พัฒนาการเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงทักษะต่างๆ ตามวัยตลอดชีวิตโดยเฉพาะในช่วง 5 ปีแรก จะมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านพัฒนาการอย่างมากและสามารถสังเกตเห็นได้อย่างเด่นชัด ซึ่งจะสอดคล้องกับการเจริญเติบโตของสมองเช่นกัน หากมีการแก้ไขปัญหาฟื้นฟูสภาพ หรือส่งเสริม พัฒนาการเด็ก ในช่วงวัยเด็กเล็ก จะช่วยลดความรุนแรงหรือบำบัดให้เป็นปกติได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก
สังเกตจากเด็กที่มีพัฒนาการช้ากว่าเด็กทั่วไปในช่วงอายุเดียวกันรวมถึงเด็กที่มีพัฒนาการเบี่ยงเบนไปจากปกติ (ผู้จัดทำได้นำพัฒนาการเด็กปกติตามวัยเพื่อให้ผู้ปกครองสามารถเปรียบเทียบพัฒนาการตามช่วงวัยได้ด้วยตัวเองในตารางพัฒนาการท้ายบทความ)
นักกิจกรรมบำบัด ( Occupational Therapy ) เป็นวิชาชีพทางการแพทย์แขนงหนึ่งที่ประยุกต์กิจกรรมมาใช้ในการตรวจ ประเมิน วินิจฉัย ส่งเสริม ดูแลรักษา และฟื้นฟูสมรรถภาพแก่ผู้ที่มีความบกพร่องทางกาย มีพัฒนาการบกพร่อง หรือผู้ที่มีความผิดปกติทางด้านจิตใจ อารมณ์และสังคม ให้กระทำกิจกรรมต่างๆได้ด้วยตนเองอย่างเต็มกำลังความสามารถตามศักยภาพที่มีอยู่ เพื่อให้ดำรงชีวิตในสังคมสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีความสมดุลเกิดความสุขทั้งทางร่างกายและจิตใจ รวมทั้งการป้องกันคความเสื่อมถอยของสมมรถภาพอันเนื่องมาจากข้อจำกัดขององค์ประกอบใน การทำกิจกรรมต่าง งานกิจกรรมบำบัดสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ฝ่ายคือ ฝ่ายเด็ก สูงอายุ กาย จิตสังคม
นักกิจกรรมบำบัดพิจารณาเด็ก สิ่งแวดล้อมของเด็กและปฎิสัมพันธ์ของเด็กต่อสิ่งแวดล้อม และสิ่งแวดล้อมต่อตัวเด็ก แบบองค์รวม โดยเชื่อว่าเด็กมีการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมและมีอิทธิพลต่อสิ่งแวดล้อมที่เด็กอาศํยอยู่อย่างต่อเนื่อง ปฎิสัมพันธ์ของเด็กกับสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นมาจากพัฒนาการที่ต่อเนื่อง และการเรียนรู้ของเด็ก ส่วนสิ่งแวดล้อมเองก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของเด็ก นักกิจกรรมบำบัดจะวิเคราะห์ความสามารถของเด็กในการประกอบกิจกรรมในหลายๆสถานการณ์และสิ่งแวดล้อม เพื่อค้นหาศักยภาพของเด็ก รวมทั้งข้อจำกัดในการทำกิจกรรมที่มาจากปัจจัยต่างๆ เช่น ทักษะของเด็ก ปัจจัยภายในตัวเด็กเอง และสิ่งแวดล้อม ดังนั้นบทบาทสำคัญของนักกิจกรรมบำบัดเด็กจึงเป็นการวิเคราะห์ความสามารถในการประกอบกิจกรรม (functional performance) เพื่อแยกแยะปัจจัยต่างๆและนำไปสู่การตั้งเป้าหมายในการบำบัดรักษา
ด้านการเคลื่อนไหว | ด้านการใช้มือและตา | การเข้าใจภาษา | การใช้ภาษา | ด้านการช่วยเหลือตนเองและทักษะสังคม | |
