เวลาที่ออกกำลังกายแล้วมีเหงื่อออก เป็นเพราะร่างกายมีการเผาผลาญพลังงาน จึงมีความร้อนเกิดขึ้น และเพื่อไม่ให้ร่างกายเกิดภาวะตัวร้อนเกินไป (Hyperthermia) ซึ่งพบบ่อยคือภาวะของโรคลมแดด (Heat stroke) ร่างกายจึงต้องมีระบบระบายความร้อน (Cooling system) ที่ดี จึงสร้างเหงื่อขึ้นเพื่อระบายความร้อนและปรับสมดุลอุณหภูมิของร่างกาย เพื่อช่วยป้องกันระบบในร่างกายล้มเหลว
หลายคนเชื่อว่าการออกกำลังกายแล้วมีเหงื่อออกมาก ยิ่งทำให้ร่างกายสามารถเผาผลาญไขมันได้มาก จึงมักชั่งน้ำหนักก่อนและหลังการออกกำลังกายเพื่อดูความเปลี่ยนแปลง ความจริงแล้วตัวเลขที่หายไปบนตาชั่งคือปริมาณเหงื่อที่ร่างกายขับออกมานั่นเอง ซึ่งหากเหงื่อออก 1 ลิตร น้ำหนักจะลดลงประมาณ 1 กิโลกรัม
เมื่อเริ่มต้นออกกำลังกายในระดับที่ไม่หนักมาก ร่างกายจะเผาผลาญไขมันเพื่อนำมาใช้เป็นพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นช่วงที่ยังไม่เกิดความร้อนสะสมในร่างกายมากนัก ร่างกายจึงไม่จำเป็นต้องขับเหงื่อออกมา แต่เมื่อใดก็ตามที่มีการออกกำลังกายหนักขึ้น ร่างกายจะไม่สามารถใช้พลังงานจากไขมันได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากร่างกายไม่สามารถดึงพลังงานจากไขมันมาใช้ได้ทันกับความต้องการพลังงานในร่างกาย ดังนั้นร่างกายจึงมีแนวโน้มที่จะต้องใช้พลังงานจากแป้งมากขึ้น ซึ่งขั้นตอนการใช้พลังงานจากแป้งนั้นใช้เวลาน้อยกว่าไขมัน
หากมีการออกกำลังกายต่อเนื่องและหนักหน่วงขึ้น ร่างกายที่กำลังใช้พลังงานจากแป้งก็จะเริ่มสะสมความร้อนมากขึ้นเรื่อยๆ จนอุณภูมิร่างกายสูงขึ้นถึงจุดที่ร่างกายจะผลิตเหงื่อออกมามากขึ้น ดังนั้นความเชื่อที่ว่าการออกกำลังกายให้เหงื่อออกมากๆ จะช่วยเบิร์นไขมันได้มาก จึงมีส่วนถูกเพียงบางส่วนเท่านั้น เพราะการออกกำลังกายให้หนักและมีเหงื่อออกมาก โดยเริ่มปรับระดับความหนักขึ้นเรื่อยๆ ร่างกายจะกระตุ้นการใช้ไขมันด้วยเช่นกัน
สิ่งสำคัญที่สุดของการออกกำลังกายอย่างหนักและมีเหงื่อออกมากไม่ว่าจะใช้พลังงานจากแป้งหรือไขมันก็ตาม ยังเป็นการกระตุ้นการพัฒนากล้ามเนื้อ ส่งผลให้อัตราการเผาผลาญในแต่ละวัน (Basal metabolic rate) เพิ่มขึ้น เมื่ออัตราการเผาผลาญพื้นฐานดีขึ้น แค่เพียงขยับร่างกายในชีวิตประจำวันก็สามารถกระตุ้นการเผาผลาญไขมันได้ดีขึ้นด้วย
สมัครสมาชิกเพื่อจัดเก็บข้อมูลของคุณสำหรับการนัดหมายครั้งต่อไป
มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว? เข้าสู่ระบบที่นี่