ฟื้นฟูร่างกายก่อนและหลังปาร์ตี้

ฟื้นฟูร่างกายก่อนและหลังปาร์ตี้

HIGHLIGHTS:

  • ท้องว่างแอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมผ่านเยื่อบุกระเพาะอาหารเข้าสู่กระแสเลือดโดยตรง จึงทำให้เมาและง่วงซึมได้ไว
  • อาการเมาค้าง มีผลกระทบต่อร่างกายหลายระบบ นำไปสู่ โรคตับแข็ง สมองเสื่อม
  • วิตามินบีรวม น้ำขิง ชาเปปเปอร์มินต์ สามารถช่วยบรรเทาอาการเมาค้างได้!!

มีงานปาร์ตี้เมื่อไหร่ เป็นต้องเมาค้างมาถึงเช้าทุกที หลายคนมักจะมีอาการปวดหัว มึนหัวข้ามวัน สำหรับคนที่ไม่ชอบสังสรรค์ มักจะบอกว่าแอลกอฮอล์มีรสขม ดื่มเข้าไปได้อย่างไร แต่สำหรับนักปาร์ตี้แล้ว พวกเขามักจะชอบบรรยากาศในวงเหล้าและสังคมมากกว่ารสชาติของแอลกอฮอล์เสียอีก รสชาติจึงเป็นเหมือนส่วนเติมเต็มความสนุกสนานเพราะแอลกอฮอล์มีฤทธ์กดระบบประสาทส่วนกลาง และคลายกล้ามเนื้อ เมื่อได้รับปริมาณเล็กน้อยจึงช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย

เตรียมพร้อมก่อนปาร์ตี้

  1. อย่าปล่อยให้ท้องว่าง
    แอลกอฮอล์ดูดซึมได้มากสุดที่ส่วนต้นของลำไส้เล็ก การดูดซึมจะถูกกระตุ้นให้รวดเร็วขึ้นได้หากท้องว่างหรือมีการดื่มพร้อมกับเครื่องดื่มน้ำอัดลมหรือโซดา ขณะที่ท้องว่างแอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมผ่านเยื่อบุกระเพาะอาหารเข้าสู่กระแสเลือดโดยตรง จึงทำให้เมาและง่วงซึมได้ไว
  2. ทานน้ำผักผลไม้หรือวิตามินบีรวมเพื่อลดการสูญเสียวิตามิน
    ฮอร์โมนและเอนไซม์หลายชนิดถูกยับยั้งด้วยฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ ที่สำคัญคือ ฮอร์โมน Antidiuretic (ADH) ที่ควบคุมไตให้ดูดน้ำกลับ เมื่อฮอร์โมน ADH ถูกยับยั้งทำให้ไตไม่ดูดน้ำกลับ เราจึงปัสสาวะบ่อยขึ้น ทำให้ยิ่งสูญเสียน้ำและเกลือแร่จำนวนมากจนมีอาการอ่อนเพลียได้ การขาดวิตามินที่พบมากหลังจากดื่มแอลกอฮอล์ คือ วิตามินเอ บี1 บี3 บี6 โฟเลท วิตามินอี และแร่ธาตุซีลีเนียม
  3. ดื่มน้ำตามทุก 1 ชั่วโมง
    จากเหตุผลในข้อ 2 ที่เราต้องทดแทนน้ำที่เสียไปจากปัสสาวะ และลดความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือดไม่ให้มากจนเกินไป
  4. ดื่มมากไป ตัดสินใจผิดพลาด
    แอลกอฮอล์มีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนที่ควบคุมการตัดสินใจผิดถูก ส่วนที่คอยยับยั้งการกระทำที่เจ้าตัวคิดว่าไม่ถูกไม่ควรทั้งหลายไว้ เมื่อส่วนนี้โดนกดไว้ อาจเห็นหลายคนมีพฤติกรรมที่คึกคะนอง กล้าทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ หรือสิ่งที่อาจเก็บกดไว้ออกมา ดังนั้นจึงควรดื่มพอประมาณ
  5. ดื่มพอประมาณ
    ทางการแพทย์ให้ผู้ชายดื่มแอลกอฮอล์ได้ไม่เกิน 3 หน่วยต่อวัน ผู้หญิงได้ไม่เกิน 2 หน่วยต่อวัน ในรายที่พบว่าไม่มีโรคตับ (ปริมาณแอลกอฮอล์ 1 หน่วย = การดื่มแอลกอฮอล์ 12 – 15 กรัม เช่น ไวน์ 120 ซีซี, เบียร์ 360 ซีซี, วิสกี้หรือวอดก้า 30 ซีซี)
  6. ดื่มบ่อย โรคตับถามหา
    อวัยวะที่รับบทหนักในการกำจัดแอลกอฮอล์ในร่างกายคือตับ เซลล์ตับจะผลิตเอนไซม์เพื่อเปลี่ยนแอลกอฮอล์ไปเป็นอะเซทัลดีไฮด์ และเปลี่ยนเป็นกรดอะซิติก และอะเซทิลโคเอ ตามลำดับ ซึ่งสามารถเข้าสู่เมทาบอลิซึมต่อให้ได้พลังงานและน้ำ ตราบใดที่เรายังดื่มไม่หยุด ตับจะยังคงทำงานย่อยสลายแอลกอฮอล์ไม่หยุดเช่นกัน จนตับละเลยหน้าที่สลายกรดไขมัน การกำจัดสารพิษอื่นๆ ผลคือ เกิดการคั่งไขมันที่ตับ (fatty liver) รวมทั้งสารพิษต่างที่ร่างกายได้รับมา จนอาจนำไปสู่ตับอักเสบ พังผืดที่ตับ ในที่สุด ก็จะกลายเป็นตับแข็ง
  7. ดื่มมาก เสี่ยงเกาต์
    แอลกอฮอล์ทำให้กรดไพรูวิกเปลี่ยนเป็นกรดแลคติกมากขึ้น เกิดกรดแลคติกคั่งในเลือด เลือดมีความเป็นกรดสูง ร่างกายพยายามขับกรดแลคติกออก จึงมีการแข่งขันกับการขับกรดยูริก ทำให้กรดยูริกขับออกได้น้อยลง ซึ่งมีผลตามมาให้กรดยูริกคั่งและเสี่ยงโรคเกาต์ตามมา

