ครรภ์เป็นพิษ ภาวะอันตรายของคุณแม่ตั้งครรภ์

ครรภ์เป็นพิษ ภาวะอันตรายของคุณแม่ตั้งครรภ์

Highlight:

  • ครรภ์เป็นพิษ มักเริ่มหลังจากตั้งครรภ์ได้ 20 สัปดาห์ หากไม่ได้รับการรักษาอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ทั้งแม่และลูก 
  • อาการครรภ์เป็นพิษ ที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรระวัง ได้แก่ ความดันโลหิตสูง โปรตีนรั่วในปัสสาวะ ตัวบวม บริเวณใบหน้าและมือ เป็นต้น 
  • ปัจจุบันมีวิธีการตรวจหาความเสี่ยงของภาวะครรภ์เป็นพิษ ด้วยวิธีการตรวจแบบ Combine Screening Test ซึ่งสามารถทำการตรวจคัดกรองในช่วงอายุครรภ์ 11-13 สัปดาห์   
  • “การคลอด” คือการรักษาภาวะครรภ์เป็นพิษเพียงอย่างเดียวเท่านั้น โดยภาวะแทรกซ้อนต่างๆ จะหายไปเองหลังการคลอด 

ครรภ์เป็นพิษ คืออะไร

ครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia) เป็นภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์  อาจส่งผลให้เกิดความดันโลหิตสูง มีโปรตีนในปัสสาวะสูงซึ่งบ่งชี้ถึงความเสียหายของไตหรือสัญญาณความเสียหายของอวัยวะอื่นๆ  ภาวะครรภ์เป็นพิษมักเริ่มหลังจากตั้งครรภ์ได้ 20 สัปดาห์ หากไม่ได้รับการรักษาอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ทั้งแม่และลูก 

หากพบภาวะครรภ์เป็นพิษ แพทย์มักแนะนำให้คลอด ซึ่งระยะเวลาในการคลอดนั้นขึ้นอยู่กับความรุนแรงของภาวะครรภ์เป็นพิษและระยะเวลาการตั้งครรภ์ ทั้งนี้การรักษาภาวะครรภ์เป็นพิษจำเป็นต้องมีการเฝ้าสังเกตอย่างใกล้ชิด รวมถึงมีการใช้ยาเพื่อลดความดันโลหิตและจัดการกับภาวะแทรกซ้อน 

ภาวะครรภ์เป็นพิษอาจเกิดขึ้นภายหลังการคลอดบุตรได้ ซึ่งเป็นภาวะที่เรียกว่าภาวะครรภ์เป็นพิษหลังคลอด 

รู้ได้อย่างไรว่ากำลังเสี่ยง ครรภ์เป็นพิษ

คุณแม่ที่เคยมีภาวะครรภ์เป็นพิษ หรือความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์เมื่อตั้งครรภ์อีกครั้ง เนื่องจากมีโอกาสที่จะเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษอีกได้  

ในปัจจุบันมีวิธีการตรวจหาความเสี่ยงของภาวะครรภ์เป็นพิษ ด้วยวิธีการตรวจแบบ Combine Screening Test ซึ่งสามารถทำการตรวจคัดกรองในช่วงอายุครรภ์ 11-13 สัปดาห์ กรณีตรวจคัดกรองแล้วพบว่ามีโอกาสเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ ก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ แพทย์จะทำการวินิจฉัยและพิจารณาการรักษาต่อไป   

ครรภ์เป็นพิษเกิดจากสาเหตุใด / ปัจจัยเสี่ยงภาวะครรภ์เป็นพิษ

ภาวะครรภ์เป็นพิษอาจพบในคุณแม่ตั้งครรภ์ที่สุขภาพดี โดยมีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่  

