จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบว่าทั่วโลก มีผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ ถึงปีละ 250,000 – 500,000 คน ในขณะที่ประเทศไทยมีผู้ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ในแต่ละปีประมาณ 50,000 คน ในปีที่มีการระบาดมากจะพบได้ถึง 70,000 คน
ไข้หวัดใหญ่จะมีอาการรุนแรงกว่าไข้หวัดปกติ ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่จะมีความเสี่ยงต่ออาการโรคประจำตัวกำเริบและภาวะแทรกซ้อน ซึ่งรวมถึงภาวะปอดบวม หลอดลมอักเสบ หรือมีผลกระทบรุนแรงต่อระบบหัวใจ หลอดเลือด และระบบประสาทจนถึงขั้นเสียขีวิตได้
โรคไข้หวัดใหญ่ มีกี่สายพันธุ์
โรคไข้หวัดใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza Virus) ซึ่งมีอยู่ 3 สายพันธุ์ คือ A , B และ C สายพันธุ์ A และ B เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน โดยอาการติดเชื้อมักเริ่มขึ้นในเยื่อบุทางเดินหายใจส่วนบน (จมูกและคอ) และอาจแพร่กระจายไปยังปอดและหลอดลมได้
ในอดีตการระบาดของไข้หวัดใหญ่ พบว่า ไวรัสสายพันธุ์ A ที่เราคุ้นเคยกันในชื่อ A/H1N1 และ A/H3N2 เป็นสายพันธุ์หลัก หลายปีที่ผ่านมาพบว่าการระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ B เพิ่มมากขึ้น รวมถึงในประเทศไทยก็พบการระบาดของสายพันธุ์ B สูงขึ้นถึง 13-55 % เช่นกัน นอกจากนี้ความรุนแรงของสายพันธุ์ B ทั้ง 2 ตระกูลที่พบการระบาดร่วมกันได้แก่ Victoria และ Yamagata ยังส่งผลกระทบถึงขั้นทำให้ผู้ป่วยต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้พอๆ กับสายพันธุ์ A
ไข้หวัดใหญ่ ป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน
การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่ดีที่สุด คือ การฉีดวัคซีนเพิ่มภูมิคุ้มกันเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ให้แก่ร่างกาย ซึ่งที่ผ่านมาวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิด 3 สายพันธุ์สามารถครอบคลุมเชื้อไวรัสสายพันธุ์ A/H1N1 และ A/H3N2 และป้องกันเชื้อไวรัสสายพันธุ์ B ได้ 1 ตระกูล การเพิ่มไวรัสสายพันธุ์ B ในวัคซีนอีก 1 ตระกูล ก็จะสามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น