2 เดือน | ชันคอยกศีรษะ 45° ขณะนอนคว่ำ | มองและจ้องวัตถุระยะห่าง 20 cm. | ตอบสนองต่อเสียงโดยการสะดุ้งหรือเคลื่อนไหวร่างกาย | ทำเสียงในลำคอ เช่น อู อา | ยิ้มหรือส่งเสียงเมื่อเล่นด้วย |
4 เดือน | พลิกตะแคงตัวได้ | หยิบของเล่นโดยการกางนิ้วออก และกำ | หันตามเสียงพูด | เล่นเสียงริมฝีปาก เสียง พ่นน้ำลาย ทำเสียงติดต่อ กันซ้ำๆ | แสดงอาการดีใจ เคลื่อนไหวร่างกายเมื่อเห็นแม่หรือขวดนม |
6 เดือน | นั่งได้นานและใช้มือเล่นของ เล่นได้ | เปลี่ยนมือถือวัตถุ | สนใจฟังคนพูดและมองของเล่น นาน 1 นาที | ออกเสียงสองพยางค์ซ้ำๆ | จ้องมองหรือร้องไห้เมื่อเห็น คนแปลกหน้า |
9 เดือน | เกาะเดินไปด้านข้าง | มองตามของเล่นที่ตก พื้น | หันตามเสียงเรียกชื่อ | รู้จักปฏิเสธโดยแสดงท่าทาง | ใช้มือหยิบอาหารกินเองได้ |
12 เดือน | เดินไปข้างหน้าโดยช่วยจูงมือ ทั้งสองข้างได้ 2 เมตร | หยิบวัตถุใส่ในถ้วยเล็กๆ ได้ | รู้จักสมาชิกในบ้านเมื่อเอ่ยชื่อ | เลียนแบบการกระทำโดย ใช้ส่วนของใบหน้าได้ 1 อย่าง | กัด เคี้ยวและกลืนได้ |
18 เดือน | เดินเองได้คล่อง | หยิบเชือกโดยใช้หัวแม่ มือและนิ้วชี้ | ชี้อวัยวะของร่างกายได้ 1 ส่วน | พูดเป็นคำๆ ได้ 4-6 คำ | เลียนแบบการทำงานบ้านเช่น กวาดบ้าน เก็บของเล่น |
2 ปี | วิ่งได้คล่อง | เลียนแบบต่อก้อนไม้ เป็นรถไฟ | ชี้อวัยวะของร่างกายได้ 4 ส่วน | ใช้คำกิริยาได้ 2 คำ เช่น นั่ง นอน | พูดบอกหรือแสดงท่าทาง บอกเมื่อต้องการขับถ่าย |
3 ปี | เดินบนเส้นตรงกว้าง 5 cm. ได้ 3 เมตร | เลียนแบบวาดรูป วงกลม | เลือกวัตถุขนาดใหญ่ | พูดตอบรับหรือปฏิเสธ | ถอดกระดุมขนาดใหญ่ 2 cm. ได้ 3 เม็ด |
4 ปี | กระโดดขาเดียวได้ 2-3 ครั้ง | วาดรูปคนที่มีส่วนของ ร่างกายได้ 3 ส่วน | วางวัตถุไว้ หน้าหลัง บน ใต้ ตาม คำสั่งได้ | บอกชื่อจริงและนามสกุล ได้ | ล้างหน้า ล้างมือได้เอง |
5 ปี | รับบอลขนาด 15 cm. ระยะห่าง 2 m. ได้ | วาดรูปง่ายๆ มีส่วนประกอบของรูป 4 ส่วน | ชี้บอกอวัยวะของร่างกายได้ 19ส่วน | ตอบคำถามเกี่ยวกับหน้าที่ของอวัยวะได้ | บอกที่อยู่ของตน (ถนนและตำบล) |
***ข้อมูลจากสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์***
**ผู้ปกครองสามารถเปรียบเทียบความสามารถพัฒนาการของเด็กตามช่วงอายุจากตารางเบื้องต้น ด้วยตนเอง หากต้องการตรวจประเมินพัฒนาการเพิ่มเติมอย่างละเอียดหรือมีข้อสงสัยต้องการปรึกษาปัญหาพัฒนาการแต่ละด้าน รวมถึงปัญหาด้านพฤติกรรม อารมณ์ สามารถติดต่อปรึกษาเพิ่มเติมกับนักกิจกรรมบำบัด ได้ที่ แผนกเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลสมิติเวชศรีราชา โทร 038-320344 , 038-320300
สมัครสมาชิกเพื่อจัดเก็บข้อมูลของคุณสำหรับการนัดหมายครั้งต่อไป
มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว? เข้าสู่ระบบที่นี่