การดำน้ำเป็นกิจกรรมที่ปลอดภัย แต่ก็มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้ เนื่องจากมีปัจจัยมนุษย์ (Human factor) เข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้ง กฎ ระเบียบ การฝ่าฝืน การใช้อุปกรณ์ และสุขภาพ หากสามารถลดปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพได้ จะทำให้โอกาสเกิดอุบัติเหตุลดลง ซึ่งเป็นเหตุผลว่า ทำไมต้องตรวจสุขภาพก่อนการดำน้ำ
Robert Boyle นักวิทยาศาสตร์ ชาวไอริช ได้คิดค้น กฎของบอยล์ (Boyle's Law) ในปี ค.ศ. 1662 คือ ปริมาตรของก๊าซจะแปรผกผันกับความดันที่เพิ่มขึ้น คือถ้าแรงดันเพิ่มขึ้น ปริมาตรจะลดลง เช่น ปอดของคนเรามีความจุอากาศประมาณ 6 ลิตรที่ผิวน้ำ เมื่อลงไปที่ใต้น้ำความลึก 10 เมตร 20 เมตร และ 30 เมตร ปริมาตรของอากาศจะเหลือ 3 ลิตร 2 ลิตร และ 1.5 ลิตร ตามลำดับ ในทางกลับกันหากนำลูกโป่งที่มีปริมาตรอากาศ 3 ลิตรขึ้นจากน้ำทะเลลึก 30 เมตรมาถึงผิวน้ำ ปริมาตรอากาศจะขยายตัว 12 ลิตร หรือ 4 เท่า
การบาดเจ็บจากแรงดัน (Barotrauma)
แรงกดที่มีผลต่อนักดำน้ำประกอบด้วย 2 ส่วน คือ แรงดันบรรยากาศ (Atmospheric pressure) และน้ำหนักของน้ำที่อยู่เหนือตัวนักดำน้ำ (Hydrostatic pressure)
บนผิวน้ำทะเลจะมีแรงดันบรรยากาศเท่ากับ 1 ชั้นบรรยากาศ นับตั้งแต่ผิวน้ำจนสุดขอบอวกาศมีแค่ 1 แต่ทุกๆ ครั้งที่ลงไปใต้น้ำทุกๆ 10 เมตร แรงดันจะเพิ่มขึ้น 1 บรรยากาศ (แรงดันบรรยากาศ 1 + น้ำหนักของน้ำที่อยู่เหนือตัวนักดำน้ำ 1)
ดังนั้น แรงดันบนผิวน้ำ 1 บรรยากาศ เมื่อลงใต้น้ำ 10 เมตรก็จะกลายเป็น 2 บรรยากาศ ลงไป 20 เมตรก็เป็น 3 บรรยากาศ แรงดันที่เพิ่มขึ้นมีผลกับปริมาตรของก๊าซ คือความดันเพิ่มปริมาตรจะลดลง เช่น ปอดมีความจุ 6 ลิตรที่ผิวน้ำ หากกลั้นหายใจดำลงไปที่ 10 เมตร จาก 6 ลิตรจะเหลือ 3 ลิตร เพราะความดันจาก 1 บรรยากาศ เปลี่ยนเป็น 2 บรรยากาศ ถ้าดำลงไปอีกเป็น 20 เมตร แรงดันเท่ากับ 3 บรรยากาศ ความจุจะกลายเป็น 2 ลิตร กลับกันถ้าขึ้นจากน้ำลึก 30 เมตร แสดงว่าจากแรงดัน 4 บรรยากาศ ลดลงเหลือ 1 บรรยากาศเหนือผิวน้ำ ปริมาตรอากาศที่อยู่ในปอดจะขยายออกเป็น 4 เท่า หรือ 12 ลิตร ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บจากแรงดัน หรือ Barotrauma
การหดขยายของก๊าซทำให้เกิดการบาดเจ็บที่หูชั้นกลาง หรือในส่วนของร่างกายที่มีช่องอากาศ เช่น ปอด และไซนัส ฟัน (ในคนที่มีฟันผุหรืออุดฟัน) ตา ระบบทางเดินอาหาร ทั้งนี้ยังมีการบาดเจ็บจากแรงดันอื่นๆ เช่น Mask squeeze ทำให้เกิดรอยช้ำบริเวณหน้า ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของแรงดันทั้งสิ้น
การบาดเจ็บที่หูชั้นกลาง
Ear barotrauma หรือ Ear squeeze คือการบาดเจ็บจากแรงดันบริเวณหูชั้นกลางซึ่งพบมากถึง 60% หูชั้นกลางเปรียบเหมือนห้องที่มีหน้าต่างเพียงบานเดียว ซึ่งหน้าต่างมีท่อยูสเตเชียน (Eustachian tube) ต่อไปยังช่องคอ หากมีแรงดันเพิ่มขึ้น ปริมาตรของอากาศที่เปลี่ยนแปลงจะทำให้เยื่อแก้วหูมีการขยับ โดยปกติ บนผิวน้ำมีแรงดัน 1 บรรยากาศ ปริมาตรในช่องหูชั้นกลางมีเท่ากับ 1 เมื่อดำลงไป 10 เมตร ความดันกลายเป็น 2 เท่า ปริมาตรของหูชั้นกลางจะเล็กลง ดึงเยื่อแก้วหูเข้าไปด้านใน ทำให้มีอาการปวดหู กรณีดำน้ำลึกลงไปมากขี้น ความดันก็จะมากขึ้นตามไปด้วย ทำให้ปริมาตรของหูชั้นกลางเล็กลงอีก ซึ่งอาจทำให้มีเลือดออกในหูชั้นกลาง หรือเยื่อแก้วหูฉีกขาด
