ปัญหาและวิธีแก้ กับเรื่อง “นมแม่” ที่ต้องอ่าน

ปัญหาและวิธีแก้ กับเรื่อง “นมแม่” ที่ต้องอ่าน

มีคำถามเกี่ยวกับเรื่องนมแม่ บนโลกโซเชียล ที่คุณแม่หลายคนสงสัย ทั้งเรื่องของหัวนมแตก นมคัด น้ำนมน้อย ให้นมท่าไหนที่ถูกต้องและอีกมากมาย

ที่ต่างเอามาปรึกษาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน บางเรื่องอาจจะถูก บางเรื่องอาจจะยังไม่ถูกต้องนัก

ปัญหาที่แม่ๆ ทั้งมือใหม่มือโปร มักพบบ่อยในช่วงให้นม คือ หัวนมแตก ท่อน้ำนมตัน เต้านมคัดและอักเสบ ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บระบม แสบร้อน ที่หัวนม ปวดบริเวณเต้านม และมีเลือดไหลออกมา ปัญหาเหล่านี้อาจทำให้คุณแม่เกิดความท้อใจจนไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้นานตามที่ตั้งใจไว้

ปัญหาหัวนมแตก

ปัญหาหัวนมแตก ปัญหานี้จะทำให้แม่มีอาการเจ็บที่บริเวณหัวนมอาจมีเลือดไหลออกมา หากมีอาการเจ็บมากอาจทำให้ไม่สามารถเอาลูกเข้าเต้าได้นาน 

สาเหตุของหัวนมแตกส่วนใหญ่เกิดจากการเอาลูกเข้าเต้าไม่ถูกวิธี ทำให้เวลาดูดนม ลูกจะอมได้ไม่ถึงลานนม เมื่อลูกดูดแล้วไม่ได้น้ำนมจึงเคี้ยวหัวนมแม่ ส่งผลให้หัวนมแตก จนเกิดบาดแผลและมีเลือดออก

การป้องกันหัวนมแตก

  1. เริ่มต้นให้ลูกดูดอย่างถูกวิธี โดยต้องอุ้มลูกชิดตัวแนบกับท้อง ให้แก้ม จมูก และคางของลูกสัมผัสกับเต้านม
  2. ไม่ดึงหัวนมออกจากปากลูกขณะที่ลูกยังออกแรงดูดอยู่ทันที ควรค่อยๆ ปลดหัวนมออกเบาๆ ใช้นิ้วช่วยโดยค่อยๆ ใส่นิ้วเข้าไปแทนที่ แล้วค่อยดึงหัวนมออก
  3. คุณแม่ไม่ควรล้างเช็ดทำความสะอาดเต้านมและหัวนมมากจนเกินไป หลีกเลี่ยงการใช้สบู่หรือครีมทาที่หัวนม
  4. ระวังอย่าให้เต้านมคัด เพราะเมื่อลูกดูดนมไม่ออกลูกก็จะใช้ความพยายามจนอาจทำให้ท่าดูดนมผิดปกติจนหัวนมแม่แตก ถ้าเต้านมแม่คัดให้บีบน้ำนมออกเล็กน้อยก่อน เมื่อเต้านมเริ่มนิ่มขึ้นจึงค่อยให้ลูกเข้าเต้า
  5. สลับเต้าให้ลูกดูดจากข้างที่เจ็บน้อยกว่าก่อน แต่ถ้าเจ็บทั้งสองข้างเท่ากันควรหาผ้าชุบน้ำอุ่นๆ มาประคบและนวดเต้านมเบาๆ
  6. หากเจ็บมากจนทนไม่ไหว สามารถพักเต้าด้วยการเปลี่ยนเป็นการบีบหรือปั๊มนมให้ลูกแทน ซึ่งถือว่าเป็นวิธีที่รักษาการผลิตน้ำนมให้มีอยู่ เมื่อหายเจ็บค่อยกลับมาให้ลูกดูดนมจากเต้าเหมือนเดิม
  7. ลดเวลาดูดนมของลูกให้สั้นลง เหลือครั้งละประมาณ 10-15 นาที ทุกๆ 1-2 ชั่วโมง
  8. หากแม่มีอาการเจ็บหัวนมอย่างรุนแรง หรือหัวนมแตกจนมีเลือดไหล ควรหยุดให้นมข้างที่มีเลือดไหล และรีบไปปรึกษาแพทย์ เพื่อรับคำแนะนำที่ถูกต้องหรือรักษาจนหาย เพื่อกลับมาให้นมลูกอีกครั้งได้เร็วที่สุด

