“มะเร็ง” โรคร้ายที่คร่าชีวิตผู้ป่วยมากมายแต่ก็มีมะเร็งหลายชนิดที่หากพบแต่เนิ่นๆ ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้
หนึ่งในนั้นคือมะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate Cancer) ที่ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด และส่วนใหญ่ไม่มีอาการเริ่มต้น มักตรวจพบเมื่อผู้ป่วยไปตรวจสุขภาพประจำปี
ต่อมลูกหมาก เป็นอวัยวะในระบบสืบพันธุ์ของเพศชาย บริเวณใกล้กระเพาะปัสสาวะ ทำหน้าที่สร้างของเหลวให้เกิดความสมดุลกับอสุจิ เมื่อมีอายุมากขึ้นต่อมลูกหมากจะมีขนาดใหญ่ขึ้นอย่างช้าๆ ในผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากระยะแรกจึงมักไม่มีอาการใดๆ ส่งผลให้ตรวจพบได้ยาก จนเมื่อมะเร็งเริ่มรุนแรงและแพร่ไปสู่อวัยวะอื่นๆ ดังนั้นหากมีอาการปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะเวลากลางคืน ปัสสาวะออกน้อย รู้สึกแสบขัด หรือมีเลือดปน ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดกระดูก ควรพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย
แม้ยังหาสาเหตุการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากที่ชัดเจนไม่ได้ แต่ความเสี่ยงเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากก็มีมากมายหลายปัจจัย ที่สำคัญคือ เพศชายที่มีอายุมากกว่า 45 ปี มีน้ำหนักตัวเกิน ดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ รับประทานอาหารไขมันสูง รับประทานผักและผลไม้น้อย หรือไม่รับประทานเลย มีประวัติบุคคลในครอบครัวเคยเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก
การตรวจวินิจฉัยมะเร็งต่อมลูกหมากทำได้โดยการตรวจเลือดหาค่าแอนติเจนต่อมลูกหมาก (Prostate specific antigen- PSA) ซึ่งเป็นสารที่ผลิตออกมาจากต่อมลูกหมาก ร่วมกับวิธีตรวจทางทวารหนัก โดยแพทย์ใช้นิ้วสอดเข้าทวารหนักเพื่อคลำดูลักษณะของต่อมลูกหมาก
ทั้งนี้หากพบสิ่งผิดปกติจะพิจารณาส่งตรวจ MRI และนำชิ้นเนื้อของต่อมลูกหมากออกมาตรวจทางพยาธิวิทยา เมื่อได้ผลตรวจแน่ชัดว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจเพิ่มเติมเพื่อจัดระยะโรค และเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสม