โกโก้ บริโภคอย่างไรให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพ

โกโก้ บริโภคอย่างไรให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพ

Highlight:

  • โกโก้และช็อกโกแลต นั้นแตกต่างกัน ถึงแม้จะเป็นผลผลิตจากต้นโกโก้ หรือต้นคาเคา เหมือนกัน
  • โกโก้อุดมด้วยโพลีฟีนอล สารอนุมูลอิสระลดการอักเสบ  ช่วยให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น ลดความดันโลหิต ลดคอเลสเตอรอล และลดระดับน้ำตาลในเลือด และมีสารต่อต้านโรคหืด  ช่วยให้ปอดขยายออก ทำให้หายใจผ่อนคลายและลดการอักเสบ  
  • การศึกษาส่วนประกอบของโกโก้พบว่าสารฟลาโวนอลในโกโก้ ช่วยปกป้องเซลล์จากความเสียหาย ต่อสู้กับการอักเสบ ยับยั้งการเติบโตของเซลล์ และช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง  

เป็นที่ทราบกันดีว่าช็อกโกแลตมีประโยชน์กับร่างกาย  แต่ก็ยังมีข้อสงสัยว่าโกโก้และช็อกโกแลตแตกต่างกันหรือไม่ 
ทั้งโกโก้และช็อกโกแลตต่างก็เป็นผลผลิตจากต้นโกโก้ หรือต้นคาเคา (Theobroma cacao) โดยการนำเมล็ดโกโก้มาผ่านกระบวนการหมัก ตากแห้ง คั่ว ปอกเปลือก บด และแปรรูปเป็นของเหลว (Cocoa liquor)  

จากนั้นนำโกโก้เหลวไปผ่านกระบวนการรีดเอาไขมันโกโก้ (Cocoa butter) ออกจากเนื้อโกโก้ (Cocoa cake)  แล้วเอาเนื้อโกโก้ที่เหลือไปบดละเอียด เป็นผงโกโก้ธรรมชาติที่มีไขมันอยู่เพียง 10-24%  โกโก้ถือเป็นเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ เนื่องจากไม่มีไขมันผสมอยู่เลย หรือมีไขมันผสมอยู่น้อยมาก

สำหรับช็อกโกแลต เป็นการนำโกโก้เหลวไปขึ้นรูปหรือเทใส่แม่พิมพ์โดยไม่แยกไขมัน  จึงยังคงมีไขมันโกโก้ในปริมาณมาก ดาร์กช็อกโกแลต 100% มีรสขม ส่วนใหญ่จึงมีการเติมนมและน้ำตาลได้เป็นช็อกโกแลตนม เพื่อให้ได้รสชาติหอมหวานและรับประทานง่ายขึ้น

ประโยชน์ของโกโก้

เชื่อกันว่าโกโก้ถูกนำมาใช้ครั้งแรกโดยอารยธรรมมายาในอเมริกากลาง และถูกนำกลับไปยุโรปโดยนักเดินเรือชาวสเปนในศตวรรษที่ 16 และกลายเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็วในฐานะยาเพื่อสุขภาพ ปัจจุบันมีการวิจัยว่าโกโก้มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย ดังนี้