ปัญหาท่อน้ำนมอุดตัน

การที่น้ำนมไหลไม่สะดวกเนื่องจากท่อส่งน้ำนมบางส่วนอุดตัน ทำให้มีน้ำนมค้างอยู่ในเต้านม ไม่สามารถให้นมได้ เต้านมจะมีความผิดปกติต่างๆ เช่น แข็งเป็นก้อน กดแล้วเจ็บ หรืออาจบวมแดง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วอาจไม่ได้เป็นทั่วทั้งเต้านม และบางกรณีหัวนมและลานหัวนมอาจมีลักษณะผิดรูปไป หรือมีเส้นเลือดบริเวณเต้านมปูดขึ้น บางครั้งมีจุดสีขาวที่หัวนมที่เรียกว่า (White dot)

สาเหตุของท่อน้ำนมอุดตันมาจากหลายปัจจัย ดังนี้

  1. ลูกดูดนมไม่เกลี้ยงเต้า
  2. คุณแม่ปล่อยให้น้ำนมค้างในเต้าเป็นเวลานาน
  3. คุณแม่มีน้ำนมมากเกินไป
  4. แม่สวมเสื้อชั้นในที่คับแน่นจนเกินไป จนน้ำนมไหลเวียนไม่สะดวก
  5. แม่ใส่เสื้อชั้นในหลวมเกินไป จนเต้านมหย่อนคล้อยและไปกดทับท่อส่งน้ำนม
  6. การที่แม่รับประทานอาหารที่ไขมันสูง

การป้องกันท่อน้ำนมอุดตัน

  1. ประคบเต้านมด้วยผ้าอุ่นประมาณ 5-10 นาที ก่อนให้นมลูก
  2. ให้ลูกดูดจากเต้าที่อุดตันก่อน เนื่องจากเวลาหิวลูกจะมีแรงดูดมาก
  3. ให้ลูกดูดนมบ่อยขึ้นวันละ 8-12 ครั้ง โดยดูดข้างละประมาณ 15-20 นาที
  4. จัดท่าให้ดูดนมโดยให้คางลูกชี้ไปที่ส่วนเป็นก้อน เพื่อลิ้นของลูกจะได้ช่วยรีดน้ำนมบริเวณที่เป็นก้อนได้ดีขึ้น
  5. ขณะลูกดูดนม ให้แม่นวดเต้านมเบาๆ ไปด้วย ไล่จากบริเวณที่อุดตันไปจนถึงหัวนม เพื่อช่วยดันส่วนที่เป็นก้อนให้นิ่มลง
  6. ประคบเย็นหลังให้นมลูก เพื่อลดอาการปวดและบวม
  7. เลือกใส่เสื้อชั้นในที่พยุงเต้านม ไม่หลวมหรือรัดแน่นเกินไป
  8. รับประทานยาแก้ปวดในกรณีที่ปวดมาก หากไม่ดีขึ้นใน 24 ชั่วโมงควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างถูกวิธี

ปัญหาเต้านมอักเสบ

จะเริ่มจากการคัดตึงเต้านม คลำพบก้อนแข็งและตึง เมื่อกดจะรู้สึกเจ็บและปวดกระจายไปทั่วเต้านม ซึ่งนำไปสู่ภาวะเต้านมบวมแดง โดยคุณแม่จะอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ และอาจมีไข้สูงเกินกว่า 38 องศาเซลเซียส

สาเหตุ เพราะคุณแม่ปล่อยให้มีน้ำนมเก่าค้างในเต้านม หรือมีปัญหาท่อน้ำนมอุดตันจากสาเหตุอื่นๆ จนมีเชื้อโรคเข้าสู่เต้านมก่อให้เกิดการอักเสบและติดเชื้อผ่านทางแผลบริเวณรอยแตกที่หัวนม
การป้องกัน
  1. ลดปัญหาน้ำนมค้างเต้าโดยอดทนให้ลูกดูดนมนานขึ้นอย่างน้อยข้างละ 15-20 นาที ให้ดูดบ่อยๆ วันละ 8-12 ครั้ง
  2. ให้ลูกดูดจากเต้าที่มีปัญหาก่อน แรงดูดขณะหิวจะช่วยให้น้ำนมในข้างที่มีปัญหาระบายออกมา
  3. ใช้วิธีปั๊มนมป้อนลูกแทนการให้ดูดนมประมาณ 3-4 มื้อ จนคุณแม่รู้สึกดีจึงกลับมาให้นมอีกครั้ง
  4. หากพักการให้นมระยะหนึ่งแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์หรือปรึกษาคลินิกนมแม่เพื่อขอคำแนะนำหรือดูอาการ เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป

ปัญหาน้ำนมน้อย

ธรรมชาติคุณแม่เพิ่งคลอดที่มีสุขภาพแข็งแรง จะสามารถผลิตน้ำนมได้พอเพียงต่อทารกแรกเกิด ให้ร่างกายได้เจริญเติบโตตามวัย รวมถึงมีสารอาหารจำเป็นที่ดีต่อพัฒนาการของลูกน้อยพร้อมอยู่แล้ว แต่สำหรับคุณแม่บางท่านที่มีน้ำนมออกมาน้อย จริงๆ อาจมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย

  1. คุณแม่ให้ลูกดูดนมครั้งแรกหลังคลอดช้าเกินไปกว่าความเป็นจริงที่ควรจะเป็น เช่น ต้องให้ภายใน 30 นาทีแรก หรือมากกว่า 2 - 3 วันหลังทารกคลอด ทำให้กระบวนการกระตุ้นการสร้างน้ำนมไม่มีประสิทธิภาพ
  2. ลูกน้อยดูดนมด้วยวิธีที่ผิด อมหัวนมได้ไม่ลึกถึงฐานหัวนม ทำให้แรงในการดูดนมเกิดขึ้นได้น้อย น้ำนมไม่ออกมา
  3. คุณแม่ให้ลูกดูดนมไม่บ่อยพอ หรือน้อยกว่าวันละ 8 ครั้ง
  4. มีการให้นมผง น้ำ หรืออาหารเสริมก่อน 6 เดือน ทำให้ลูกอิ่มจึงไม่ยอมดูนมแม่ต่อ
  5. คุณแม่ที่ต้องทำงาน อาจมีการปั๊มนมทิ้งระยะห่างนานไป เกินกว่า 3 – 4 ชั่วโมง หรือการปั๊มแต่ละครั้งจำนวนน้อยไป
  6. คุณแม่พักผ่อนไม่เพียงพอ มีความเครียด รวมถึงพยายามลดความอ้วนด้วยการรับประทานอาหารน้อยเกินไป
  7. คุณแม่รับประทานทานยาเม็ดคุมกำเนิดบางชนิด ในช่วง 6 เดือนแรกหลังคลอด

วิธีเพิ่มน้ำนมสำหรับคุณแม่มือใหม่ สำหรับคุณแม่มือใหม่ที่อยากมีน้ำนมมากขึ้น ควรปฏิบัติดังนี้

