นอนดีไม่มีปวดหัว

นอนดีไม่มีปวดหัว

HIGHLIGHTS:

  • คาเฟอีนและแอลกอฮอล์ ทำให้เกิดการปวดหัวหรือเวียนหัวหลังตื่นนอนได้ เพราะมีส่งผลต่อการขยายหรือหดตัวของหลอดเลือด และกระตุ้นระบบประสาท
  • ภาวะการนอนผิดปกติเรื้อรังส่งผลให้เกิดความเสี่ยงโรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคหัวใจวายเฉียบพลัน โรคหัวใจล้มเหลว โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน รวมถึงอาการซึมเศร้าและสมองเฉื่อยชา

คนรักสุขภาพต่างรู้ดีว่าการนอนหลับพักผ่อนเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม โดยแพทย์แนะนำเวลาเหมาะสมว่าอยู่ที่ประมาณ 7-8 หรือ 9 ชั่วโมง ทั้งนี้ควรอยู่ในช่วง 22.00-2.00 น. ซึ่งร่างกายจะหลั่งโกรทฮอร์โมน (Growth hormone ) ออกมามีผลช่วยชะลอวัย และทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง

ปัญหาปวดหัวจากการนอน

คนรักการนอนมักบ่นปวดหัวเมื่อนอนน้อย ขณะที่คนไม่ชอบนอนกลับบอกว่านอนเยอะๆ เป็นสาเหตุสำคัญ แต่ในความจริงแล้ว ปัญหาปวดหัวจากการนอนเกิดจากหลายปัจจัย ดังนี้

  • การนอนกรนตลอดทั้งคืน เมื่อตื่นขึ้นมาอาจทำให้มีอาการปวดหัว ตึง ๆ มึน ๆ เพราะร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอขณะหลับ เนื่องจากทางเดินหายใจส่วนบนถูกอุดกั้น ทำให้คาร์บอนไดออกไซด์คั่งหรือสูงกว่าปกติ ซึ่งส่งผลให้ เส้นเลือดขยาย ทำให้ปวดหัวตอนเช้า
  • พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือการนอนน้อยเกินไปอาจทำให้มีอาการปวดหัว โดยเฉพาะคนที่มีโรคประจำตัวอย่างไมเกรนนั้น มีโอกาสสูงที่อาการจะกำเริบมากกว่าอีกด้วย
  • นอนเยอะเกินไป การนอนเกินกว่า 9 ชั่วโมงต่อคืน จะส่งผลต่อฮอร์โมนบางตัว ทำให้เลือดไหลไปยังสมองน้อยลง จึงทำให้เกิดอาการปวดหัวได้
  • ดื่มคาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์ก่อนนอน ทำให้เกิดการปวดหัวหรือเวียนหัวหลังตื่นนอนได้ เพราะเครื่องดื่มดังกล่าวจะมีส่งผลต่อการขยายหรือหดตัวของหลอดเลือด และยังกระตุ้นระบบประสาทอีกด้วย
  • มีภาวะความเครียดสะสม เกิดการตึงตัวของกล้ามเนื้อต่างๆ เช่น ศีรษะ คอ บ่า ไหล่ อาจนำไปสู่การปวดศีรษะและอาจส่งผลต่อการนอนได้อีกด้วย

อันตรายจากการนอนที่ไม่เหมาะสม

การนอนน้อยหรือมากเกินไปต่างมีโทษแก่ร่างกายทั้งสิ้น ภาวะการนอนผิดปกติเรื้อรังส่งผลให้เกิดความเสี่ยงโรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคหัวใจวายเฉียบพลัน โรคหัวใจล้มเหลว โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน รวมถึงอาการซึมเศร้าและสมองเฉื่อยชา ทั้งนี้ยังมีผลเสียอื่นๆ ตามมา

นอนมากเกินไป

  • สมองเฉื่อยชา สมองล้า กลายเป็นคนไร้ชีวิตชีวา
  • การทำงานของกระดูกกล้ามเนื้อและข้อลดประสิทธิภาพลง
  • น้ำหนักเกิน เนื่องจากระบบการเผาผลาญไขมันลดลง มีการสะสมไขมันเพิ่มขึ้น นำไปสู่โรคต่างๆ
  • ฮอร์โมนในร่างกายแปรปรวน ส่งผลให้เป็นโรคซึมเศร้า

นอนน้อยเกินไป

  • ประสิทธิภาพในการทำงานของสมองลดลง ขาดสมาธิ
  • ความต้องการทางเพศลดต่ำลง
  • ผิวพรรณไม่สดใส เกิดริ้วรอย โดยเฉพาะรอยคล้ำรอบดวงตา

Tips แก้อาการปวดหัวหลังตื่นนอน

  • เข้านอนให้ตรงเวลา พักผ่อนให้เพียงพอ 7-9 ชั่วโมง
  • ไม่นอนช่วงกลางวันเป็นเวลานาน โดยเฉพาะช่วงกลางวันจนถึงพลบค่ำ
  • เลือกรับประทานอาหารย่อยง่าย แต่ไม่ควรงดอาหารเย็น จะได้ไม่เกิดภาวะกรดไหลย้อนขณะนอน
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทำจิตใจให้สดใส ไม่เครียด เพื่อการพักผ่อนนอนหลับที่ดีและเพียงพอ

การนอนหลับพักผ่อนที่ไม่เหมาะสมมีโทษอย่างคาดไม่ถึง ขณะที่การนอนไม่มากไม่น้อยเกินไปก็ให้ประโยชน์กับร่างกายมากมาย ช่วยป้องกันโรค และทำให้สุขภาพแข็งแรง ไม่เกิดภาวะน้ำหนักตัวเกิน สมองแจ่มใส การทำงานของฮอร์โมนและสมองปกติ รวมถึงส่งผลให้หน้าตาและผิวพรรณดีอีกด้วย

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?