ความดันโลหิตสูง (Hypertension) หมายถึง ระดับ ความดันโลหิต 140/90 มม.ปรอท หรือมากกว่าซึ่งจะเป็นค่าบน (Systolic Blood Pressure, SBP) หรือ ค่าล่าง (Diastolic Blood Pressure, DBP) ก็ได้
ความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่มักจะไม่มีอาการ อาจตรวจพบโดยบังเอิญขณะไปตรวจรักษาโรคอย่างอื่น บางรายที่มีความดันโลหิตสูงมากๆ มักมีอาการปวดทั่วศีรษะ ปวดที่ท้ายทอย หรือวิงเวียนศีรษะร่วมด้วยได้ และผู้ป่วยบางรายที่มีความดันโลหิตสูงนานๆ อาจมาด้วยภาวะแทรกซ้อนจากความดันโลหิตสูงได้ เช่น อาการหัวใจวายเฉียบพลัน, ไตวาย, เส้นเลือดในสมองแตกหรือตีบ
วิธีการ | ข้อแนะนำ | ช่วยลดความดันโลหิตได้ |
---|---|---|
การลดน้ำหนัก | ให้ดัชนีมวลกาย * (Body mass index) = 18.5-24.9 กก./ตร.ม. | 5-20 มม.ปรอท ต่อการลดน้ำหนักตัว 10 กก. |
การควบคุมอาหาร | ให้รับประทานผัก ผลไม้ที่ไม่หวานจัดให้มาก ลดปริมาณไขมันในอาหารโดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว | 8-14 มม. ปรอท |
จำกัดเกลือในอาหาร | ไม่ควรบริโภคเกลือมากกว่า 6 กรัมต่อวัน (เกลือ 1 ช้อนชา หนักประมาณ 5 กรัม) | 2-8 มม.ปรอท |
การออกกำลังกาย | ควรออกกำลังกายชนิด aerobic อย่างสม่ำเสมอ เช่น การเดินเร็วๆ ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน (อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน และเกือบทุกวัน) | 4-9 มม.ปรอท |
งดหรือลดแอลกอฮอล์ | จำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ไม่เกิน 2 drinks/วัน ในผู้ชาย (ethanol 30 กรัม/วัน เช่น เบียร์ 720 มล., ไวน์ 300 มล. ,วิสกี้ที่ยังไม่ผสม 90 มล.) และไม่เกิน 1 drink/วันในผู้หญิงและคนน้ำหนักน้อย | 2-4 มม.ปรอท |
งดสูบบุหรี่ |
*(ดัชนีมวลกาย = น้ำหนักตัว (กก.)/ส่วนสูง (เมตร)2)
โดยจุดประสงค์ คือ เพื่อควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่ออวัยวะต่างๆในร่างกาย ซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคสมอง หัวใจ ไต ที่จะก่อให้เกิดภาวะทุพพลภาพได้
ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นการรักษาที่ปลายเหตุ เนื่องจากร้อยละ 95 ของผู้ป่วยความดันโลหิตสูงจะเป็นชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุ การรับการติดตามรักษาที่ดีจะช่วยป้องกันโรคแทรกซ้อนได้ ผู้ป่วยบางรายเมื่อรักษาไประยะหนึ่ง แล้วรู้สึกสบายดีจึงหยุดกินยา ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นจนทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนจึงมาพบแพทย์ ทำให้ไม่สามารถป้องกันทั้งอัมพาต และโรคหัวใจเฉียบพลันได้
สมัครสมาชิกเพื่อจัดเก็บข้อมูลของคุณสำหรับการนัดหมายครั้งต่อไป
มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว? เข้าสู่ระบบที่นี่