  1. หลังคลอดลูกควรให้ลูกดูดนมเลยใน 30 นาทีแรก เพื่อเป็นการกระตุ้นน้ำนมครั้งแรก
  2. ให้เอาลูกเข้าเต้าอย่างถูกวิธี โดยให้ลูกอมหัวนมได้ลึกพอ เพื่อมีแรงดูดนมออกมา และได้จำนวนเพียงพอ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายคุณแม่สร้างน้ำนมออกมาอย่างสม่ำเสมอ
  3. ให้ลูกดูดนมนานขึ้นและบ่อยขึ้น โดยไม่ควรน้อยกว่าวันละ 8 ครั้ง
  4. คุณแม่ที่ต้องออกไปทำงาน ควรปั๊มนมออกให้หมดเต้าทุกๆ 3 ชั่วโมง เพื่อช่วยกระตุ้นการสร้างน้ำนมให้มากขึ้น
  5. ใช้ผ้าอุ่นประคบเต้านม หรือนวดเต้านมเบาๆ ก่อนและขณะที่กำลังให้ลูกดูดนม จะช่วยทำให้น้ำนมไหลได้ดีขึ้น
  6. งดการให้นมผสมหรืออาหารเสริมในช่วงอายุ 6 เดือนแรก เพราะน้ำนมแม่เพียงพอที่จะเลี้ยงให้ลูกน้อยเติบโตตามวัย โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งอาหารจากที่อื่น
  7. หากพบปัญหา ลูกมักจะหลับขณะดูดนม คุณแม่ควรพยายามให้ลูกดูดนมต่อด้วยการขยับเต้านม จากนั้นบีบน้ำนมเข้าปากลูกช้าๆ จนกว่าลูกจะคายปากออกเองเพราะอิ่มแล้ว
  8. หลีกเลี่ยงความเครียดต่างๆ โดยเฉพาะคุณแม่ที่คิดไปเองว่ามีน้ำนมไม่เพียงพอจะเลี้ยงลูกน้อย
  9. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ งดอาหารไขมันสูง เน้นผักผลไม้ และดื่มน้ำมากๆ ไม่ควรอดอาหารหรือทำการลดน้ำหนักอย่างเด็ดขาด
  10. การนวดเต้านมอย่างถูกวิธี จะช่วยกระตุ้นให้น้ำนมไหลดีได้เช่นกัน เริ่มต้นด้วยการใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบทิ้งไว้ประมาณ 3-5 นาที จากนั้นใช้นิ้วโป้ง นิ้วชี้ และนิ้วกลาง วางลงบนเต้านม ค่อยๆ คลึงเป็นวงกลมเบาๆ จากบริเวณฐานเต้านมไปจนใกล้หัวนม

สำหรับคุณแม่ที่ยังกังวลว่ามีนมให้ลูกกินอิ่มหรือไม่ สามารถสังเกตได้โดยดูว่าลูกน้อยนอนหลับง่าย ไม่ร้องกวนบ่อย ยิ้มเล่นตามวัย และมีน้ำหนักขึ้นตามเกณฑ์ เมื่อลูกน้อยมีความสุขคุณแม่ก็ไม่เครียด ร่างกายสามารถสร้างน้ำนมให้แก่ลูกได้อย่างสม่ำเสมอจนกว่าลูกจะเติบโตและกินอาหารอื่นๆ ได้ต่อไป

แต่อย่างไรก็ดี คุณแม่เองต้องพยายามสังเกตและแยกให้ออกด้วยว่า บางครั้งลูกอาจดูดนมจนอิ่มและหลับระหว่างดูดนม เมื่อตื่นมาก็ร้องไห้โยเย แต่คุณแม่กลับคิดว่าลูกดูดนมไม่อิ่ม จึงกลายเป็นความวิตกกังวล และทำให้น้ำนมไม่มา