  • อุดมด้วยโพลีฟีนอลที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ 
    โพลีฟีนอล (Polyphenol) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ พบได้ในอาหาร เช่น ผลไม้ ผัก ชา ไวน์
    โกโก้ และช็อกโกแลต  มีคุณสมบัติช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระลดการอักเสบ ช่วยให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น ลดความดันโลหิต ลดคอเลสเตอรอล และลดระดับน้ำตาลในเลือด
    โกโก้เป็นแหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยฟลาวานอล (Flavanols) สารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) ซึ่งมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระและการอักเสบของเซลล์ในร่างกาย 
  • ช่วยลดความดันโลหิต
    จากการศึกษาพบว่าทั้งผงโกโก้และดาร์กช็อกโกแลตสามารถลดความดันโลหิตได้ โดยพบว่าชาวเกาะในแถบอเมริกากลาง ที่ดื่มโกโก้เป็นประจำมีความดันโลหิตต่ำกว่าญาติบนแผ่นดินใหญ่ที่ไม่ดื่มโกโก้ หรือดื่มในปริมาณน้อย เนื่องจากฟลาวานอลในโกโก้มีฤทธิ์ช่วยเพิ่มระดับไนตริกออกไซด์ (Nitric oxide) ในเลือด ซึ่งสามารถเพิ่มการทำงานของหลอดเลือดและลดความดันโลหิต 
    มีการทดลองในผู้ป่วย 35 ราย รับประทานโกโก้ 0.05–3.7 ออนซ์ (1.4–105 กรัม) ซึ่งมีฟลาวานอล ประมาณ 30–1,218 มิลลิกรัม พบว่าโกโก้ทำให้ความดันโลหิตลดลงถึง 2 มิลลิเมตรปรอท ทั้งนี้ยังพบว่าช่วยลดความดันโลหิต ในผู้ป่วยมากกว่าผู้ที่มีความดันปกติ และในผู้สูงอายุ
  • ลดความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมอง
    การเพิ่มระดับไนตริกออกไซด์ในเลือด ยังช่วยขยายหลอดเลือด และเพิ่มการไหลเวียนของเลือด  ซึ่งลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด 
    นอกจากนี้ โกโก้ยังช่วยลดคอเลสเตอรอลชนิด LDL หรือ “ไขมันไม่ดี”  ป้องกันการเกิดลิ่มเลือดคล้ายกับการใช้แอสไพริน ลดระดับน้ำตาลในเลือด และลดการอักเสบ ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้เชื่อมโยงกับการลดความเสี่ยงภาวะหัวใจวาย หัวใจล้มเหลว และโรคหลอดเลือดสมอง 
    จากการศึกษาในคน 157,809  คน พบว่า การบริโภคช็อกโกแลตมากขึ้นมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงของโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และการเสียชีวิตที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ 
    การศึกษาในสวีเดน 2 ชิ้นงาน พบว่าการบริโภคช็อกโกแลต 0.7–1.1 ออนซ์ (19–30 กรัม) ทุกวัน เชื่อมโยงกับอัตราหัวใจล้มเหลวที่ลดลง แต่ไม่เห็นผลเมื่อบริโภคในปริมาณที่มากขึ้น  
    ผลลัพธ์เหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า การบริโภคช็อกโกแลตที่อุดมด้วยโกโก้ในปริมาณเล็กน้อยเป็นประจำมีประโยชน์ในการป้องกันหัวใจ 
  • โพลีฟีนอลช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปยังสมองและช่วยให้สมองทำงานอย่างมีประสิทธิภา
    งานวิจัยหลายชิ้นระบุว่าโพลีฟีนอลที่อยู่ในโกโก้ สามารถลดความเสี่ยงต่อโรคเกี่ยวกับความเสื่อมของระบบประสาท เช่น อัลไซเมอร์ และพาร์กินสัน โดยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมองและเพิ่มการไหลเวียนของเลือด
    นอกจากนี้ ฟลาโวนอลยังมีผลต่อการผลิตไนตริกออกไซด์ ซึ่งช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อของหลอดเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองได้ดีขึ้น 
    จากการศึกษาผู้สูงอายุ 34 คน ให้รับประทานโกโก้ที่มีฟลาวานอลสูง พบว่าการไหลเวียนของเลือดไปยังสมองเพิ่มขึ้น 8% หลังจาก 1 สัปดาห์ และ 10% หลังจาก 2 สัปดาห์  
  • ช่วยให้อารมณ์ดีและลดอาการซึมเศร้า 
    สารฟลาโวนอลในโกโก้ ช่วยเปลี่ยนทริปโตเฟน (Tryptophan)  ซึ่งเป็นกรดอะมิโนจำเป็นที่ร่างกายสร้างเองไม่ได้ ต้องได้รับจากการรับประทานอาหาร ให้เป็นเซโรโทนิน (Serotonin) หรือสารแห่งความสุข ที่มีความสำคัญในการพัฒนาระบบสื่อประสาท สามารถส่งผลต่ออารมณ์  หากร่างกายมีระดับเซโรโทนินที่สมดุล จะทำให้สามารถควบคุมอารมณ์ให้ดีขึ้น ลดความเครียด ลดไมเกรน และลดอาการซึมเศร้า  
    การศึกษาชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับการบริโภคช็อกโกแลตและระดับความเครียดในหญิงตั้งครรภ์ พบว่า การรับประทานช็อกโกแลตบ่อยขึ้นสัมพันธ์กับความเครียดที่ลดลงและอารมณ์ที่ดีขึ้นในทารก  
    นอกจากนี้ การศึกษาในชายสูงอายุ พบว่า การรับประทานช็อกโกแลตเชื่อมโยงกับสุขภาพกายและสุขภาพจิตโดยรวมที่ดีขึ้น 
  • ฟลาโวนอลช่วยควบคุมอาการโรคเบาหวานชนิดที่ 2 
    แม้การบริโภคช็อกโกแลตมากเกินไปจะไม่ดีต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด แต่โกโก้มีฤทธิ์ต้านเบาหวาน เนื่องจากฟลาโวนอลในโกโก้สามารถชะลอการย่อยคาร์โบไฮเดรตและการดูดซึมในลำไส้ ควบคุมการหลั่งอินซูลิน ลดการอักเสบ และกระตุ้นการดูดซึมน้ำตาลจากเลือดเข้าสู่กล้ามเนื้อ 
    งานวิจัยบางงาน แสดงให้เห็นว่าการบริโภคดาร์กช็อกโกแลตหรือโกโก้ที่อุดมด้วยฟลาโวนอล  ส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานประเภท 2 ลดลง  
  • ช่วยควบคุมน้ำหนัก 
    การบริโภคโกโก้ หรือแม้แต่ช็อกโกแลตอาจช่วยควบคุมน้ำหนักได้ เชื่อกันว่าโกโก้อาจช่วยควบคุมการใช้พลังงาน ลดความอยากอาหารและการอักเสบ รวมถึงเพิ่มการออกซิเดชั่นของไขมันและทำให้รู้สึกอิ่ม 
    จากการศึกษาพบว่าผู้ที่รับประทานช็อกโกแลตเป็นประจำมีค่าดัชนีมวลกายต่ำกว่าคนที่รับประทานช็อกโกแลตน้อยกว่า หรือไม่รับประทานเลย
    นอกจากนี้ การศึกษาการลดน้ำหนักโดยใช้อาหารคาร์โบไฮเดรตต่ำพบว่ากลุ่มที่ได้รับประทานช็อกโกแลต ที่มีปริมาณโกโก้ 81%  วันละ 42 กรัม จะลดน้ำหนักได้เร็วกว่ากลุ่มที่รับประทานอาหารปกติ 
  • ป้องกันมะเร็ง
    ฟลาโวนอลในผัก ผลไม้ และอาหารอื่นๆ มีคุณสมบัติในการป้องกันมะเร็ง รวมถึงความเป็นพิษต่ำ และผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์เพียงเล็กน้อย ซึ่งโกโก้มีฟลาโวนอลที่มีความเข้มข้นสูงที่สุดในบรรดาอาหารต่อน้ำหนักทั้งหมด  
    การศึกษาส่วนประกอบของโกโก้พบว่ามีผลในการต้านอนุมูลอิสระ ปกป้องเซลล์จากความเสียหาย ต่อสู้กับการอักเสบ ยับยั้งการเติบโตของเซลล์ และช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง  
    ซึ่งมีการทดลองในสัตว์โดยให้อาหารที่อุดมด้วยโกโก้หรือสารสกัดจากโกโก้ ปรากฏว่าสามารถลดมะเร็งเต้านม มะเร็งตับอ่อน มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งตับและลำไส้ใหญ่ รวมถึงมะเร็งเม็ดเลือดขาว 
    สำหรับการศึกษาในมนุษย์พบว่าฟลาโวนอลมีความสัมพันธ์กับการลดความเสี่ยงของมะเร็ง เนื่องจากเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ทรงพลัง ซึ่งมีบทบาทในการป้องกันมะเร็ง อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมอีก 
  • ลดอาการของโรคหอบหืด
    โกโก้มีประโยชน์สำหรับผู้ที่เป็นโรคหอบหืดอย่างมาก เนื่องจากมีสารต่อต้านโรคหืด เช่น ธีโอโบรมีน (Theobromine) และธีโอฟิลลีน (Theophylline) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยให้ปอดขยายออกทำให้หายใจผ่อนคลายและลดการอักเสบ  ทั้งนี้ธีโอฟิลลีน ยังใช้ในการรักษาและป้องกันอาการหายใจผิดปกติ และหายใจลำบากที่เกิดจากโรคปอดเรื้อรัง   
    โดยการศึกษาในสัตว์ทดลองแสดงให้เห็นว่าสารสกัดจากโกโก้สามารถลดทั้งการหดตัวของทางเดินหายใจและความหนาของเนื้อเยื่อ  
  •  ต้านเชื้อแบคทีเรียและกระตุ้นภูมิคุ้มกัน 
    มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ทำการวิจัยผงโกโก้ต่อภาวะฟันผุและโรคเหงือก เนื่องจากโกโก้มีสารประกอบมากมายที่มีคุณสมบัติต้านแบคทีเรีย ต้านเอนไซม์ และกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพช่องปาก ซึ่งจะเห็นได้จากการศึกษาหนึ่ง  โดยนำหนูที่ติดเชื้อแบคทีเรียในช่องปากให้สารสกัดจากโกโก้ ปรากฏว่าภาวะฟันผุลดลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับหนูที่ได้รับน้ำเพียงอย่างเดียว  
    นอกจากนี้ยังมีการวิจัยเพิ่มเติมแน่ชัดแล้วว่าโกโก้ในช็อกโกแลตไม่ได้เป็นสาเหตุของสิว แต่ในทางกลับกันพบว่าโกโก้ที่อุดมด้วยโพลีฟีนอลให้ประโยชน์อย่างมากต่อผิว การบริโภคโกโก้ในระยะยาวมีส่วนช่วยในการป้องกันแสงแดด ช่วยการไหลเวียนโลหิตของผิวหนัง และให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวอีกด้วย  

