กินอย่างไรให้ห่างไกลต่อมลูกหมากโต

กินอย่างไรให้ห่างไกลต่อมลูกหมากโต

HIGHLIGHTS:

  • ต่อมลูกหมากโตแม้จะไม่ใช่มะเร็งและไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่หากไม่ทำการรักษาปล่อยปละละเลยจนอาการเรื้อรัง ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตด้วยภาวะแทรกซ้อนจากอาการไตวายได้
  • มะเขือเทศที่ปรุงสุก จะช่วยให้ร่างกายได้รับไลโคปีนได้มากกว่าการรับประทานมะเขือเทศสด ซึ่งสามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อมลูกหมากโตได้ถึง 35%
  • หากมีอาการ ปัสสาวะขัด  ต้องใช้เวลาเบ่ง  ปัสสาวะไม่มีแรงพุ่ง หรือออกเป็นหยดๆ  ปวดปัสสาวะบ่อย อั้นไม่อยู่ รวมถึงปัสสาวะเป็นเลือด ควรรีบพบแพทย์ เพื่อทำการวินิจฉัยและรับการรักษาที่ถูกต้อง

ต่อมลูกหมากโต แม้จะไม่ใช่มะเร็งและไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่จะรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน เนื่องจากผู้ป่วยมักมีอาการปัสสาวะบ่อย รวมถึงสร้างความกังวลต่อจิตใจถึงความเสื่อมถอยของสมรรถภาพทางเพศ และหากไม่ทำการรักษาปล่อยปละละเลยจนอาการเรื้อรัง  ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตด้วยภาวะแทรกซ้อนจากอาการไตวายได้

ดังนั้นคุณผู้ชายวัย 40 ขึ้นไปควรดูแลตัวเองเบื้องต้นด้วยการหมั่นสังเกตความผิดปกติของระบบขับถ่ายปัสสาวะ  เข้ารับการตรวจต่อมลูกหมากพร้อมตรวจสุขภาพประจำปี และเลือกรับประทานอาหารที่ช่วยป้องกันต่อมลูกหมากโตและมะเร็งต่อมลูกหมาก

อาหารที่แนะนำ เป็นต่อมลูกหมากโต กินอะไรดี

1. ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่

สตรอเบอร์รี่ บลูเบอร์รี่ ราสเบอร์รี่ และแบล็กเบอร์รี่ รวมถึงเบอร์รี่ไทยๆ อย่าง ลูกหม่อนและลูกหว้า ล้วนเป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระที่ยอดเยี่ยม ซึ่งช่วยกำจัดอนุมูลอิสระ อันเป็นสาเหตุของการอักเสบภายในร่างกาย รวมถึงทำให้เกิดภาวะต่อมลูกหมากโตและเนื้องอกชนิดต่างๆ

2. แซลมอน

ปลาที่อุดมไปด้วยไขมันที่ดีต่อสุขภาพ มีกรดไขมันโอเมก้า 3 และสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยต้านมะเร็งและลดการอักเสบได้เป็นอย่างดี มีการศึกษาพบว่าการรับประทานปลาแซลมอนอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง อาจช่วยลดความเสี่ยงอาการต่อมลูกหมากโต และยังสามารถชะลอการพัฒนาของเนื้องอกต่อมลูกหมากไปเป็นมะเร็ง หรือหยุดการลุกลามของโรคได้อีกด้วย นอกจากแซลมอนแล้ว ปลาซาร์ดีนและปลาเทราต์ ก็มีโอเมก้า 3 เช่นกัน

3. มะเขือเทศ

มีสารไลโคปีน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่เป็นประโยชน์ต่อเซลล์ต่อมลูกหมาก โดยเฉพาะมะเขือเทศที่ปรุงสุก เช่น มะเขือเทศย่าง น้ำมะเขือเทศ หรือซุปมะเขือเทศ จะยิ่งช่วยให้ร่างกายได้รับไลโคปีนได้มากกว่าการรับประทานมะเขือเทศสด จากการศึกษาในประเทศบราซิลพบว่าผู้บริโภคมะเขือเทศสด 50 กรัมต่อวัน เป็นเวลา 10 สัปดาห์  สามารถลดความเสี่ยงต่อมลูกหมากโตได้ประมาณ 10% เมื่อเทียบกับผู้ที่กินมะเขือเทศสุก เช่น ซอสมะเขือเทศ น้ำมะเขือเทศ และพิซซ่าที่มีส่วนประกอบของมะเขือเทศ ที่ลดความเสี่ยงได้ถึง 35%  

ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์มะเขือเทศแปรรูปวางจำหน่ายหลากหลาย การเลือกดื่มน้ำมะเขือเทศวันละ 1 แก้ว จึงเป็นวิธีป้องกันต่อมลูกหมากโตได้ดีวิธีหนึ่ง

4. บร็อคโคลี่และผักตระกูลกะหล่ำ

เช่น กะหล่ำดอก กะหล่ำดาว และกะหล่ำปลีมีสารซัลโฟราเฟน (Sunforaphane)   มีคุณสมบัติต้านมะเร็ง รวมถึงช่วยเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ล้างพิษของร่างกาย  จากการศึกษาพบว่าการกินบร็อคโคลี่มากกว่าสัปดาห์ละครั้ง สามารถลดโอกาสในการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากระยะ 3 และ 4 ได้ถึง 45%

วิธีปรุงบร็อคโคลี่ที่ดีที่สุดคือ การนึ่งหรือผัดไม่นานเกิน  5 นาที หากผัดสุกเกินไปความสามารถในการต้านมะเร็งจะลดลง และจะยิ่งมีประโยชนมากขึ้นด้วยการเพิ่มน้ำมันมะกอก กระเทียมสด และพริกป่น

5. ถั่ว

อุดมด้วยสังกะสีและซีลีเนียม ซึ่งเป็นแร่ธาตุ สำคัญต่อการทำงานของต่อมลูกหมาก รวมถึงช่วยปรับสมดุลฮอร์โมนเพศชาย นอกจากนี้ยังพบว่าสังกะสีมีมากในหอยนางรมและอาหารทะเลอื่น ๆ

6. ชาเขียว

ชาเขียวประกอบด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่เรียกว่า แคทีชิน (Catechins) ซึ่งสามารถทำลายแบคทีเรียและไวรัสบางชนิด เพิ่มระบบภูมิคุ้มกัน และซ่อมแซมเซลล์ที่เสียหายเพื่อต่อสู้กับมะเร็งหลายชนิด โดยเฉพาะมะเร็งต่อมลูกหมาก ทั้งนี้ยังช่วยลดความเสี่ยงสิ่งที่จะเกิดความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะได้อีกด้วย โดยควรดื่มชาเขียวอย่างน้อยวันละสามแก้ว

7. เห็ด

สามารถช่วยลดอาการต่อมลูกหมากโตได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเห็ดหอม ซึ่งอุดมด้วยเลนติแนน (Lentinan) ที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันให้มีประสิทธิภาพในการต่อสู้ ยับยั้ง หรือป้องกันการเติบโตของเซลล์เนื้องอกและมะเร็งได้ดี นอกจากนี้เห็ดอื่นๆ เช่น เห็ดนางรม  เห็ดนางฟ้า เห็ดหลินจือ และเห็ดไมตาเกะ ยังมีสารเออร์โกไธโอนีน (Ergothioneine) หรือสารแอนติออกซิแดนท์ที่มากคุณค่า ช่วยปกป้องเซลล์ทั่วร่างกาย รวมถึงต่อมลูกหมากจากความผิดปกติได้ ทั้งนี้การปรุงเห็ดในน้ำมันจนสุกจะช่วยเพิ่มคุณค่าทางอาหารมากขึ้น

8. ทับทิม

อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระและเอลลาจิแทนนิน (Ellagitannin) ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการบำรุงต่อมลูกหมาก และสามารถชะลอการลุกลามของมะเร็งต่อมลูกหมากได้

9. เมล็ดฟักทอง

ช่วยลดอาการต่อมลูกหมากโต น้ำมันจากเมล็ดฟักทองประกอบด้วยไดไฮโดรเทสโทสเตอโรน(Dihydrotestosterone) ซึ่งจัดว่าเป็นสเตียรอยด์ฮอร์โมน (Steroid hormone) เพศชายที่ช่วยให้ต่อมลูกหมากทำงานได้ตามปกติ และป้องกันไม่ให้ฮอร์โมนกระตุ้นการเพิ่มจำนวนของเซลล์ต่อมลูกหมากทำงานมากจนเกินไป น้ำมันเมล็ดฟักทองยังมีแคโรทีนอยด์และกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อมลูกหมากโตและมะเร็งต่อมลูกหมากอีกด้วย

10. ขมิ้นชัน

แต่เดิมขมิ้นชันถูกนำมาใช้เพื่อต่อสู้กับการอักเสบและโรคหอบหืด แต่นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบคุณสมบัติต้านมะเร็งรวมถึงความสามารถในการต่อสู้กับมะเร็งต่อมลูกหมากทั้งนี้ยังมีการค้นพบอีกว่าหากนำขมิ้นชันมาปรุงร่วมกับผักตระกูลกะหล่ำจะยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก รวมถึงยับยั้งการลุกลามของเซลล์มะเร็งได้เป็นอย่างดี

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง

1. เนื้อแดง

การวิจัยชี้ให้เห็นว่าการรับประทานเนื้อแดง เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อแกะในปริมาณมาก เพิ่มความเสี่ยงภาวะต่อมลูกหมากโต รวมถึงเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งอีกด้วย โดยเฉพาะพวกปิ้งย่าง หมูกระทะ หมูย่างปรุงรสต่างๆ  บนเตาถ่าน

2. ผลิตภัณฑ์นม

เช่นเดียวกันกับเนื้อสัตว์ การบริโภคผลิตภัณฑ์นม เนย และชีสเป็นประจำเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อมลูกหมากโต

3. โซเดียม

การบริโภคเกลือจำนวนมาก ทำให้ระบบทางเดินปัสสาวะทำงานหนัก ส่งผลให้เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะต่อมลูกหมากโต ทั้งนี้รวมถึงโซเดียมที่แฝงมาในอาหารสำเร็จรูป อาหารหมักดอง และอาหารแปรรูปอื่นๆ เช่น ผักดอง เต้าเจี้ยว  ไส้กรอก แฮม หมูยอ เป็นต้น

นอกจากการเลือกรับประทานอาหารเพื่อให้ห่างไกลต่อมลูกหมากโตแล้ว  หากพบว่าการขับถ่ายปัสสาวะผิดปกติ เช่น ปัสสาวะขัด   ต้องใช้เวลาเบ่ง  ปัสสาวะไม่มีแรงพุ่ง หรือออกเป็นหยดๆ  อาจปวดปัสสาวะบ่อย อั้นไม่อยู่ รวมถึงปัสสาวะเป็นเลือด  ควรรีบพบแพทย์ เพื่อทำการวินิจฉัยโรคต่อมลูกหมากโต  และรับการรักษา รวมถึงปฏิบัติตัวตามคำแนะนำอย่างถูกต้อง  และที่สำคัญควรมีการตรวจต่อมลูกหมากทุกครั้งที่มีการตรวจสุขภาพประจำปี

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?