ต้องให้ลูกกินนมแม่นานแค่ไหน

มีงานวิจัยมากมายสนับสนุนว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพทารกที่สุด ทั้งลดความเสี่ยงการติดเชื้อในหูและปอดของทารก ลดภาวะหอบหืด ผื่นผิวหนัง โรคเบาหวาน รวมถึงสามารถลดความเสี่ยงทารกเสียชีวิตเฉียบพลัน ลดความเสี่ยงโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือธาลัสซีเมีย มีคำแนะนำจากสถาบันกุมารเวชศาสตร์อเมริกัน* ว่าลูกน้อยควรบริโภคแต่นมแม่เพียงอย่างเดียวจนกว่าจะมีอายุ 6 เดือน หลังจากนั้นสามารถเสริมอาหารอ่อนของทารกควบคู่ไปกับการให้นมแม่ต่อไปจนทารกอายุ 1 ขวบ หรือแล้วแต่ความพร้อมและความสะดวกของคุณแม่และลูกน้อย

ลูกต้องกินนมแม่ปริมาณเท่าไหร่ ถึงจะพอดี
มีหลายสาเหตุที่อาจทำให้ลูกน้อยไม่ยอมดูดนมในช่วงเริ่มต้น เนื่องจากทารกเพิ่งคลอดกำลังเรียนรู้ที่จะดูดนมจากเต้าของคุณแม่ คุณแม่จำเป็นต้องไม่ยอมแพ้ที่จะพยายามให้นมลูกทันทีหลังคลอดหรือภายในไม่เกิน 30 นาที ซึ่งถือเป็นช่วงนาทีทองในการสร้างน้ำนม นอกจากนี้ในช่วง 2-3 วันแรกหลังคลอด คุณแม่ควรให้ลูกดูดทุกๆ 2-3 ชั่วโมง หรือตามความต้องการของลูก จะช่วยกระตุ้นการสร้างน้ำนม ให้คุณแม่สามารถผลิตน้ำนมได้อย่างสม่ำเสมอ และช่วยป้องกันเต้านมคุณแม่คัดได้อีกด้วย และเมื่อกลับบ้านคุณแม่ควรเรียนรู้ที่จะนำลูกเข้าเต้าให้ถูกวิธี โดยกอดลูกให้ชิดตัว จากนั้นต้องให้ลูกน้อยเปิดปากกว้าง และอมหัวนมให้ลึกกระชับจนเหงือกกดบนลานหัวนม เมื่อลูกเริ่มดูด น้ำนมคุณแม่ก็ไหลพุ่งออกมาได้ดี โดยควรให้ลูกดูดนมจนเกลี้ยงเต้าแล้วจึงเปลี่ยนให้ดูดอีกข้างจนหมดเต้าเช่นกันดูดนานและบ่อยแค่ไหน จึงเพียงพอ
ลูกน้อยควรได้ดูดนมคุณแม่บ่อยและนานเท่าที่ลูกต้องการ โดยคุณแม่สามารถสังเกตว่าลูกหิวนมแล้วด้วยการที่ลูกน้อยส่ายหน้าไปมาคล้ายมองหาเต้านม ทำปากเหมือนกำลังดูดนม เอามือถูปาก ซึ่งไม่ควรรอจนลูกหิวจัดแล้วร้องไห้จ้าออกมา เพราะจะทำให้การดูดของทารกเป็นไปได้ยากขึ้น ทั้งนี้คุณแม่ควรให้ลูกดูดนมนานเท่าที่ลูกต้องการ จนกว่าลูกจะมีท่าทางว่าอิ่มแล้ว โดยการดูดเบาลง หรือคายหัวนมออก ซึ่งคุณแม่ควรอุ้มลูกพาดบ่าให้เรอแล้วจึงนำลูกดูดนมอีกข้าง หากลูกไม่ยอมดูด คุณแม่อาจใช้วิธีปั๊มนมอีกข้างออก ทารกแรกเกิดใน 6 สัปดาห์แรกอาจต้องการดูดนมมากถึงวันละ 8-12 ครั้ง หรือทุกๆ 2-3 ชั่วโมง จากนั้นจะลดจำนวนครั้งและระยะเวลาลง โดยทั่วไปแล้วใช้เวลากินนมจากเต้าข้างละ 10-20 นาที ดูดทุก 3-4 ชั่วโมงสัญญาณบ่งบอกว่าลูกน้อยได้รับน้ำนมเพียงพอ ช่วงเดือนแรกลูกจะกินนมวันละ 8-12 ครั้ง หลังจากนั้นลดความถี่ลงประมาณ 6-10 ครั้งต่อวัน
  • ลูกน้อยควรฉี่ออกอย่างน้อย 6 ครั้งต่อวัน รวมถึงอึอย่างน้อย 2 ครั้งต่อวัน
  • ลูกน้อยดูมีท่าทางพอใจ เมื่อใกล้เวลาดูดนมสิ้นสุด
  • เมื่อผ่านไป 2 สัปดาห์ ลูกควรมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น และมีผิวพรรณเปล่งปลั่ง
  • ลูกดูดนมมีจังหวะและออกแรงที่ไม่ทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บมากเกินไป
  • คุณแม่จะรู้สึกว่าเต้านมโล่งเบาขึ้นหลังลูกดูดนมเสร็จแล้ว

