ตั้งครรภ์ปีมังกรทอง ก็ยังต้องระวังครรภ์เสี่ยง

ตั้งครรภ์ปีมังกรทอง ก็ยังต้องระวังครรภ์เสี่ยง

Highlights:

  • ภาวะครรภ์เสี่ยงในหญิงตั้งครรภ์ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและชีวิต ทั้งของมารดาและทารกในครรภ์ อาจทำให้เกิดอันตรายหรือเสียชีวิต สามารถเกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ ขณะคลอด รวมถึงหลังคลอด 
  • อาการปวดท้องที่ไม่หาย วิงเวียนศีรษะหรือเป็นลม มีไข้สูง ใจสั่น คลื่นไส้อาเจียนที่แย่กว่าอาการแพ้ท้องปกติ ปวดศีรษะอย่างรุนแรงที่ไม่หายไปหรือมีอาการแย่ลง หายใจลำบาก มีเลือดออกทางช่องคลอดหรือตกขาว การเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์หยุดหรือช้าลง อาจเป็นอาการของการตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูง จำเป็นต้องได้รับการดูแลใกล้ชิดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
  • การฝากครรภ์แบบเฉพาะบุคคล สามารถลดภาวะแทรกซ้อนลงได้มาก เช่น ภาวะคลอดก่อนกำหนด ลดลงเหลือแค่ 5% ภาวะความดันสูง ครรภ์เป็นพิษรุนแรง และภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ก็ลดต่ำลงอย่างชัดเจนเช่นกัน
     

ครรภ์เสี่ยงสูง ภาวะเสี่ยงในหญิงตั้งครรภ์

ภาวะครรภ์เสี่ยงสูง คือ ภาวะใดๆ ก็ตามที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและชีวิต ทั้งของมารดาและทารกในครรภ์ อาจทำให้เกิดอันตรายหรือเสียชีวิต สามารถเกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ ขณะคลอด รวมถึงหลังคลอด จำเป็นต้องได้รับการดูแลตั้งแต่เนิ่นๆ และสม่ำเสมอเป็นพิเศษจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

อาการของการตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูง

คุณแม่ตั้งครรภ์ควรพบแพทย์ทันที หากพบอาการใดๆ ต่อไปนี้ในระหว่างตั้งครรภ์ ไม่ว่าการตั้งครรภ์จะถือว่ามีความเสี่ยงสูงหรือไม่ก็ตาม

  • อาการปวดท้องที่ไม่หาย
  • เจ็บหน้าอก
  • วิงเวียนศีรษะหรือเป็นลม
  • เหนื่อยล้ามาก
  • การเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์หยุดหรือช้าลง
  • มีไข้สูง
  • ใจสั่น 
  • คลื่นไส้อาเจียนที่แย่กว่าอาการแพ้ท้องปกติ
  • ปวดศีรษะอย่างรุนแรงที่ไม่หายไป หรือมีอาการแย่ลง
  • บวมแดงหรือปวดที่ใบหน้าหรือแขนขา
  • มีความคิดเกี่ยวกับการทำร้ายตัวเองหรือทารกในครรภ์
  • หายใจลำบาก
  • มีเลือดออกทางช่องคลอดหรือตกขาว

ปัจจัยเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูง

หากคุณแม่ที่วางแผนตั้งครรภ์พบปัจจัยเสี่ยง ควรเข้ารับคำปรึกษาและได้รับการดูแลในโรงพยาบาลที่มีความพร้อม ทั้งอุปกรณ์และบุคลากรทางการแพทย์ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญสูง เพื่อให้การดูแลรักษาอย่างเหมาะสม ถูกต้อง และปลอดภัย 

