หนทางสู่..การเพิ่มน้ำนม

หนทางสู่..การเพิ่มน้ำนม

ปัญหาสำคัญโดยเฉพาะท้องแรกที่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ต้องเจอ หลายครอบครัวพยายามที่จะเลี้ยงลูกเอง มีการเตรียมความพร้อมตั้งแต่ก่อนจะท้องด้วยซ้ำ ด้วยการศึกษาหาข้อมูลจากหลายๆ แหล่งไม่ว่าจะเป็นหนังสือ อินเตอร์เน็ต ปรึกษาแพทย์ หรือแม้แต่ปรึกษาจากคนรอบข้างเรียกว่าข้อมูลแน่นมากๆ แต่ปัญหาส่วนหนึ่งมาจากข้อมูลที่หลั่งไหลมานี่แหล่ะ ทำให้พ่อแม่มือใหม่สับสนมากจนกลายเป็นความเครียด การนำข้อมูลเข้ามาสู่กระบวนความคิดนั้น การกลั่นกรองข้อมูลโดยเฉพาะข้อมูลจากทางอินเตอร์เน็ต ควรจะหาข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น เว็บไซด์ หรือเว็ปเพจของโรงพยาบาล เป็นต้น จะได้ไม่เอาข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเข้ามาทำให้เกิดความเครียดโดยเปล่าๆ

“ความเครียด” สำหรับคุณแม่เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ร่างกายผลิตน้ำนมน้อย ประเด็นหลักของความเครียดส่วนใหญ่มาจากเรื่องกลัวน้ำนมไม่เพียงพอนี่แหล่ะ ตามธรรมชาตินั้นหลังจากคลอดน้ำนมแม่อาจจะยังไม่มีหรือมีน้อยมาก ส่วนทารกเองนั้นก็ยังไม่เคยดูดนมจากเต้าของคุณแม่เช่นกัน ครั้งแรกที่ให้ลูกดูดจากเต้านั้นอาจจะต้องใช้เวลานานพอสมควรเพื่อปรับร่างกายของทั้งคุณแม่คุณลูก คุณแม่ก็ต้องช่วยกระตุ้นให้ลูกดูดเต้า ซึ่งสัญชาติญาณการอยู่รอดจะช่วยสอนเค้าเอง ช่วงแรกแม้ลูกจะดูดนานแต่น้ำนมไม่ไหลก็ต้องให้เวลาเช่นกัน คุณแม่หลายท่านใช้เวลา 2-3 วันกว่าน้ำนมจะเริ่มมีให้ลูก คุณแม่บางรายที่ต้องผ่าคลอดอาจพักผ่อนไม่เพียงพอจากการเจ็บแผลทำให้กลายเป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้น้ำนมมีน้อย ฉะนั้นการทำความเข้าใจกับระบบร่างกายธรรมชาติของทั้งแม่และเด็ก จะทำให้ท่านผ่อนคลายมากขึ้นอันเป็นเรื่องสำคัญมาก

นอกจากนี้ยังมีเรื่องสำคัญอีกหลายอย่างตั้งแต่ การอุ้มลูกเข้าเต้าเป็นเรื่องสำคัญมากเพราะจะทำให้ลูกดูดได้สบายช่วยกระตุ้นให้ร่างกายผลิตน้ำนมได้ดี เริ่มจากตะแคงลำตัวและศีรษะของลูกให้หันเข้าหาแม่ ลำตัวของลูกแนบชิดกับตัวแม่ ศีรษะ ไหล่และสะโพกของลูกควรอยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกัน ตัวของลูกได้รับการรองรับให้รู้สึกมั่นคง โดยใช้มือแม่หรือหมอนรองช้อนไว้ ตัวคุณแม่เองควรนั่งในท่าสบาย ไม่ก้ม ไม่แหงนเกินไป เพราะอาจทำให้ปวดหลังได้ หลังจากลูกอิ่มแล้วต้องรีบปั้มน้ำนมให้เกลี้ยงเต้า เพื่อให้ร่างกายผลิตน้ำนมมาเก็บไว้ในเต้านมเต็ม จะเป็นการกระตุ้นให้ร่างการผลิตน้ำนมสม่ำเสมอ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการส่งสัญญาณว่าลูกต้องการน้ำนมลดลง ร่างกายก็จะค่อยๆ ลดการผลิตน้ำนมโดยธรรมชาติ และต้องสลับข้างในเวลาที่เหมาะสมเพื่อให้ปริมาณน้ำนมที่ออกมานั้นใกล้เคียงกัน สิ่งสำคัญอีกประการคือต้องดูว่า ลูกดูดถูกวิธีหรือไม่? แล้วดูได้อย่างไรเริ่มจากปากลูกเปิดกว้างสามารถดูดเข้าไปถึงฐานหัวนม คางลูกชิดแนบไปกับเต้า หน้าเงย ริมฝีปากบนล่างไม่ลู่เข้าไปในปาก และลิ้นของลูกที่ดุลหัวนมได้เป็นจังหวะสม่ำเสมอ ลูกนอนได้สบายไม่ดิ้นไปมา

เรื่องโภชนาการก็เป็นสิ่งสำคัญมาก ระหว่างที่ให้น้ำนมพึงระลึกเสมอว่า “แม่ทานอะไรลูกก็ได้แบบนั้น” อาหารที่คุณแม่ทานมีผลต่อลูกมาก ดังนั้นต้องทานอาหารที่มีประโยชน์ ส่วนอาหารกระตุ้นน้ำนม มีหลายเมนูที่ควรหมุนเวียนกัน เช่น แกงเลียงหัวปลี ผัดขิง ดื่มน้ำขิงร้อน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีสมุนไพรอีกหลายชนิดที่ช่วยกระตุ้นน้ำนม อันได้แก่ ต้องแล่ง ว่านหอมแดง ไม้นมนาง เป็นต้น การผ่อนคลายอื่นๆ ก็สำคัญไม่ว่าจะทำงานอดิเรก ดูหนัง ฟังเพลง เพราะความผ่อนคลายจะช่วยให้ร่างการผลิตน้ำนมได้ดี และสิ่งสำคัญก็คือการแทคทีมระหว่างคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องสลับกันเพื่อไม่ให้เหนื่อยล้าทั้งสองคน

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก พญ.พัทธนันท์ มัตตะธนาพันธ์ โรงพยาบาลสมิติเวช ธนบุรี

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?