สัญญาณที่กำลังบอกว่าลูกได้รับนมไม่เพียงพอ

  • ลูกร้องไห้กวนตลอดเวลา บางครั้งอาจมีอาการหงุดหงิดหลังจากกินนมแล้ว
  • ลูกดูดนมไม่ถูกวิธี โดยสังเกตได้จากลูกดูดเสียงดัง หรือไม่ได้ยินเสียงกลืนขณะกินนม
  • ปัสสาวะน้อย และมีสีเหลืองเข้ม

หากคุณแม่มีความวิตกกังวลว่าลูกน้อยจะได้รับน้ำนมไม่เพียงพอ อาจใช้วิธีให้ลูกดูดนมบ่อยขึ้น โดยควรอุ้มลูกไว้แนบตัว ซึ่งหากลูกน้อยยังต้องการดูดนมอีกจะหันหน้าเข้าหาเต้านมคุณแม่เอง แต่ถ้าคุณแม่พบว่าลูกน้อยยังดูหงุดหงิด งอแง เหมือนดูดนมไม่อิ่ม แม้จะให้นมอย่างถูกวิธี บ่อยและนานขึ้นแล้วก็ตาม ควรต้องรีบปรึกษากุมารแพทย์ หาสาเหตุลูกดูดนมไม่อิ่มหรือได้น้ำนมไม่เพียงพอ จะได้แก้ไขและให้นมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ท่าให้นมที่ถูกต้อง

ท่าให้นมที่ถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ มี 4 ท่า คือ ท่าอุ้มนอนขวาง ท่าประยุกต์ลูกนอนขวางบนตัก ท่าอุ้มลูกฟุตบอล ท่านอนตะแคง คุณแม่สามารถเลือกและปรับท่าให้นมใช้ตามความเหมาะสมและทำให้รู้สึกว่าตัวเองอยู่ในท่าที่สบายที่สุด เพราะจะทำให้ลูกได้รับน้ำนมได้ปริมาณที่เพียงพอ

1.

อุ้มนอนขวาง ท่านี้เป็นท่าพื้นฐานและเป็นท่าที่นิยมที่สุดของแม่ๆ โดย

  • เลือกเก้าอี้ที่นั่งแล้วสบาย มีพนักพิงรองรับแผ่นหลังและมีที่พักแขน ทำให้ไม่ต้องเกร็งและไม่เมื่อย
  • นั่งตัวตรง จากนั้นอุ้มลูกนอนในแนวขวาง ตะแคงลูกเข้าหาเต้านม จัดหน้าอกของลูกน้อย และคุณแม่ให้อยู่ชิดกัน
  • เอามืออีกข้างหนึ่งพยุงเต้านม
  • วางศีรษะลูกให้อยู่บนข้อพับแขน ปลายแขนประคองหลัง และเอามือช้อนก้นลูกไว้
     
2.