การบาดเจ็บที่ปอด (Pulmonary barotraumas)
ปอดเป็นช่องอากาศในร่างกายขนาดใหญ่ จุอากาศได้ประมาณ 6 ลิตร การบาดเจ็บที่เกิดขึ้นที่ปอดจากการดำน้ำ มี 2 ลักษณะ คือ
โรคจากการลดความดันบรรยากาศ หรือ โรคน้ำหนีบ (Decompression illness)
นอกจากกฎของบอยล์แล้ว ยังมีกฎของเฮนรี โดย William Henry นักเคมีชาวอังกฤษ พบว่าความสามารถในการละลายของก๊าซชนิดหนึ่งในของเหลว จะแปรผันตรงกับความดันที่กระทำเหนือของเหลวและก๊าซนั้น
พื้นฐานของโรคจากการลดความดันบรรยากาศ หรือ Decompression illness มาจากหลักการทางฟิสิกส์ ที่ว่า ก๊าซสามารถละลายในของเหลวได้ ถ้าความดันเพิ่มขึ้น ก๊าชก็จะละลายได้มากขึ้น เปรียบเหมือนกับน้ำอัดลมที่เอาคาร์บอนไดออกไซด์มาละลายในน้ำโดยการเพิ่มแรงดันแล้วปิดฝา ทำให้ก๊าซละลายในน้ำได้มากขึ้น ดังนั้นเมื่อเปิดฝา ก๊าซก็จะพุ่งออกมา
อากาศที่เราหายใจประกอบด้วยออกซิเจน เพื่อการดำรงชีพ 21% และไนโตรเจนซึ่งเป็นก๊าซเฉื่อยมากถึง 79% ที่ละลายอยู่ในร่างกาย เมื่อความดันเพิ่มขึ้นจากการดำลงใต้น้ำ ก๊าซไนโตรเจนที่ใช้หายใจใต้น้ำจะละลายเข้าสู่ร่างกายมากขึ้นตามระยะเวลาและความลึก เมื่อความดันลดลงขณะนักดำน้ำขึ้นสู่ผิวน้ำ หากขึ้นมาเร็วเกินไป ปริมาตรก๊าซไนโตรเจนที่ละลายอยู่ในเนื้อเยื่อและในเลือดมีมากกว่าปกติ ทำให้เกิดการรวมตัวกันเป็นฟองอากาศกระจายไปตามอวัยวะต่างๆ เรียกว่า โรคจากการลดความดันบรรยากาศ หรือ โรคน้ำหนีบ ฟองอากาศที่กล้ามเนื้อข้อต่อจะมีอาการปวด ถ้าเข้าสู่กระแสเลือดไปอุดเส้นเลือดที่ไขสันหลังหรือสมองจะทำให้สลบ หรือเป็นอัมพาต นอกจากนี้ฟองก๊าซยังสามารถกระตุ้นการแข็งตัวของเลือดและกลไกการอักเสบของร่างกาย ได้อีกด้วย
การบำบัดด้วยออกซิเจนความกดบรรยากาศสูง (Hyperbaric oxygen therapy) เป็นการรักษาผู้ป่วยด้วยออกซิเจน 100% ภายใต้สภาพความกดบรรยากาศสูงที่มากกว่า 1 บรรยากาศ ในเครื่องปรับบรรยากาศ (Hyperbaric chamber) เพื่อให้ร่างกายได้รับออกซิเจนในปริมาณที่สูงกว่าการหายใจปกติ
หลักการของห้องปรับบรรยากาศแรงดันสูงคือ การเพิ่มออกซิเจนให้กับเนื้อเยื่อ การกำจัดไนโตรเจนออกจากร่างกายโดยเร็ว ทำให้ฟองก๊าซในเลือดเล็กลง และหายไปในที่สุด ดังนี้
“
การดำน้ำอย่างปลอดภัย ต้องมีประสบการณ์ในการดำน้ำ มีความพร้อมก่อนดำน้ำ มีสุขภาพสมบูรณ์ ทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่มีอาการหรือโรคที่อาจส่งผลเสียต่อร่างกายขณะดำน้ำ ทั้งนี้ควรผ่านการตรวจสุขภาพจากแพทย์เวชศาสตร์ใต้น้ำ ทั้งก่อนและหลังการดำน้ำเสมอ และต้องปฏิบัติตามกฎในสถานที่ที่ไปดำน้ำอย่างเคร่งครัด
”
นพ. กมลศักดิ์ ต่างใจ แพทย์เวชศาสตร์ใต้น้ำและเวชศาสตร์ความดันสูง คุณหมอจบการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โดยคุณหมอได้รับฉายา “ฮีโร่นักดำน้ำ” ช่วยทีมหมูป่าติดถ้ำหลวง เป็นหนึ่งในทีมผู้อยู่เบื้องหลังในภารกิจค้นหาและช่วยเหลือนักฟุตบอลเยาวชน หมูป่าอะคาเดมีแม่สาย 13 ชีวิต ที่ติดอยู่ภายในถ้ำหลวง จ.เชียงราย อีกด้วย นอกจากนี้คุณหมอกมลศักดิ์ ต่างใจ ได้รับประกาศนียบัตรหลักสูตรแพทย์เวชศาสตร์ใต้น้ำ และหลักสูตรแพทย์เวชศาสตร์ความดันบรรยากาศสูง
สมัครสมาชิกเพื่อจัดเก็บข้อมูลของคุณสำหรับการนัดหมายครั้งต่อไป
มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว? เข้าสู่ระบบที่นี่