ควรรับประทานโกโก้อย่างไรให้ได้ประโยชน์

ปริมาณโกโก้ที่แน่นอนที่ควรรวมไว้ในอาหารเพื่อให้ได้ประโยชน์ต่อสุขภาพนั้นไม่ชัดเจน โดยหน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารของยุโรปแนะนำให้รับประทานผงโกโก้ หรือดาร์กช็อกโกแลต ดังนี้

  • เลือกดาร์กช็อกโกแลตที่มีคุณภาพดีและมีโกโก้อย่างน้อย 70% 
  • ควรใช้ผงโกโก้ที่ไม่ผ่านการอัลคาไลซ์  
  • ดาร์กช็อกโกแลตมีโกโก้และฟลาโวนอลมากกว่าช็อกโกแลตนม 
  • ช็อกโกแลตขาวและช็อกโกแลตนมไม่มีประโยชน์เท่ากับดาร์ก ช็อกโกแลต
  • ควรเลือกโกโก้ที่เป็นโกโก้แท้ 100% และไม่ควรใส่ส่วนผสมอย่างนม หรือน้ำตาล เพิ่มมากเกินไป
  • สำหรับสุขภาพของหัวใจ ให้เลือกผงโกโก้ฟลาวานอลสูง 0.1 ออนซ์ (2.5 กรัม) หรือ ช็อกโกแลตฟลาวานอลสูง 0.4 ออนซ์ (10 กรัม) เพิ่มในอาหารทุกวัน  

ข้อควรระวัง

  • ปริมาณโกโก้ที่ใช้ในช็อกโกแลตจะแตกต่างกันไปตามผู้ผลิต และฟลาโวนอลมักถูกทำลายในการผลิตช็อกโกแลต
  • ช็อกโกแลตยังมีน้ำตาลและไขมันในปริมาณมาก จึงควรบริโภคในปริมาณที่พอดี
  • การรับประทานโกโก้แบบเพิ่มนม และน้ำตาล จะทำให้ระดับน้ำตาล และไขมันในเลือดสูงขึ้น  
  • โกโก้มีสารธีโอโบรมีนสูง มีฤทธิ์คล้ายคาเฟอีน หากรับประทานมากอาจส่งผลให้ใจสั่น หรือนอนไม่หลับ
  • การแปรรูปและให้ความร้อนแก่โกโก้อาจทำให้สูญเสียคุณสมบัติที่เป็นประโยชน์ไปได้ 
  • กระบวนการฆ่าเชื้อเพื่อลดความขมในโกโก้ ส่งผลให้ปริมาณฟลาโวนอลลดลง 60%  
  • ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวควรขอคำแนะนำจากแพทย์   

โกโก้และช็อกโกแลตอุดมไปด้วยสารที่มีประโยชน์แก่ร่างกาย จึงควรเลือกรับประทานโกโก้ที่มีไขมันน้อยมาก และดาร์กช็อกโกแลตที่ไม่ผสมนมและน้ำตาลเพิ่มในปริมาณที่เหมาะสม โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำ 

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?