ท่าประยุกต์ลูกนอนขวางบนตัก เหมาะกับการให้ลูกอมหัวนม ควบคุมการเคลื่อนไหวของศีรษะลูกได้

  • เลือกเก้าอี้นั่งสบายที่มีท้าวแขน และพนักพิงรองรับแผ่นหลังได้เป็นอย่างดี
  • นั่งตัวตรงและอุ้มลูกนอนขวาง ตะแคงเข้าหาเต้านม จัดหน้าอกของลูกน้อยและคุณแม่ให้แนบ ชิดกัน
  • ท่านี้จะเหมือนกับท่าที่ 1 แค่เปลี่ยนมือ ใช้มือข้างเดียวกับเต้านมที่ลูกดูดประคองเต้านม
  • มืออีกข้างหนึ่งรองต้นคอและท้ายทอยลูก
     
3.

ท่าอุ้มฟุตบอล คุณแม่ผ่าคลอดจะเหมาะกับท่านี้ และเหมาะกับแม่ที่ให้นมลูกแฝด 2 คนพร้อมกัน

  • นั่งเก้าอี้ที่มีความสะดวกสบาย
  • หาหมอนวางข้างตัว จากนั้นวางลูกนอนลงบนหมอน
  • เอาฝ่ามือประคองหลังและบ่าของลูก ใช้ปลายแขนรองแผ่นหลัง
  • สอดขาของลูกไว้ที่ใต้แขน ให้ลูกนอนโดยใบหู ไหล่ สะโพก อยู่แนวเส้นตรงเดียวกัน เหมือน ถือลูกฟุตบอล
     
4.

ท่านอนตะแคง สำหรับคุณแม่มีรอยแผลเย็บที่ยังเจ็บอยู่ ท่านี้ เป็นท่าที่สบายที่สุด

  • นอนตะแคงในท่าที่คุณแม่รู้สึกสบาย งอเข่าเล็กน้อย หาหมอนมาหนุนศีรษะให้สูงพอประมาณ
  • วางลูกลงบนฟูก จับหันหน้ามาทางคุณแม่
  • ดันตัวแม่เองขึ้นด้วยศอก ประคองต้นคอลูกน้อยด้วยมืออีกข้างเพื่อให้นม
  • พอลูกเริ่มดูดนมได้ดี ค่อยๆนอนราบลงไป

ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการนวดนม

เมื่อเกิดปัญหาการให้นมลูก คุณแม่ส่วนใหญ่ที่มีเวลาลาพักเลี้ยงลูกเองที่บ้านมักค้นหาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ แทนการปรึกษาแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีการแชร์ความเชื่อในโลกออนไลน์เกี่ยวกับการแก้อาการนมคัดด้วยการนวดเต้านมอย่างไม่ถูกวิธี รวมถึงการเสนอแนะให้ใช้อุปกรณ์เจาะท่อน้ำนมขณะนวด เพื่อแก้ปัญหาท่อน้ำนมอุดตันที่เชื่อกันว่าเป็นเหตุทำให้นมคัด ซึ่งแทนที่จะช่วยแก้ปัญหากลับกลายเป็นปัญหาที่หนักและซับซ้อนขึ้น อาจทำให้เกิดการติดเชื้อเข้าสู่เต้านม บางกรณีอาจถึงกับสร้างปัญหาใหม่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายต่อเต้านมตามมาในที่สุด

