักษาเอ็นไขว้หน้าด้วยเช่นกัน

เอ็นไขว้หน้าขาด เมื่อไหร่ที่ต้องผ่าตัด

สำหรับในกลุ่มคนที่มีการบาดเจ็บซ้ำซ้อนในข้อเข่าเดียวกัน เช่น เส้นเอ็นขาดร่วมกับหมอนรองกระดูกข้อเข่าแตก หรือเส้นเอ็นขาดร่วมกับผิวข้อแตก หรือเส้นเอ็นขาดหลายเส้น ในกลุ่มนี้จำเป็นต้องพิจารณาให้การรักษาโดยการผ่าตัด เพื่อให้แก้ไขภาวะต่างๆ ของข้อเข่าให้กลับมาเป็นปกติมากที่สุด

การผ่าตัดเอ็นไขว้หน้า ด้วยการส่องกล้อง

ปัจจุบันนิยมการผ่าตัดส่องกล้อง เพราะแผลเล็ก เจ็บน้อย และยังสามารถมองเห็นพยาธิสภาพอื่นๆ ภายในข้อเข่าได้ชัดเจนกว่าการผ่าตัดแบบเปิด เพราะกล้องมีกำลังขยายสูง

นอกจากนั้นเทคนิคการผ่าตัด การเลือกใช้เส้นเอ็นและชนิดของเส้นเอ็นอย่างถูกต้องเหมาะกับการใช้งานของผู้ป่วย สามารถทำให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้หากส่องกล้องแล้วพบว่าหากเส้นเอ็นฉีกขาดเป็นบางส่วน ปัจจุบันสามารถเก็บส่วนที่ดีไว้ ไม่จำเป็นต้องทำใหม่ทั้งเส้นก็ได้ คือสร้างเฉพาะส่วนของเอ็นไขว้หน้า (ACL Augmentation) ก็จะช่วยให้ได้เอ็นไขว้หน้าที่สมบูรณ์ใกล้เคียงกับเดิมมากขึ้นได้

ทำอย่างไรไม่ให้เจ็บซ้ำ

การผ่าตัดอย่างเดียวไม่สามารถทำให้ข้อเข่ากลับมาสู่ภาวะปกติได้ในระดับที่ผู้ป่วยคาดหวังไว้ ต้องอาศัยการฝึกข้อเข่าหลังการผ่าตัดโดยความร่วมมือของคนไข้เป็นสำคัญ

เพื่อป้องกันไม่ให้กลับมาบาดเจ็บซ้ำ จำเป็นต้องมีการประเมินคนไข้ที่เหมาะสม เช่น ภาวะที่พร้อมกับ Return to Play คือ ต้องดูว่าสภาวะของคนไข้เหมาะกับการกลับไปเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมแล้วหรือยัง

ถ้าในกรณีที่กล้ามเนื้ออ่อนแรง ลีบ หรือการฝึกฝนของกล้ามเนื้อยังไม่ดีพอ เส้นเอ็นยังมีการสมานตัวไม่เต็มที่ จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดการบาดเจ็บซ้ำได้มาก ก็ต้องแนะนำให้คนไข้กลับเข้ามาสู่การฝึกฝนให้ได้สมรรถภาพที่เหมาะสมก่อนกลับไปเล่น

การพิจารณาให้กลับไปเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมในเวลาที่เหมาะสมคือ ควรฝึก และฟื้นฟูสภาพกล้ามเนื้อให้อยู่ในภาวะที่มีกำลัง และความยืดหยุ่นได้ใกล้เคียงกับในช่วงเวลาก่อนได้รับบาดเจ็บ จะช่วยลดภาวะกล้ามเนื้อฉีกขาดได้


การฝึกโปรแกรมหลังการผ่าตัดเอ็นไขว้หน้า

เช่น FIFA 11 plus ใช้เวลาเพียง 15-20 นาที/ครั้ง ฝึกอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้งจะสามารถลดการบาดเจ็บได้ถึง 30-50% โดยการฝึกมุ่งเน้นไปที่ 3 ส่วนด้วยกัน

  • ส่วนที่ 1 เพื่อความมั่นคงแข็งแรงของร่างกาย โดยเฉพาะกล้ามเนื้อบริเวณลำตัวด้านหน้า หลัง ก้น และขาทั้งสองข้าง
  • ส่วนที่ 2 เสริมเรื่องการประสานงานของสมองกับกล้ามเนื้อการทรงตัว
  • ส่วนที่ 3 สร้างพลังในการหดตัวของกล้ามเนื้อกับความคล่องตัวในการเคลื่อนไหวของร่างกาย

“การผ่าตัดอย่างเดียวไม่สามารถทำให้ร่างกายกลับเข้าสู่สภาวะปกติได้ ต้องอาศัยการฝึกฝน ฟื้นฟูสมรรถภาพกล้ามเนื้อร่วมด้วย”

** เงื่อนไขในการ Return to Play หรือการทดสอบความพร้อมของร่างกายก่อนกลับไปเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรม คือต้องทำการทดสอบ 2 อย่าง

  1. Functional Testing คือการทดสอบการทำงานของเข่า เช่น Single Test Hop หรือ 3 Hop Test
  2. การวัดความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ Isokinetic Testing

Isokinetic เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการทดสอบประสิทธิภาพ และฝึกกล้ามเนื้อผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดข้อต่างๆ โดยเฉพาะข้อเข่า  สามารถวัดความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ในขณะที่มีการเคลื่อนไหวที่คล้ายคลึงกับในขณะเล่นกีฬา เพื่อดูว่ากล้ามเนื้อเหล่านั้นแข็งแรงสมดุลกันไหม ต้องมีความสมมาตรของกล้ามเนื้อซ้ายและขวา ต้องมีความสมดุลระหว่างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหน้าและหลัง

ถ้าตัวเลขออกมาอยู่ในค่าที่เหมาะสม คนไข้ก็สามารถกลับมาเล่นกีฬาได้ แต่ถ้ายังไม่พร้อมก็ต้องมีการฝึกกล้ามเนื้อมัดนั้นๆ ให้แข็งแรงขึ้น เพิ่มความฟิตให้แก่ร่างกายก่อน

ทำอย่างไรไม่ให้เอ็นไขว้หน้าบาดเจ็บ

ผู้ที่เคยมีปัญหาเอ็นไขว้หน้าขาดหรือบาดเจ็บ จะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดข้อเสื่อมได้มากกว่าคนที่ไม่เคยได้รับการบาดเจ็บ “สิ่งที่ดีที่สุด คือ ทำอย่างไรไม่ให้เอ็นไขว้หน้าบาดเจ็บ หรือฉีกขาด” เพราะถ้าเกิดการบาดเจ็บหรือฉีกขาดแล้ว ผิวข้อจะมีการดำเนินโรคที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันจึงแนะนำการฝึกกล้ามเนื้อเพื่อการป้องกันการบาดเจ็บของเอ็นไขว้หน้าโดยต้องฝึกทั้งความแข็งแรง และความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ สร้างสมดุลและการทรงตัวของข้อเข่าอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งต้องมีการล้มที่ถูกวิธี ที่เรียกว่า ACL Prevention Program

การออกกำลังกายและการเล่นกีฬาเป็นสิ่งที่ดี ช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรงและสนุกสนาน แต่ควรเล่นด้วยความระมัดระวังอยู่เสมอ เพราะอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ และหากได้รับการบาดเจ็บแล้ว ควรไปพบแพทย์เพื่อได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง หากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้อาการแย่ลงเรื่อยๆ จนอาจเกิดข้อเข่าเสื่อมได้ในที่สุด

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?