ฟื้นฟูข้อ เอ็น และกล้ามเนื้อด้วยเกล็ดเลือด

ฟื้นฟูข้อ เอ็น และกล้ามเนื้อด้วยเกล็ดเลือด

HIGHLIGHTS:

  • การฉีด PRP ไม่สามารถใช้ร่วมกับยาชาได้ เพราะความเป็นกรดด่างของยาชาอาจมีผลต่อการทำงานของเกล็ดเลือดที่ฉีด ดังนั้นผู้ป่วยอาจต้องทนความเจ็บ หรือระบมจากการฉีด PRP
  • การรักษาด้วยการฉีด PRP ในผู้ป่วยเรื้อรังต้องใช้เวลารักษานานกว่า รวมทั้งผลการรักษาอาจจะไม่ดีเท่ากลุ่มที่รักษาทันทีที่ได้รับการบาดเจ็บ

การฉีด PRP (Platelet Rich Plasma) เป็นเทคนิคทางการแพทย์ที่ใช้ในการรักษาอาการบาดเจ็บของข้อ เอ็น และกล้ามเนื้อ จากการศึกษาและการใช้ PRP ในการรักษาผู้ป่วยที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าได้ผลดีและมีผลข้างเคียงต่ำ เนื่องจากเป็นสารสกัดจากเลือดของผู้ป่วยเอง ด้วยความปลอดภัยที่สูงและประสิทธิภาพในการรักษา ที่ผ่านจึงมีผู้ป่วยหรือนักกีฬาหลายคนเลือกการรักษาอาการบาดเจ็บด้วยวิธีนี้

การรักษาด้วย PRP

PRP ย่อมาจาก Platelet Rich Plasma เป็นการรักษาด้วยเกล็ดเลือดของผู้ป่วยเอง โดยนำเลือดมาคัดแยกจนได้สารเลือดที่มีความเข้มข้นของเกล็ดเลือดสูงกว่าปกติ ปัจจุบันแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ เกล็ดเลือดที่ความเข้มข้นสูงมากประมาณ 5-10 เท่าขึ้นไป และเกล็ดเลือดที่ความเข้มข้นประมาณ 2-3 เท่า

หลักการในการรักษาคือการใช้เกล็ดเลือดที่ผ่านการปั่นแยกจนได้สารเลือดที่เหมาะกับการใช้รักษา ซึ่งตัวเกล็ดเลือดนั้นมีสารคัดหลั่งซึ่งสามารถช่วยกระตุ้นการซ่อมแซม เนื้อเยื่อที่มีการบาดเจ็บ และช่วยให้บริเวณที่มีอาการบาดเจ็บดีขึ้น เหตุการณ์เหล่านี้ได้เกิดจากการสังเกตว่า ในภาวะปกติ เมื่อร่างกายมีแผลผิวหนังฉีกขาด หรือเส้นเลือดแตก เกล็ดเลือดจะทำการก่อตัวเป็นก้อนอุดตันไม่ให้เลือดไหล จากนั้นเกล็ดเลือดจะเป็นตัวกระตุ้นเม็ดเลือดขาวหรือเซลล์ต่างๆ เพื่อมาซ่อมแซมเนื้อเยื่อบริเวณที่ได้รับการบาดเจ็บหรือฉีกขาด

ในการรักษาอาการบาดเจ็บทางออร์โธปิดิกส์ ก็ใช้หลักการเดียวกัน โดยวิธีนี้เหมาะที่จะใช้กับการรักษาภาวะบาดเจ็บของเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อ โดยฉีดเกล็ดเลือดเข้าไปในบริเวณที่มีอาการบาดเจ็บ เช่นกล้ามเนื้อฉีกขาด เพื่อให้มีการซ่อมแซมกล้ามเนื้อบริเวณนั้น

อาการบาดเจ็บที่รักษาได้ด้วย PRP

  • การบาดเจ็บของเส้นเอ็นต่าง ๆ เส้นเอ็นเสื่อมบริเวณข้างข้อศอกที่เรียกว่า Tennis Elbow เส้นเอ็นหัวไหล่เสื่อม
  • ข้อเสื่อม
  • อาการบาดเจ็บหลังการผ่าตัด เช่น การผ่าตัดเอ็นไขว้หน้า การซ่อมแซมเอ็นหรือข้อต่าง ๆ