ภาวะครรภ์เสี่ยงสามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย ได้แก่

  • ภาวะสุขภาพคุณแม่  เช่น ความดันมากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มม.ปรอท เป็นเบาหวานชนิดต้องพึ่งพาอินซูลิน
  • หรือการติดเชื้อ HIV
  • น้ำหนักเกินและโรคอ้วน (โรคอ้วนยังเพิ่มความเสี่ยงต่อความดันโลหิตสูงอีกด้วย) นักวิจัยของ NICHD  หรือ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติและการพัฒนามนุษย์ (National Institute of Child Health and Human Development) พบว่าโรคอ้วนสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาโรคหัวใจตั้งแต่แรกเกิดของทารกได้ถึง 15% 
  • ภาวะครรภ์เป็นพิษ เบาหวานขณะตั้งครรภ์ การคลอดบุตร ความผิดปกติของท่อประสาท และการผ่าตัดคลอด 
  • การตั้งครรภ์หลายครั้ง ความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนจะสูงขึ้นในสตรีที่คลอดบุตรในครรภ์มากกว่าหนึ่งคน (แฝด) ภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อย ได้แก่ ภาวะครรภ์เป็นพิษ การคลอดก่อนกำหนด ซึ่งภาวะการคลอดก่อนกำหนดของฝาแฝดมากถึง 93% เกิดเมื่ออายุครรภ์น้อยกว่า 37 สัปดาห์
  • การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นที่อายุน้อยกว่า 16 ปี หรือ การตั้งครรภ์เมื่ออายุมากกว่า 40 ปี เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษและความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ 
  • เคยมีประวัติลูกเสียชีวิตในครรภ์ ระหว่างคลอด หรือหลังคลอด 
  • เคยคลอดทารกก่อนหรือหลังกำหนด โดยคลอดก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ หรือคลอดอายุครรภ์เกิน 42 สัปดาห์ขึ้นไป
  • เคยแท้งบุตรมาแล้วไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง
  • เคยคลอดทารกน้ำหนักน้อยกว่า 2,500 กรัม หรือมากกว่า 4,000 กรัม
  • มีประวัติทารกโตช้าในครรภ์
  • มีประวัติทารกพิการทางด้านสมอง
  • เคยพบภาวะครรภ์เป็นพิษในการตั้งครรภ์ครั้งก่อน
  • เคยได้รับการผ่าตัดที่มดลูกหรืออวัยวะสืบพันธุ์
  • ทารกในครรภ์อยู่ในท่าที่ผิดปกติ เช่น ท่าก้น หรือท่าขวาง (ตั้งแต่ 34 สัปดาห์เป็นต้นไป)
  • มีเลือดออกทางช่องคลอดระหว่างตั้งครรภ์
  • คุณแม่ที่มีหมู่เลือด Rh เป็นลบ
  • พบก้อนในอุ้งเชิงกรานระหว่างตั้งครรภ์
  • ติดยาเสพติดหรือสุรา

ผลกระทบจากภาวะครรภ์เสี่ยง

การตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ สำหรับมารดาหรือทารกในครรภ์ ภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง ได้แก่

  • ภาวะครรภ์เป็นพิษ (ความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์)  
    อ่านเพิ่มเติม คลิก หรือ คลิก 
  • อาการชักจากการตั้งครรภ์ (Eclampsia)
  • การคลอดก่อนกำหนด   
  •  มีเลือดออกมากเกินไประหว่างการคลอด หรือหลังคลอด 
  • น้ำหนักทารกแรกเกิดต่ำหรือสูง 

ครรภ์เสี่ยง ป้องกันได้ ด้วยวิธี 3P concept

การดูแลรักษาภายใต้ 3P CONCEPT เพื่อป้องกันการคลอดก่อนกำหนด สามารถช่วยลดอัตราการคลอดก่อนกำหนดได้ถึง 45% (เมื่อเทียบกับมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก)

1. Prediction ทำนายความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนด

เริ่มต้นด้วยการซักประวัติอย่างละเอียด กรณีเคยมีประวัติคลอดก่อนกำหนดมาก่อนถือว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงทันที จากนั้นจึงเข้ารับการตรวจคัดกรองด้วยอัลตร้าซาวด์ทางช่องคลอด เพื่อวัดความยาวของปากมดลูก โดยสามารถทำได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 12-13 สัปดาห์ ทั้งนี้ในระยะตั้งครรภ์ดังกล่าวยังทำให้เห็นตะกอนหรือการอักเสบในโพรงมดลูกชัดเจน   หากความยาวของปากมดลูกมีขนาดสั้นกว่าหรือเท่ากับ 25 มิลลิเมตร ถือเป็นสัญญาณเตือนความเสี่ยงที่อาจคลอดก่อนกำหนด แพทย์สามารถให้ยาป้องกันและลดการอักเสบ นอกจากนี้ยังมีการตรวจเพื่อหาสาร Fetal Fibronectin ซึ่งพบอยู่ระหว่างถุงน้ำคร่ำกับเยื่อบุโพรงมดลูก เมื่อเกิดการหดรัดตัวของมดลูกจะทำให้ออกมาอยู่ในช่องคลอด หากตรวจพบเป็นผลบวกแสดงว่าคุณแม่มีแนวโน้มที่จะคลอดก่อนกำหนด

2. Prevention การป้องกันการคลอดก่อนกำหนด 

เมื่อพบมารดาที่มีปัจจัยเสี่ยง จะมีการให้ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (natural progesterone) เพื่อป้องกันไม่ให้มดลูกหดรัดตัว กรณีที่ไม่ได้ผล แพทย์อาจพิจารณาใช้ห่วงพยุงปากมดลูก (Cervical pessary) เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับปากมดลูก ซึ่งนิยมใช้มากกว่าการเย็บปากมดลูก เนื่องจากมีความสะดวก และสามารถกลับบ้านได้ทันที

3. Health Promotion

กรณีสุดท้ายที่ Prediction และ Prevention ไม่ได้ผล เป็นการรักษาการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด โดยใช้ยาระงับการหดรัดตัวของมดลูกเพื่อชะลอการคลอดไว้ให้ได้อย่างน้อย 48 ชั่วโมง รวมถึงให้ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ เพื่อกระตุ้นการทำงานของปอดและป้องกันเลือดออกในสมองของทารก จากนั้นจึงปล่อยให้ทารกคลอด และเข้าสู่การให้การดูแลทารกคลอดก่อนกำหนดอย่างมีประสิทธิภาพในห้อง NICU ซึ่งมีมาตรฐานสูง พร้อมเครื่องมือทันสมัย และกุมารแพทย์ผู้ชำนาญทางด้านทารกแรกเกิด รวมถึงมีการเฝ้าติดตามอาการของทารกอย่างต่อเนื่อง ทั้งการตรวจสุขภาพ และการประเมินการเจริญเติบโต

วางแผนการดูแลครรภ์แบบเฉพาะบุคคลตั้งแต่เนิ่นๆ

ปัจจุบันการแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine)  หรือการรักษาแบบเฉพาะบุคคล เป็นแนวทางใหม่ในการปรับการป้องกันและรักษาโรคโดยคำนึงถึงความแตกต่างในยีน สภาพแวดล้อม และวิถีชีวิตของผู้คน เป้าหมายของการแพทย์ที่แม่นยำคือการกำหนดเป้าหมายการรักษาที่ถูกต้องให้กับผู้ป่วยที่เหมาะสมในเวลาที่เหมาะสม  

เช่นเดียวกับการวางแผนครอบครัวและการฝากครรภ์แบบเฉพาะบุคคล (Precision Obstetrics) มุ่งเน้นดูแลครรภ์เฉพาะบุคคลตั้งแต่เริ่มวางแผนการตั้งครรภ์ การป้องกันภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ จนถึงการคลอดบุตรที่แข็งแรงสมบูรณ์        

การฝากครรภ์แบบเฉพาะบุคคล สามารถลดภาวะแทรกซ้อนลงได้มาก เช่น ภาวะคลอดก่อนกำหนด ลดลงเหลือแค่ 5% ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำมาก อัตราการคลอดก่อนกำหนดในอายุครรภ์น้อยกว่า 34 สัปดาห์ มีเพียง 0.2% ซึ่งถือว่าต่ำมากเช่นเดียวกัน สำหรับภาวะความดันสูง ครรภ์เป็นพิษรุนแรง และภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ก็ลดต่ำลงอย่างชัดเจนเช่นกัน

การฝากครรภ์แบบเฉพาะบุคคล สามารถทำได้ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ ด้วยการเข้าฝากครรภ์ในโรงพยาบาล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะทำการตรวจโดยละเอียด ดังนี้ 

  • สอบถามประวัติอย่างละเอียด ทั้งสิ่งแวดล้อม การใช้ชีวิต รวมถึงโรคทางพันธุกรรม 
  • แพทย์ทำการพูดคุย ให้คำปรึกษาถึงวิธีการตรวจและรักษาแบบเฉพาะบุคคล เรียงลำดับตามขั้นตอน เพื่อทำความเข้าใจ ไขข้อข้องใจ และลดความวิตกกังวลของครอบครัวลง  
  • ตรวจร่างกายเพื่อดูแนวโน้มและความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคพันธุกรรม ภาวะคลอดก่อนกำหนด หรือ ภาวะครรภ์เป็นพิษ   
  • การตรวจยีนเพื่อครรภ์ที่มีคุณภาพ (Preconception Gene Testing) เพื่อค้นหาโรคร้ายที่อาจหลบซ่อนในพันธุกรรมของพ่อแม่ สามารถตรวจคัดกรองและวินิจฉัยความผิดปกติของยีนด้อยได้กว่า 500 ยีน ตรวจหาโรคทางพันธุกรรมได้กว่า 500 โรค และมีความแม่นยำสูงถึง 95%                      
  • กรณีคุณแม่ตั้งครรภ์อายุมาก คือตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป สามารถใช้วิธีเจาะเลือดแม่ แทนการเจาะน้ำคร่ำ เพื่อลดโอกาสแท้ง ซึ่งมีความแม่นยำสูง ได้ผลรวดเร็ว                                          
  • การตรวจดาวน์ซินโดรม   คุณแม่ตั้งครรภ์อายุมากกว่า 35 ปี มีโอกาสที่ทารกจะเป็นดาวน์ซินโดรม สูงถึง 1 ใน 250 และยิ่งอายุของแม่มากเท่าไหร่ ความเสี่ยงก็ยิ่งสูงขึ้น การตรวจดาวน์ซินโดรม   ด้วยการเจาะเลือดตรวจ DNAของทารกในครรภ์ซึ่งใช้เวลา 5-7 วัน แต่ได้ผลสูงถึง 99.7% 

การตั้งครรภ์ทุกครั้งมีความเสี่ยง แต่คำจำกัดความของการตั้งครรภ์ที่มี "ความเสี่ยงสูง" คือ การตั้งครรภ์ใดๆ ที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพเพิ่มขึ้นสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ หรือทารกในครรภ์ ซึ่งหากพบการตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูงคุณแม่จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน เพื่อต้อนรับลูกน้อยที่แข็งแรงสมบูรณ์ ต้อนรับปีมังกรทอง

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?