ออทิสติกสเปกตรัม (Autism Spectrum Disorder, ASD) คือโรคที่มีความบกพร่องของทักษะทางสังคมและการสื่อสาร ร่วมกับมีความผิดปกติทางพฤติกรรม โดยเด็กจะมีการทำพฤติกรรมบางอย่างซ้ำ ๆ มีความสนใจเฉพาะบางเรื่อง ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง รวมถึงอาจมีความไวต่อประสาทสัมผัสมากหรือน้อยกว่าปกติอีกด้วย
ที่มาของคำว่า ‘Spectrum’ มาจากความแตกต่างของอาการหลากหลายรูปแบบ ซึ่งเด็กแต่ละคนจะมีอาการและความรุนแรงที่แตกต่างกัน ความรุนแรงของอาการจะมีตั้งแต่ระดับเล็กน้อยไปจนถึงระดับรุนแรง
ทั้งนี้ เด็กออทิสติกบางคนมีพัฒนาการทางภาษาและการสื่อสารล่าช้าตั้งแต่ 1 ขวบแรก และในบางกลุ่มอาจยังไม่พบความผิดปกติที่ชัดเจน แต่พบภาวะถดถอยในด้านพัฒนาการเมื่ออายุได้ประมาณ 1 ขวบถึง 2 ขวบ ซึ่งในกลุ่มนี้นอกจากภาวะออทิสติกที่ต้องรักษาร่วมกับการปรับพฤติกรรมออทิสติกแล้ว อาจจะต้องตรวจประเมินเพิ่มเติม เพื่อหาสาเหตุเกี่ยวกับโรคทางระบบประสาทร่วมด้วย
หากคุณพ่อคุณแม่สงสัยว่าลูกกำลังมีภาวะออทิสติก ควรเข้ามาพบแพทย์เพื่อประเมินอาการ และวางแผนการรักษาให้เหมาะสมต่อไป
1.1 ออทิสติกแท้และออทิสติกเทียมต่างกันอย่างไร
ออทิสติกสเปกตรัมเป็นอาการที่เกิดขึ้นจากการทำงานที่ผิดปกติของสมอง ส่งผลให้เด็ก ๆ มีพัฒนาการที่ผิดปกติ และสามารถรักษาให้อาการน้อยลงได้ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคของแต่ละคน
แต่สำหรับออทิสติกเทียมมักมีสาเหตุเกิดจากการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม และขาดการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น เช่น การที่ผู้เลี้ยงดูไม่เล่นกับเด็กอย่างเหมาะสม ปล่อยให้เด็กอยู่คนเดียวนาน ๆ หรือ ใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่อเนื่อง เป็นเวลานาน ทำให้เด็กค่อย ๆ มีอาการที่คล้ายคลึงกับออทิสติกได้ เช่น เรียกไม่หัน ไม่สบตา พูดน้อยลง มีโลกส่วนตัวสูง ฯลฯ ซึ่งภาวะออทิสติกเทียมไม่ได้เกิดจากความผิดปกติแต่กำเนิดเช่นเดียวกับออทิสติกสเปกตรัม สามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้ หากได้รับการรักษาที่เหมาะสม ร่วมกับเด็กได้รับเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิด