ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนถึงสาเหตุของอาการร้องโคลิค ยิ่งลูกร้องมากพ่อแม่ก็จะกังวลใจเป็นอย่างมาก แต่สิ่งสำคัญที่สุดนั้น คือ การแยกว่าการร้องนั้น เป็นการร้องงอแงธรรมดา ร้องจากอาการเจ็บป่วยหรือร้องโคลิค ทั้งนี้ อาการร้องโคลิคไม่ได้ส่งผลอันตรายกับเด็ก สามารถหายได้เอง และยังมีหลายวิธีที่ช่วยบรรเทาการร้องโคลิคของลูกน้อยได้
หากลูกร้องเพราะป่วย จะสามารถสังเกตได้จากที่ลูกมักจะร้องทั้งวัน ไม่ได้เป็นแค่บางช่วงเวลา ร่วมกับมีอาการต่างๆ เช่น ไข้ อาเจียน ท้องเสีย ไม่กินนม น้ำหนักไม่ขึ้น เป็นต้น แต่หากเด็กร้องโคลิคจะร้องแบบไม่ทราบสาเหตุ ปลอบให้หยุดได้ยาก ช่วงไม่ร้องก็จะปกติ กินนมดี สบายตัว เล่นได้ แต่พอถึงช่วงที่ร้องก็จะร้องเสียงดัง เสียงสูง ร้องไม่หยุดเป็นชั่วโมง หน้าท้องเกร็ง แต่อาการจะเกิดเป็นช่วงเวลา
โดยที่พบกันบ่อยที่สุดจะเป็นช่วงเย็น ช่วงค่ำ โดยอาการร้องโคลิคสามารถพบได้ตั้งแต่เด็กแรกเกิด พบบ่อยมากสุดในเด็กอายุช่วง 4 - 6 สัปดาห์ และอาการมักจะเป็นไม่เกินอายุ 5 เดือน แต่หากลูกร้องมาก ร่วมกับมีอาการต่างๆ อาจต้องปรึกษากุมารแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุ ทางแก้ไขและรักษาต่อไป
อย่างที่กล่าวมาในตอนต้น ทางการแพทย์ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนถึงสาเหตุของการเกิดอาการดังกล่าว ส่วนที่พูดกันว่าลูกร้องโคลิคเพราะเจอผีตากผ้าอ้อมนั้น เป็นเรื่องของความเชื่อส่วนบุคคลที่มีมาแต่โบราณ ในทางการแพทย์ยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัด อาจมีสาเหตุมาจากที่ลูกเหนื่อย ถูกกระตุ้นบ่อยๆ เล่นเยอะ เป็นเด็กที่มีพื้นฐานอารมณ์เลี้ยงยากร้องง่าย หรืออาจเป็นจากภาวะย่อยน้ำตาลแล็กโทสบกพร่องทำให้เกิดแก๊ซในท้องเยอะ ความไม่สมดุลของจุลินทรีย์ที่ดีในลำไส้ ลมเข้าเยอะเวลาดูดนม ทำให้แน่นท้อง ปวดท้อง ร้องออกมาเพราะไม่สบายตัว นอกจากนี้ การที่ผู้เลี้ยงดูมีความเครียดกังวลก็อาจส่งผลให้เกิดร้องโคลิคมากขึ้นได้
มีบ่อยครั้งที่เด็กร้องมากและพ่อแม่คิดว่าปวดท้องจึงลดปริมาณนม ให้กินนมน้อยลง ลูกก็จะร้องมากขึ้นเพราะหิวนม แต่พอให้นมก็หยุดร้องไห้ อันนี้ไม่ใช่ร้องโคลิค ส่วนใหญ่ร้องโคลิคแม้จะให้กินนมแต่ลูกก็มักจะไม่หยุดร้อง และบางครั้งการให้นมมากเกินไปก็ทำให้ร้องจากแน่นท้องได้
เบื้องต้นเมื่อลูกร้องพ่อแม่อาจต้องสังเกตดูก่อนตามที่กล่าวในข้างต้น ว่าลูกร้องเพราะป่วยหรือเพราะโคลิค หากลูกร้องจากร้องโคลิคอาจลองใช้วิธีเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมหรือกิจกรรมให้ลูก เช่น พาลูกออกไปนั่งรถเล่น อุ้มลูกออกไปเดินเล่นนอกบ้าน ลองเปลี่ยนบรรยากาศเปลี่ยนสถานที่ และต้องคอยปลอบ ลูบหลัง เปิดเพลงช้าๆ เบาๆ ให้ลูกฟัง พาอาบน้ำอุ่น หาจุกนมให้ดูด หรืออาจเบี่ยงเบนความสนใจ ลองจับลูกนั่งเก้าอี้โยก อาจจะช่วยให้เด็กหยุดร้องได้ โดยแนะนำให้พ่อแม่ลองทำไปทีละอย่าง และสังเกตว่าทำแบบไหนลูกจะร้องน้อยลง
ส่วนเรื่องของการรักษา ปัจจุบันพบว่ายาไม่ได้ช่วยมากนัก ยกเว้นว่าอาการร้องจากลูกมีลม แก๊สในท้องเยอะ ท้องอืด การให้ลูกทานยาขับลมอาจช่วยได้บ้าง มีหลายการศึกษาพบว่าการให้จุลินทรีย์ที่ดี (Probiotics) อาจทำให้อาการร้องโคลิคดีขึ้น ทั้งนี้แนะนำให้ปรึกษากุมารแพทย์เพื่อหาสาเหตุของการร้องว่าไม่ได้เป็นจากเจ็บป่วยหรือเป็นโรค เพื่อการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง
ที่สำคัญ พ่อแม่ไม่ควรใช้อารมณ์ ห้ามเขย่าให้เด็กหยุดร้อง เพราะอาจทำให้เด็กมีเลือดออกในสมองได้ถ้าเขย่าแรง ถ้าพ่อแม่รู้สึกเครียด อาจให้ญาติหรือปู่ย่าตายายมาช่วยรับมือ ปลอบและช่วยดูแลลูกแทน
ก่อนกินนมท้องลูกควรที่จะแฟบถึงจะเรียกได้ว่าปกติ แต่หลังลูกกินนมอาจจะมีอาการท้องอืดได้ หากเด็กท้องอืดมากทั้งก่อนกินและหลังกินอาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติ จึงต้องตรวจดูว่าท่าให้นมและการดูดนมถูกต้องหรือไม่ เพราะท่าให้นมที่ผิดจะทำให้ลมเข้าท้องปริมาณเยอะ หรืออาจเป็นเพราะจุกนมที่ทำให้มีลมเข้าท้อง ทั้งนี้ หากยังท้องอืดมากควรปรึกษากุมารแพทย์
มีพ่อแม่ถามมาว่าการเลือกหมอนป้องกันโคลิคได้หรือไม่ จุดนี้ก็สามารลองเปลี่ยนดูได้ เพราะอาจช่วยทำให้ลูกนอนสบายขึ้น รู้สึกอบอุ่น แต่ไม่ได้มีหลักฐานชัดเจนว่าช่วยป้องกันการเกิดร้องโคลิค
หรือการใช้มหาหิงค์ช่วยป้องกันการร้องโคลิคได้หรือไม่ พ่อแม่ก็อาจลองทาดูได้เช่นกัน เพราะมหาหิงค์จะทำให้เด็กรู้สึกเย็นที่ท้อง ช่วยเบี่ยงเบนความสนใจ ไม่ร้อง แต่ก็ต้องใช้ด้วยความระมัดระวังเพราะเด็กบางคนอาจเกิดการแพ้ระคายเคืองเฉพาะที่ได้
ปัจจุบันยังไม่มีแนวทางป้องกันที่ชัดเจน พ่อแม่จึงต้องคอยสังเกตและแยกแยะให้ได้ว่าลูกร้องเพราะป่วยหรือร้องเพราะอาการโคลิค เพื่อจะได้ใช้วิธีดูแลที่ถูกต้องหรือพบแพทย์เพื่อรักษาตามอาการต่อไป
สมัครสมาชิกเพื่อจัดเก็บข้อมูลของคุณสำหรับการนัดหมายครั้งต่อไป
มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว? เข้าสู่ระบบที่นี่