นอนกรน จุดเริ่มต้นมฤตยูเงียบ

HIGHLIGHTS:

  • การนอนกรน ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ทำให้เสี่ยงที่จะเป็นโรคความดันโลหิตสูง ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหัวใจขาดเลือด ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน และโรคของหลอดเลือดในสมอง
  • Sleep laboratory หรือ Sleep Test เป็นการตรวจคุณภาพในการนอนว่าหลับได้ดีหรือหลับได้สนิทหรือไม่ หยุดหายใจขณะหลับหรือไม่ ระดับออกซิเจนในเลือดเป็นอย่างไร เพื่อดูอาการโดยรวมว่ารุนแรงมากน้อยเพียงใด
  • อาการนอนกรนสามารถรักษาด้วย การลดน้ำหนัก ออกกำลังกาย ปรับท่านอน หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การใช้เครื่องมือช่วยหายใจ การใช้เครื่องมือทางทันตกรรม และการผ่าตัด
นอนกรน จุดเริ่มต้นมฤตยูเงียบ

การนอนกรน นั้นอาจเป็นเพียงแค่เสียงกรนรบกวนธรรมดา หรือเป็นสัญญาณเตือนภัยถึงภาวะอันตรายที่คนทั่วไปไม่เคยนึกถึงหรือทราบมาก่อน

ชนิดของความผิดปกติในการนอนกรน

  1. การนอนกรนธรรมดา (primary snoring)
    ไม่อันตราย เพราะไม่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย
  2. ภาวะก้ำกึ่งระหว่าง กรนธรรมดา และกรนอันตราย (upper airway resistance syndrome) หรือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย (obstructive sleep apnea)
    มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วยซึ่งจัดเป็นชนิดที่อันตราย เพราะเมื่อหลับสนิทจะเกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจ จะมีเสียงกรนที่ไม่สม่ำเสมอ โดยจะมีช่วงที่กรนเสียงดังและค่อยสลับกันเป็นช่วงๆ จะกรนดังขึ้นเรื่อยๆ และจะมีช่วงหยุดกรนไปชั่วระยะหนึ่ง คล้ายการกลั้นหายใจ ช่วงที่หยุดหายใจนี้จะทำให้เกิดอันตรายเนื่องจากระดับออกซิเจนในเลือดแดงจะลดต่ำลง ร่างกายจะมีกลไกตอบสนองต่อภาวะนี้โดยสมองจะถูกกระตุ้นให้ตื่นขึ้นเพื่อหายใจใหม่ โดยมีอาการสะดุ้งเฮือก หรืออาการเหมือนสำลักน้ำลายตนเอง หรือหายใจอย่างแรงเหมือนขาดอากาศ ดังนั้นคนที่นอนกรนจึงตื่นขึ้นมาด้วยความรู้สึกเหมือนนอนไม่พอ แม้ว่าจะนอนเป็นจำนวนชั่วโมงที่มากพอก็ตาม รวมทั้งยังเป็นผลเสียต่อสุขภาพโดย มีโอกาสเสี่ยงมากขึ้นที่จะเป็นโรคความดันโลหิตสูง ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหัวใจขาดเลือด ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน และโรคของหลอดเลือดในสมอง

ปัจจัยที่ทำให้เกิดการนอนกรนได้มากขึ้นหรือรุนแรงขึ้น

  • อายุมาก ทำให้เยื่อและกล้ามเนื้อของทางเดินหายใจบริเวณลำคอ เช่น ผนังด้านข้างของช่องคอ ลิ้นไก่ เพดานอ่อน ลิ้น หย่อนยานและขาดความตึงตัว ทำให้ตกไปขวางทางเดินหายใจได้ง่าย
  • เพศชาย จะกรนมากกว่าเพศหญิงเนื่องจากเชื่อว่าฮอโมนเพศหญิงมีส่วนทำให้กล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ขยายช่องทางเดินหายใจมีความตึงตัวที่ดี
  • ความอ้วน ทำให้มีไขมันสะสมที่ด้านข้างของช่องลำคอมากขึ้น ทำให้ช่องทางเดินหายใจแคบลง
  • ภาวะใดที่ทำให้จมูกคัดแน่น จะทำให้การหายใจติดขัด และลำบากมากขึ้น เช่น ผนังกั้นโพรงจมูกคด เยื่อบุจมูกอักเสบและเนื้องอกในจมูก เป็นต้น
  • ลักษณะโครงสร้างของกระดูกใบหน้า คนที่มีคางเล็กหรือกระดูกแก้มแบนจะมีผลทำให้ช่องทางเดินหายใจบริเวณลำคอแคบ
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยานอนหลับ จะทำให้กล้ามเนื้อที่เปิดช่องทางเดินหายใจอ่อนแรง ทำให้เกิดภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นได้ง่ายขึ้นและมีผลกดการทำงานของสมอง ทำให้สมองตื่นขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อภาวะการขาดออกซิเจนได้ช้า ซึ่งส่งผลเสียต่อร่างกายได้ เมื่อเกิดภาวะการหยุดหายใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลเสียต่อสมองและหัวใจ
  • การสูบบุหรี่ ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของระบบทางเดินหายใจแย่ลง
  • กรรมพันธุ์ พบว่าผู้ที่มีประวัติโรคนอนกรนในครอบครัว จะมีโอกาสเป็นโรคนอนกรนได้มากขึ้น

การตรวจการนอนหลับ

แพทย์เฉพาะทาง จะทำการตรวจค้นหาตำแหน่งการอุดกั้นของทางเดินหายใจที่ทำให้เกิดโรคนอนกรนโดยจะสอบถามเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่กล่าวมาก่อนหน้านั้น ในบางรายอาจมีการตรวจเอกซเรย์เพื่อหาตำแหน่งที่ตีบแคบของทางเดินหายใจส่วนบน แต่ถ้ามีภาวะหยุดหายใจร่วมด้วย แพทย์จะแนะนำให้ตรวจการนอนหลับที่เรียกว่า Polysomnography (การตรวจการนอนหลับในห้องปฏิบัติการ เรียกอีกชื่อได้ว่า Sleep laboratory หรือ Sleep Test) เป็นการตรวจคุณภาพในการนอนคืนนั้นเป็นอย่างไรหลับได้ดีหรือหลับได้สนิทหรือไม่ หยุดหายใจขณะหลับหรือไม่ ระดับออกซิเจนในเลือดเป็นอย่างไร เพื่อดูอาการโดยรวมรุนแรงมากน้อยเพียงใด

การรักษาการนอนกรน

  • การควบคุมน้ำหนักไม่ให้น้ำหนักเกินเกณฑ์
  • ออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง และกล้ามเนื้อแข็งแรงตื่นตัว
  • หลีกเลี่ยงการนอนหงาย โดยพยายามนอนท่าตะแคงข้างและนอนศีรษะสูงเล็กน้อย
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือยากล่อมประสาทก่อนนอน
  • การใช้เครื่องเป่าลมในทางเดินหายใจส่วนบน [continuous positive airway pressure (CPAP)]
  • การใช้เครื่องมือทางทันตกรรม (oral appliance) ช่วยยึดขากรรไกรบน และล่างเข้าด้วยกัน และเลื่อนขากรรไกรล่างมาทางด้านหน้า และป้องกันไม่ให้ลิ้นและขากรรไกรตกลงตามแรงโน้มถ่วงของโลก
  • การผ่าตัดรักษาการนอนกรน

การนอนกรนนั้น อาจเป็นสัญญาณ เบื้องต้นของอันตรายที่ซ่อนอยู่โดยท่านไม่รู้ คือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งสามารถรักษาได้ และช่วยลดปัญหาหรือความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ ดังนั้นหากท่าน หรือ คู่สมรส และบุตรหลานของท่าน นอนกรนดังมากเป็นประจำ ท่านควรเข้ามาพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำและ การรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป

สอบถามเพิ่มเติม

*โปรดระบุ

ชื่อ*
ชื่อ*
นามสกุล*
นามสกุล*
ประเภทคำถาม*
ประเภทคำถาม*
คำถามของคุณ*
คำถามของคุณ*
อีเมล*
อีเมล*

นอนกรน...ทำคนหยุดหายใจ ได้ด้วยเหรอ ? รับชม Facebook Live ที่ Samitivej Club คลิกที่นี่ โดย คุณหมอโอ๊ค นพ.สมิทธิ์ อารยะสกุล และ คุณหมอประพันธ์ กิตติวรวิทย์กุล แพทย์ผู้ชำนาญการด้านโรคระบบการหายใจ จะมาตอบทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับการนอนกรน 

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?