ฟื้นฟูหลังปาร์ตี้

หลังปาร์ตี้อันหนักหน่วง หลายคนจะมีอาการเมาค้าง เพราะร่างกายนำ อะเซทัลดีไฮด์ ซึ่งเป็นสารพิษรุนแรงต่อร่างกายไปย่อยเป็นกรดอะซิติกไม่ทัน นำมาสู่อาการอันไม่พึงประสงค์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นหลังจากสร่างเมาแล้ว เช่น ปวดหัว คลื่นไส้ เสียการทรงตัว หิวน้ำ ปากแห้ง อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตัว เราจึงขอเสนอวิธีแก้เบื้องต้นดังนี้

  1. ดื่มน้ำให้มาก หรือหาอาหารรองท้อง จะช่วยลดอาการเมาค้างได้
  2. หากมีอาการปวดหัว สามารถทานยาแก้ปวด ลดไข้ได้
  3. หากมีอาการคลื่นไส้ สามารถทานน้ำขิงอุ่นๆ หรือชาเปปเปอร์มินต์ จะช่วยลดอาการนี้ได้
  4. เติมวิตามินแร่ธาตุให้ร่างกาย จากน้ำผักผลไม้ วิตามินบีรวม หรือวิตามินรวม
  5. เพิ่มการสร้างกลูตาไธโอนในตับ ด้วย สารสกัดจากธรรมชาติ เช่น สารสกัดจากดอกมิลค์ทิสเทิล กรดอะมิโนเอ็นอะซิติลซีสเทอีน
    อะโวคาโด หน่อไม้ฝรั่ง เพื่อฟื้นฟูเซลล์ตับและเร่งการกำจัดสารตกค้างที่ทำให้มีอาการเมาค้าง
  6. หากง่วง สามารถดื่มกาแฟได้ เพราะคาเฟอีนในกาแฟทำให้ร่างกายตื่นตัวมากขึ้น
คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?