อาการเจ็บข้อศอกของนักเทนนิส

อาการเจ็บข้อศอกของนักเทนนิส

อาการเจ็บบริเวณข้อศอกด้านนอก หรือ อาการเจ็บข้อศอกของนักเทนนิส (Tennis Elbow) เป็นอาการที่พบมานานกว่า 100 ปี ปัจจุบัน นักกีฬาเทนนิสประมาณครึ่งหนึ่งอาจจะเคยมีปัญหาเกี่ยวกับโรคนี้ในระดับหนึ่ง แต่จริงๆแล้วผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ด้วยโรคนี้จะเป็นนักกีฬาเทนนิสประมาณ 5% เท่านั้น ในบทความนี้มีข้อมูล ท่าบริหารเทนนิสเอลโบ ที่อาจช่วยป้องกันอาการบาดเจ็บเบื้องต้นได้

สาเหตุของเส้นเอ็นข้อศอกอักเสบ คืออะไร

สาเหตุที่ทำให้เส้นเอ็นข้อศอกทางด้านนอกมีอาการอักเสบ เกิดจากมีการบาดเจ็บของเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อที่มายึดเกาะบริเวณปุ่มกระดูกด้านนอกของข้อศอก สาเหตุอาจจะเกิดจากการบาดเจ็บอย่างเฉียบพลัน เช่นอุบัติเหตุ หรือ เกิดจาการใช้งานซ้ำๆ เป็นเวลานาน ทำให้เกิดการเสื่อมของเส้นเอ็น เช่น การเล่นกีฬาโดยใช้อุปกรณ์ที่ไม่เหมาะกับสรีรของร่างกาย การเล่นกีฬาผิดท่า อาชีพที่ต้องยกของหรือ ลากของบ่อยๆ เช่น แม่บ้าน (กวาดบ้าน, บิดผ้า, ทำครัว)

เมื่อเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อมีการบาดเจ็บ ประกอบกับวัยที่เริ่มมีการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ ทำให้เส้นเอ็นบริเวณที่มีการฉีกขาดยังไม่หายสนิท แต่ถูกกลับไปใช้งานอีก เกิดการฉีกขาดซ้ำ ทำให้มีการอักเสบ บวม การซ่อมแซมของร่างกายจะช้ากว่าปกติ อาจใช้เวลา นานถึง 6-12 สัปดาห์

อาการอักเสบบริเวณข้อศอก อาจจะเกิดเฉพาะเพียงส่วนของเส้นเอ็น (tendonitis) แต่บ่อยครั้งที่อาการอักเสบจะครอบคลุมถึงตำแหน่งที่เกาะของเส้นเอ็นบนกระดูกและข้อใกล้เคียง (epicondylitis)

อาการ

  • อาการปวด เป็นๆ หายๆ ของปุ่มกระดูกข้อศอกด้านนอก
  • อาจมีอาการปวดร้าวบริเวณหลังแขน ลงไปถึงข้อมือ
  • อาการปวดจะเป็นมากขึ้น เวลายกของ โดยเฉพาะท่าที่คว่ำฝ่ามือทำงาน เช่น กวาดบ้าน, ลากของ, ผัดกับข้าว
  • บางรายอาจมีอาการปวดมาก ไม่สามารถเหยียดแขนได้สุด แปรงฟันไม่ได้

การวินิจฉัย

การวินิจฉัย สามารถทำได้โดยง่าย จากประวัติ และการตรวจร่างกาย ตามอาการแสดงข้างต้น แต่มีกลุ่มอาการที่มักจะเข้าใจผิดว่าเป็น Tennis elbow บ่อยๆ เช่น อาการปวดของปุ่มข้อศอกด้านใน หรือ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อาการปวดข้อศอกของนักกอลฟ์ (Golfer’s elbow ) ส่วนอีกอาการหนึ่ง คือ อาการปวดบริเวณปลายข้อศอกทางด้านหลัง เป็นบริเวณที่ใช้ยันข้อศอก สาเหตุมาจาก ถุงน้ำบริเวณข้อศอกอักเสบ (Bursitis)

อาการปวดบริเวณ ข้อศอก แบบอื่นๆ

Golfer’s Elbow Medial Epicondylitis

ten_el2

อาการปวดข้อศอกด้านใน อาการปวดเหมือน Tennis Elbow เพียงแต่จะมีอาการปวดปุ่มกระดูกข้อศอกด้านใน

Olecranon Bursitis

ten_el3

อาการปวดข้อศอกด้านหลัง มักมีสาเหตุมาจากการใช้ข้อศอกเท้าแขนกับโต๊ะหรือได้รับการกระแทกโดยตรง มักจะคลำพบก้อนหรือถุงน้ำบริเวณนี้


แนวทางการรักษา

เนื่องจากอาการปวด เกิดจาก การบาดเจ็บของเส้นเอ็นบริเวณดังกล่าว ดังนั้นการรักษาที่ดีที่สุด คือ การพัก หยุดการใช้งานแขนข้างที่ปวด หรือการกระทำที่ทำให้มีอาการปวดมากขึ้น หลังจากการพักให้อาการปวดดีขึ้น ควรทำการบริหารกล้ามเนื้อให้แข็งแรงขึ้น ตามคำแนะนำด้านหลัง ดังนั้นหากมีความจำเป็นต้องกลับไปทำงานที่อาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวด ก็จะทำให้เกิดอาการขึ้นมาใหม่ได้ ควรทำการบริหารกล้ามเนื้อก่อนใช้งาน บริหารแต่ละครั้ง ควรใช้เวลานานประมาณ 5-10 นาที

การรักษาโดยใช้ยา

โดยทั่วไปแพทย์มักจะให้ยาต้านการอักเสบในผู้ป่วยที่มีอาการระยะแรก และมีอาการปวดไม่มากนัก ในกรณีที่ใช้ยาต้านการอักเสบไม่ได้ผล แพทย์มักจะแนะนำให้ทำการฉีดยาประเภทเสตียรอยด์ เข้าเส้นเอ็นบริเวณที่มีอาการปวด ซึ่งสามารถระงับอาการปวด อักเสบ ได้รวดเร็ว แต่ไม่ควรใช้บ่อยๆ ติดต่อเป็นเวลานาน เพราะอาจเกิดผลข้างเคียง เช่น เป็นรอยด่างขาวบริเวณที่ฉีดยา, ชั้นไขมันใต้ผิวหนังยุบตัว หรือ เส้นเอ็นฝ่อได้

ถ้าการรักษาดังกล่าวข้างต้นไม่ได้ผล ควรพิจารณาทำการผ่าตัด (ประมาณ 3% ของผู้ป่วยที่มารับการรักษา) เพื่อไปทำการขูดเอาเนื้อเยื่อที่เสียออก และทำการปรับแต่งเส้นเอ็นไม่ไห้ตึงเกินไป

การป้องกัน ด้วยท่าบริหารเทนนิสเอลโบ

  • ยกของโดยหงายฝ่ามือขึ้น
  • บริหารยืดกล้ามเนื้อบ่อยๆ
  • ทำการยืดกล้ามเนื้อก่อนการใช้งานเสมอ

ท่าที่ 1:

ten_el5

การบริหารกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกระดกข้อมือ โดยการเหยียดแขนตรงไปข้างหน้า คว่ำฝ่ามือลง แล้วทำการหักข้อมือลงสุด จนรู้สึกกล้ามเนื้อต้นแขนส่วนบนตึง

ท่าที่ 2:

ten_el6

การบริหารกล้ามเนื้อท้องแขน โดยการเหยียดแขนตรงไปข้าหน้า หงายฝ่ามือขึ้น แล้วทำการดัดข้อมือลงเข้าหาตัว ท่าบริหารทั้งสองท่า เป็นท่าบริหารที่ใช้ในการยืดกล้ามเนื้อ ควรทำทั้งสองท่า ครั้งละ 15 วินาที ทำซ้ำๆ 2-3 ครั้ง วันละ 3 รอบ หลังจากการบริหารโดยการยืดกล้ามเนื้อแล้ว ควรทำการบริหารกล้ามเนื้อให้แข็งแรง โดยการวางแขน บนโต็ะ ให้ส่วนของข้อมือ และ มือ พ้นโต๊ะออกไป หรือ นั่งบนเก้าอี่ที่มีพนักวางแขน ใช้น้ำหนักเบา ที่มีขนาดถือถนัดมือ เช่น ขวดน้ำ กระทำในท่าที่ 3-6 ซ้ำๆ กัน ประมาณ 30 ครั้ง

ท่าที่ 3:

ten_el7

การบริหารกล้ามเนื้อแขน โดยการถือน้ำหนักที่เตรียมไว้ คว่ำฝ่ามือลง กระดกข้อมือขึ้นค้างไว้ 5 วินาที แล้วผ่อนลงช้าๆ

ท่าที่ 4:

ten_el8

การบริหารกล้ามเนื้อท้องแขน โดยการถือน้ำหนักที่เตรียมไว้ หงายฝ่ามือขึ้น กระดกข้อมือขึ้นค้างไว้ 5 วินาที แล้วผ่อนลงช้าๆ

ท่าที่ 5:

ten_el9

การบริหารกล้ามเนื้อแขนด้านข้าง โดยการถือน้ำหนักที่เตรียมไว้ในแนวดิ่ง ทำการกระดกข้อมือขึ้น-ลง

ท่าที่ 6:

ten_el10

การบริหารกล้ามเนื้อแขนรอบข้อมือ โดยการบริหารต่อจากท่าที่แล้ว แต่ทำการหมุนข้อมือแทน โดยการหมุนข้อมือเข้าใน ให้นิ้วหัวแม่มือชี้เข้าในให้มากที่สุด ค้างไว้ 5 วินาที แล้วหมุนออกนอกตัวให้มากที่สุด ค้างไว้ 5 วินาที ทำซ้ำๆประมาณ 30 ครั้ง

ท่าที่ 7:

ten_el11

บริหารโดยการนวด ใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางทำการนวดเบาๆบริเวณที่ปวด อาจจะใช้ยาทาร่วมด้วย นวดคลึงเบาๆประมาณ 5 นาที หลังการนวด ถ้ารู้สึก ปวด ระบม ควรใช้น้ำแข็งประคบ


ข้อควรระวัง

  • หยุดการใช้งาน หรือ ท่าที่ทำให้มีแรงกระทำต่อข้อศอกจนรู้สึกปวด ถ้าจำเป็นต้องทำ ควรทำการบริหารกล้ามเนื้อก่อน ประมาณ 5 – 10 นาที แล้วประคบเย็นทันทีที่เสร็จกิจกรรม หยุดพักเป็นระยะบ่อยๆ
  • ใช้แผ่นผ้ายืด หรือ อุปกรณ์ป้องกันสำเร็จรูป รัดแขนบริเวณต่ำกว่าข้อศอก จะช่วยลดแรงที่มากระทำได้ ควรใช้เวลาเล่นกีฬา หนือ ยกของหนัก
  • ปรึกษาแพทย์ หากอาการปวดไม่ดีขึ้นติดต่อกันหลายวัน เพราะหากปล่อยไว้ให้มีอาการปวดเรื้อรัง จะทำให้ผู้ป่วยสูญเสียประสิทธิภาพในการใช้งานอย่างถาวรได้ หรือ อาจจะเป็นอาการปวดที่มาจากสาเหตุอื่น เช่น เก็าท์, การอักเสบติดเชื้อ หรือ การกดทับเส้นประสาทบริเวณคอ

 

Photo Credit: Marianne Bevis via Compfight cc

อาการเจ็บข้อศอกของนักเทนนิส

FitLAB

FitLAB ดูแลรักษานักกีฬาอาชีพ และผ่าตัดแบบส่องกล้องเพื่อรักษาผู้ที่มีปัญหาการบาดเจ็บเอ็นและข้อมากกว่า 1,000 ราย ให้กลับมาฟิตและโชว์ฟอร์มได้แกร่งกว่าเดิม เข้าไปฟิตที่ FitLAB คลิก

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?