ข้อจำกัดและผลข้างเคียงจาก PRP

เนื่องจากเกล็ดเลือดที่ใช้รักษานั้นได้มาจากเลือดของผู้ป่วยเอง จึงไม่มีความเสี่ยงต่อการพัฒนาของเนื้อเยื่อไปเป็นเนื้องอก หรือมีผลข้างเคียงใด ๆ กับผู้ป่วย แต่อาจมีข้อจำกัดบ้าง ดังนี้

  • ไม่สามารถใช้ร่วมกับยาชาได้ เพราะความเป็นกรดด่างของยาชาอาจมีผลต่อการทำงานของเกล็ดเลือดที่ฉีด ดังนั้นผู้ป่วยอาจต้องทนความเจ็บ หรือระบมจากการฉีด PRP
  • ผู้ป่วยต้องงดยากลุ่มแก้อักเสบหรือสเตียรอยด์ก่อนการฉีด 2 สัปดาห์ขึ้นไป เนื่องจากยาลดการอักเสบจะส่งผลให้การทำงานของเกล็ดเลือดให้มีประสิทธิภาพลดลง
  • การรักษาด้วย PRP ไม่สามารถใช้สิทธิประกันสุขภาพได้

ระยะเวลา ความถี่ในการฉีด และผลจากการรักษา

  • การรักษาให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดนั้นขึ้นกับอวัยวะที่ได้รับการบาดเจ็บ หากเป็นกล้ามเนื้ออาจใช้เวลาน้อยกว่ากลุ่มของเส้นเอ็น
  • ผู้ป่วยเรื้อรังจำเป็นต้องใช้เวลารักษานานกว่า รวมทั้งผลการรักษาอาจจะไม่ดีเท่ากลุ่มที่รักษาทันทีที่ได้รับการบาดเจ็บ
  • ขนาดของข้อที่ดีรับการบาดเจ็บ เช่น การรักษาบริเวณข้อศอก กับหัวไหล่ ใช้ระยะเวลาและผลการรักษาที่แตกต่างกัน
  • การฉีด PRP ต้องฉีดประมาณ 2-3 ครั้งต่อเส้นเอ็นหรือกล้ามเนื้อที่บาดเจ็บ โดยเว้นระยะห่างกันครั้งละ 7-10 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์
  • เห็นผลการรักษาได้ตั้งแต่ 4-6 สัปดาห์เป็นต้นไป

วิธีและขั้นตอนการฉีด

  1. ผู้ป่วยต้องไม่มีภาวะการขาดน้ำ เนื่องจากภาวะขาดน้ำจะทำให้การดูดเลือดเป็นไปได้ยาก
  2. งดยาตามแพทย์สั่ง โดยเฉพาะยาต้านการอักเสบและสเตียรอยด์ก่อนการฉีดประมาณ 2 สัปดาห์
  3. ผู้ป่วยจะได้รับการดูดเลือด แล้วนำไปเข้าเครื่องมือเฉพาะ ซึ่งจะทำการปั่นเลือดให้ได้เกล็ดเลือดที่เหมาะสมในการรักษา โดยใช้เวลาปั่นประมาณ 15 นาที
  4. หลังฉีดยังควรต้องงดยาต้านการอักเสบและสเตียรอยด์ต่อไป หากมีอาการปวดอาจใช้ยาแก้ปวดหรือใช้การประคบเย็น

ความแตกต่างของ PRP กับสเตียรอยด์

การทำงานของสเตียรอยด์คือการลดการอักเสบ แต่เนื่องจากการอักเสบเป็นส่วนสำคัญของขบวนการซ่อมแซมตัวเอง แม้อาการปวดและอักเสบจะดีขึ้นแต่จะไปรบกวนการซ่อมแซมของเส้นเอ็นหรือกล้ามเนื้อ แต่การทำงานของ PRP เป็นกระบวนการกระตุ้นให้เกิดการซ่อมแซมให้สภาพเส้นเอ็นสามารถกลับมามีคุณสมบัติเหมือนเดิม ฉะนั้นอาการปวดอักเสบอาจจะมีได้

อีกทั้งการรักษาโดยการรับประทานยาหรือใช้สเตียรอยด์อาจส่งผลกระทบในระยะยาว แต่การฉีด PRP ได้จากเลือดของผู้ป่วยเอง จึงไม่มีผลข้างเคียงหรือผลกระทบอื่น ๆ


ปรึกษาหมอออนไลน์ ผ่าน Video Call คลิกที่นี่

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?