เทคนิคนวดนมเมื่อนมคัด
หลักการที่จะทำให้คุณแม่ที่มีปัญหาเต้านมคัด สามารถเพิ่มการสร้างน้ำนมได้มากขึ้น นอกจากการให้ทารกดูดนม และการบีบน้ำนมออกจากเต้าแล้ว การนวดนมถือเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยเพิ่มการสร้างน้ำนมและลดภาวะนมคัดได้ ทั้งนี้จำเป็นต้องศึกษาการนวดอย่างถูกวิธี เบามือ และรู้สึกผ่อนคลายขณะนวด ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของระบบน้ำเหลืองและน้ำนม ให้ทำหน้าที่อย่างเหมาะสมสอดคล้องกัน เพื่อเปิดทางให้น้ำนมไหลสะดวกหนึ่งในการนวดลดภาวะนมคัดที่ได้ผล คือการนวดแบบ TBML ซึ่งย่อมาจาก Therapeutic Breast Massage in Lactation การนวดดังกล่าวเป็นงานวิจัยของดร.แอนน์ วิตต์ (Dr.Ann Witt) ผู้ก่อตั้ง Breastfeeding Medicine of Northeastern Ohio ร่วมกับมายา โบลแมน (Maya Bolman) พยาบาลผู้ชำนาญศาสตร์การนวดแบบรัสเซียผสมผสานหลักการของระบบต่อมน้ำเหลือง (lymphatic system) ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นการนวดที่ช่วยแก้ปัญหานมคัด และท่อน้ำนมอุดตันอย่างได้ผลจากทั่วโลกการนวดแบบ TBML เป็นเทคนิคการนวดบีบน้ำนมด้วยมืออย่างแผ่วเบาที่เต้านม โดยเน้นการลูบไปทางต่อมน้ำเหลืองที่ฝังบนผิวหนังบริเวณส่วนต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ลึก จึงไม่จำเป็นต้องลงน้ำหนักมากเกินไป หลังจากการนวดแล้ว ควรมีการประคบเย็นเพื่อช่วยลดอาการบวมวิธีนวดแก้อาการเต้านมคัดอย่างง่ายด้วยตัวเอง
  1. คุณแม่นั่งหรือยืนในท่าที่สบาย จากนั้นเริ่มนวดบริเวณบ่าด้วยมือทั้งสองข้าง
  2. ขยับไหล่ไปมาให้เลือดไหลเวียน แล้วเลื่อนมือลงมา โดยให้ฝ่ามืออยู่บริเวณรักแร้ เริ่มนวดคลึงด้วยการลงน้ำหนักที่ปลายนิ้ว กดไล่จากรักแร้มายังบริเวณลานนม เลื่อนฝ่ามือมาจนถึงหน้าอกด้านบน กดไล่ลงมาที่ลานนม
  3. ตบเบาๆ บริเวณเต้านม โดยใช้ปลายนิ้วช้อนใต้เต้านม แล้วตบจากด้านล่างขึ้นข้องบน
  4. ใช้ปลายนิ้วกดนวดเป็นวงกลมบริเวณรอบๆ เต้านม ถ้าพบว่ามีก้อนแข็ง ให้นวดคลึงเบาๆ เพื่อลดอาการแข็งตึง
  5. วางนิ้วชี้ลงบนหน้าอกทั้งสองข้าง ค่อยๆ กดลงบนเต้านมแล้วลากนิ้วทั้งสองออกจากกัน ทำไปเรื่อยๆ จนรอบเต้านม
  6. โอบรอบเต้านมโดยใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้ของมือทั้งสองข้าง กดมือทั้งสองเข้าหากัน
  7. กดปลายนิ้วชี้และคลึงเบาๆ โดยรอบของขอบลานนม
  8. ใช้นิ้วชี้และนิ้วโป้งวางลงบนขอบลานนมโดยให้หัวนมอยู่ตรงกลาง แล้วบีบนิ้วทั้งสองเข้าหากันเพื่อระบายน้ำนม

การนวดนมอย่างอ่อนโยนและเบามือสามารถช่วยให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลาย และแก้ปัญหานมคัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่จำเป็นต้องใช้สิ่งแปลกปลอมเจาะทางรูเปิดของท่อน้ำนมตามที่แชร์กันในโซเชียลมีเดีย นอกจากจะไม่ทำให้นมหายคัด ยังอาจทำให้เต้านมอักเสบ ติดเชื้อ จนกลายเป็นปัญหาตามมา ไม่ควรเชื่อบทความที่ส่งต่อกันโดยไม่มีการศึกษาหรืองานวิจัยที่ได้มาตรฐานรองรับอย่างเด็ดขาด เพื่อป้องกันอันตรายแทรกซ้อนที่อาจเกิดเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?