  • เป็นการตั้งครรภ์ครั้งแรก เมื่ออายุน้อยกว่า 20 ปี หรือมากกว่า 35 ปี  
  • คุณแม่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน  
  • ตั้งครรภ์ลูกแฝดหรือมากกว่า 2 คน    
  • มีภาวะครรภ์เป็นพิษในการตั้งครรภ์ครั้งก่อน 
  • ครอบครัว เคยมีประวัติครรภ์เป็นพิษหรือโรคหลอดเลือดหัวใจ  
  • เป็นการตั้งครรภ์โดยใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์
  • มีภาวะเลือดแข็งตัวง่าย  
  • มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง ไต เบาหวาน โรคแพ้ภูมิตนเอง (SLE) ข้ออักเสบรูมาตอยด์ 

อาการครรภ์เป็นพิษ

สัญญาณแรกของภาวะครรภ์เป็นพิษมักถูกตรวจพบในระหว่างการเข้ารับการตรวจก่อนคลอดตามปกติ ดังนั้นการสังเกตอาการต่างๆ  ช่วยให้สามารถประเมินภาวะครรภ์เป็นพิษเบื้องต้น ดังนี้  

  • ภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์
  • ตรวจพบโปรตีนส่วนเกินในปัสสาวะ   หรือสัญญาณอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับภาวะไตมีปัญหา 
  • ระดับเกล็ดเลือดลดลง   
  • เอนไซม์ตับสูง บ่งบอกถึงภาวะตับมีปัญหา  
  • ปวดศีรษะอย่างรุนแรง 
  • การเปลี่ยนแปลงในการมองเห็น รวมถึงการสูญเสียการมองเห็นชั่วคราว ตาพร่ามัว หรือไวต่อแสง 
  • หายใจถี่ เกิดจากของเหลวในปอด 
  • ปวดท้องตอนบน มักอยู่ใต้ซี่โครงด้านขวา 
  • คลื่นไส้หรืออาเจียน 
  • น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว 
  • อาการบวมน้ำ  โดยเฉพาะใบหน้าและมือ  

วิธีการดูแลครรภ์เป็นพิษ

หากพบสัญาณเตือนหรือมีอาการต้องสงสัยว่าจะเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ คุณแม่ตั้งครรภ์ควรเข้ารับการตรวจอย่างละเอียด โดยเฉพาะอาการครรภ์เป็นพิษเริ่มแรก เช่น อาการปวดหัวอย่างรุนแรง ตาพร่ามัว หรือมีภาพรบกวนอื่นๆ ปวดท้องรุนแรง หรือหายใจลำบากอย่างรุนแรง   

“การคลอด” คือการรักษาภาวะครรภ์เป็นพิษเพียงอย่างเดียวเท่านั้น โดยภาวะแทรกซ้อนต่างๆ จะหายไปเองหลังการคลอด อย่างไรก็ตาม แพทย์ต้องพิจารณาหลายปัจจัยเพื่อความปลอดภัยก่อนทำคลอด เช่น สุขภาพของคุณแม่ ระยะเวลาการตั้งครรภ์ รวมถึงความรุนแรงของภาวะครรภ์เป็นพิษ   

หากยังไม่สามารถทำคลอดได้ทันที วิธีการดูแลครรภ์เป็นพิษ สามารถทำได้ ดังนี้ 

  • กรณีภาวะครรภ์เป็นพิษไม่รุนแรง คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถกลับบ้านได้ แต่ต้องพบแพทย์ตามนัดอย่างเคร่งครัด หากพบอาการรุนแรงขึ้นสามารถพบแพทย์ทันทีโดยไม่ต้องรอ 
  • นอนพักผ่อนให้มาก ๆ  
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ  
  • บางรายอาจต้องรับประทานยาลดความดันโลหิต  
  • สำหรับภาวะครรภ์เป็นพิษรุนแรง อาจจำเป็นต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล     

เมื่อครรภ์เป็นพิษทำให้ต้องยุติการตั้งครรภ์

หากพบภาวะครรภ์เป็นพิษรุนแรง แพทย์อาจพิจารณายุติการตั้งครรภ์ ในกรณีที่แพทย์เห็นว่า การดำเนินการตั้งครรภ์ต่อไปอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมารดาและทารกในครรภ์จากภาวะแทรกซ้อน ดังนี้ 

  • ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด เกิดจากการที่รกลอกหรือหลุดออกจากโพรงมดลูกก่อนทารกจะคลอด ส่งผลให้มีความเสี่ยงสูงที่มารดาจะมีเลือดออกอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นภาวะอันตรายถึงชีวิตทั้งทารกในครรภ์และมารดา 
  • กลุ่มอาการ HELLP (HELLP Syndrome)  ความผิดปกติเกี่ยวกับตับ เลือดและความดันโลหิตขณะตั้งครรภ์  จัดเป็นปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรง อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต เนื่องจากค่าตับอักเสบสูงขึ้น เม็ดเลือดแดงในหลอดเลือดแดงแตกและมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ โดยมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะและปวดท้องด้านขวาบน อย่างไรก็ตาม กลุ่มอาการ HELLP อาจเกิดขึ้นโดยไม่มีสัญญาณเตือนใด ๆ 
  • ภาวะชัก กรณีคุณแม่ตั้งครรภ์มีอาการป่วยรุนแรงจนไม่สามารถควบคุมจนมีภาวะชัก ซึ่งไม่สามารถระบุได้ว่าจะเกิดการชักเมื่อใด เนื่องจากไม่พบสัญญาณเตือนล่วงหน้าและเป็นอันตรายต่อแม่และทารกในครรภ์อย่างยิ่ง  

วิธีป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษ

แม้ภาวะครรภ์เป็นพิษจะไม่สามารถป้องกันได้แต่สามารถลดความเสี่ยงได้ ดังนี้ 

  • ฝากครรภ์และพบแพทย์ตามนัดหมายอย่างสม่ำเสมอ  
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน   
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ตามความเหมาะสมของอายุครรภ์ โดยปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เพื่อความปลอดภัย  
  • ทำจิตใจให้สงบ ไม่เครียดและนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 
  • ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์  
  • หลักฐานทางคลินิกที่ดีที่สุดในการป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษคือการใช้ยาแอสไพรินขนาดต่ำ ซึ่งแพทย์อาจแนะนำให้รับประทานแอสไพรินขนาด 150 มิลลิกรัมทุกวันก่อนอายุตั้งครรภ์ 16 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามคุณแม่ตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ โดยห้ามซื้อยาหรืออาหารเสริมมารับประทานเองโดยเด็ดขาด   

ปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุของภาวะครรภ์เป็นพิษได้อย่างแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการพัฒนาของรกที่ผิดปกติ ซึ่งคุณแม่ตั้งครรภ์ส่วนใหญ่มักไม่ทราบว่ามีภาวะครรภ์เป็นพิษ โดยอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายถึงชีวิตทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์ นอกจากนี้ภาวะแทรกซ้อนของครรภ์เป็นพิษยังส่งผลกระทบกับทารกโดยตรง ทำให้ทารกแรกคลอดน้ำหนักตัวน้อย และทารกคลอดก่อนกำหนด  ซึ่งการคลอดก่อนกำหนดอาจทำให้ทารกมีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจและสุขภาพด้านอื่นๆ

ประสบการณ์จากคุณแม่ ที่เสี่ยงจากภาวะครรภ์เป็นพิษ 

คุณริณดา จินดาหรา คุณแม่ที่พบความเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษและคลอดก่อนกำหนด โดยขณะที่เธอตั้งครรภ์ แพทย์ได้ตรวจพบเนื้องอกในมดลูกขนาด 10 ซม. นอกจากนี้ยังมีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษสูง แต่ท้ายที่สุดก็สามารถให้กำเนิดเจ้าตัวน้อยได้อย่างปลอดภัย… อะไรทำให้เธอผ่านอุปสรรคนี้ไปได้ ฟังประสบการณ์จริงจากคุณแม่คนเก่งได้ในวิดีโอนี้ 

 

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?