ฝีคัณฑสูตรชนิด Simple (ไม่ซับซ้อน)
สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัดแบบเปิด (Fistulotomy or Fistulectomy) ทำได้โดยการตัดโพรงฝีออกไปโดยตัดผ่านหูรูดทวารหนักเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพื่อระบายหนองในโพรงให้ออกมาจนหมด จากนั้นจึงปล่อยให้เนื้อเยื่อซ่อมแซมตัวเอง 1 เดือน การผ่าตัดวิธีนี้มีโอกาสหายขาดได้ถึง 90 เปอร์เซนต์ และมีโอกาสเป็นซ้ำได้ประมาณ 10 เปอร์เซนต์ ทั้งนี้ วิธีนี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง คือ ผู้ป่วยอาจประสบปัญหาการกลั้นอุจจาระได้น้อยกว่าเดิมหากแพทย์ไม่มีความชำนาญมากพอและตัดกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักออกมากเกินไป ดังนั้น การผ่าตัดกับแพทย์ที่ชำนาญจึงมีความสำคัญที่สุด
ฝีคัณฑสูตรชนิด Complex (ซับซ้อน)
เป็นฝีที่อยู่ลึกหรือมีหลายโพรง ไม่สามารถตัดโพรงฝีออกไปทั้งหมดทีเดียวได้ เพราะหากตัดไปแล้วจะต้องตัดกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักออกเยอะตามไปด้วย ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาการกลั้นอุจจาระตามมาได้ จึงต้องใช้วิธีอื่นในการผ่าตัด ซึ่งมีหลากหลายวิธี ดังนี้
- LIFT (Ligation of Intersphincteric Fistula Tract) เป็นการผ่าตัดเข้าไปผูกบริเวณรูเปิดด้านในของฝีคัณฑสูตร เพื่อป้องกันไม่ให้แบคทีเรียที่อยู่ข้างในทวารหนักเข้ามาในโพรงฝีได้ การผ่าตัดวิธีนี้ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนัก จึงมั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดปัญหาในการกลั้นอุจจาระหลังผ่าตัดอย่างแน่นอน
- Seton การคล้องเชือกไว้ในโพรงของฝีคัณฑสูตร แล้วให้คนไข้ค่อยๆ ดึงเชือกวันละนิด ให้เชือกค่อยๆ ตัดผ่านกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักให้ตื้นขึ้นมา ร่วมกับการปล่อยให้ร่างกายค่อยๆ สมานแผล ซ่อมแซมตัวเองกลับมา ซึ่งวิธีนี้ ถึงแม้ว่าจะเป็นการตัดผ่านกล้ามเนื้อหูรูดก็จริง แต่ร่างกายจะค่อยๆ ซ่อมแซมเนื้อเยื่อไปเรื่อยๆ ผู้ป่วยจึงไม่เสียความสามารถในการกลั้นอุจจาระ
- Advancement Rectal Flap แพทย์จะใช้เนื้อเยื่อของเยื่อบุผนังด้านในทวารหนักมาปิดที่รูเปิดด้านในของโพรงฝี โดยมีหลักการคือให้ปิดทางเข้าของเชื้อแบคทีเรียจากด้านใน หากปิดจากด้านในได้ด้านนอกจะค่อยๆ หายได้เอง
- Laser การใส่แท่งปล่อยลำแสงเลเซอร์ (laser probe) เข้าไปในโพรงฝีจากด้านนอก เพื่อปิดโพรงฝีทั้งหมด โดยให้พลังงานจากลำแสงเลเซอร์ค่อยๆ ทำลายเนื้อเยื่อโพรงฝี ให้เนื้อเยื่อหดตัวกลายเป็นแผลเป็น (scar tissue) ค่อยๆ ปิดไล่ออกมาจากรูเปิดด้านในจนถึงรูเปิดด้านนอก
การผ่าตัดทั้ง 4 วิธีที่กล่าวมาข้างต้น ยังไม่มีวิธีไหนได้ผล 100 เปอร์เซ็นต์ แต่จะได้ผลประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์ คือ ยังมีโอกาสเป็นซ้ำได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การผ่าตัดเหล่านี้ก็ยังมีข้อดี คือ ถึงแม้จะไม่สำเร็จในครั้งแรก ก็ยังสามารถทำซ้ำอีก 2-3 ครั้งได้ เพราะไม่ได้ผ่าตัดเอากล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักออกไป
