ผ่าคลอด สิ่งที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรู้

ผ่าคลอด สิ่งที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรู้

Highlight:

  • คุณแม่ที่เคยผ่าคลอดจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดมดลูกแตกในตำแหน่งที่เคยผ่าตัด อาจเกิดพังผืดในช่องท้อง หรืออาจเกิดอาการรกเกาะลึกที่แผลมดลูกได้ ถ้าหากตรวจพบความเสี่ยงเหล่านี้ ควรทำการฝากครรภ์ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ 
  • การผ่าคลอดแบบฉุกเฉิน เป็นการผ่าคลอดหลังจากการพยายามคลอดธรรมชาติแล้วไม่สำเร็จ จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคุณแม่เริ่มเจ็บครรภ์คลอด หรือมีปัจจัยจำเป็นอื่นๆ ที่ทำให้ต้องทำการผ่าคลอดแทนการคลอดแบบธรรมชาติแทน 
  • หลังผ่าตัดคลอด คุณแม่สามารถให้นมลูกได้ตั้งแต่ยังอยู่บนเตียงผ่าตัด เพราะเป็นวิธีการกระตุ้นและเพิ่มน้ำนมที่ดี อีกทั้งยังช่วยให้คุณแม่ที่มีปัญหาผลิตน้ำนมได้ช้าหลังการผ่าตัดคลอดผลิตน้ำนมได้ดีขึ้นได้อีกด้วย 

สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีความสงสัยตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์เรื่องของวิธีการคลอด โดยเฉพาะรูปแบบการผ่าตัดคลอด (Caesarean Section) อันตรายและความเจ็บปวดจากการผ่าคลอด หรือหากเคยผ่าคลอดมาก่อนสามารถผ่าคลอดซ้ำได้หรือไม่ ข้อสงสัยอื่นๆ เกี่ยวกับการดูแลตัวเองทั้งก่อนและหลังผ่าคลอด รวมถึงคำแนะนำเกี่ยวกับการผ่าคลอด และสิ่งที่คุณแม่ควรรู้ก่อนตัดสินใจเลือกการผ่าคลอด ทั้งหมดมีคำตอบ ดังนี้ 

ข้อควรรู้ก่อนตัดสินใจผ่าคลอด

  1. การผ่าคลอดมีกี่แบบ        
    • การผ่าท้องคลอดเป็นครั้งแรก (Primary Caesarean Section) 
    • การผ่าท้องคลอดซ้ำ (Repeat Caesarean Section)  
      สำหรับคุณแม่ที่เคยผ่าคลอดมาก่อน การผ่าคลอดจำเป็นต้องผ่านการวินิจฉัยจากแพทย์ก่อนอีกครั้ง เพื่อที่แพทย์จะทำการดูข้อจำกัดต่างๆ หรือปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้คุณแม่ไม่สามารถคลอดทางช่องคลอดได้อย่างปลอดภัย และทำการประเมินว่าควรคลอดด้วยวิธีใด 
  2. ผ่าคลอดเจ็บแค่ไหน จำเป็นต้องบล็อกหลังหรือไม่ 
    ด้วยความก้าวหน้าและวิทยาการทางการแพทย์ในปัจจุบัน ทำให้ความเจ็บปวดจากการเจ็บครรภ์ก่อนคลอดและการผ่าคลอดทุเลาลงได้ ด้วยวิธีการฉีดยาที่ไขสันหลัง หรือที่เรียกกันว่า “การบล็อกหลัง” (Spinal Anesthesia หรือ Spinal Block) ซึ่งเป็นวิธีการช่วยลดความเจ็บปวดทางเลือกหนึ่งโดยไม่มีฤทธิ์ง่วงซึมเหมือนกับการให้ยาสลบ ไม่กดการหายใจ ช่วยลดความเจ็บปวดได้รวดเร็ว ยาชาที่ใช้ในการบล็อกหลังจะไม่ผ่านไปสู่ทารก จึงปลอดภัยกับลูกน้อย 
    อย่างไรก็ตาม ก่อนจะบล็อกหลัง คุณแม่ต้องไม่มีข้อบ่งชี้หลายๆ อย่าง เช่น ข้อห้ามในการฉีดยาเฉพาะที่  มีภาวะพร่องน้ำ มีความดันโลหิตต่ำ มีความผิดปกติของกระดูกสันหลังบริเวณเอว เป็นต้น หรือหากมีอาการกลัวบรรยากาศตอนผ่าตัด ก็อาจจะเลือกใช้วิธีการดมยาสลบแทนได้ ทั้งนี้ ต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ด้วยเป็นสำคัญ 
  3. สามารถผ่าคลอดได้กี่ครั้ง  
    จริงๆ แล้วคุณแม่ที่มีลูกมากกว่า 1 คน สามารถผ่าตัดคลอดได้เรื่อยๆ แต่คุณแม่ที่เคยผ่าคลอดนั้นมักจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการแทรกซ้อนต่างๆ ได้ง่ายกว่าคนที่ไม่เคยมีแผลผ่าคลอด เช่น คุณแม่ที่เคยผ่าคลอดจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดมดลูกแตกในตำแหน่งที่เคยผ่าตัดมาก่อน อาจเกิดพังผืดในช่องท้อง หรืออาจเกิดอาการรกเกาะลึกที่แผลมดลูกได้ เป็นต้น ซึ่งถ้าหากตรวจพบความเสี่ยงเหล่านี้ คุณแม่ก็ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และควรทำการฝากครรภ์ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ รวมถึงได้รับการตรวจและวางแผนการรักษาที่เหมาะสมจากสูติแพทย์โดยตรงก็จะช่วยลดความเสี่ยงได้ 
  4. การผ่าคลอดส่งผลกับการให้นมลูกหรือไม่ 
    การผ่าคลอดไม่ส่งผลกับการให้นมลูก    การให้นมลูกนั้นจะยิ่งช่วยกระตุ้นให้ร่างกายผลิตน้ำนมได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้น คุณแม่ควรเริ่มให้นมลูกให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยในช่วงแรกคุณแม่ควรให้นมลูกบ่อยๆ ทุกๆ 2-3 ชั่วโมงในตอนกลางวัน และทุกๆ 3-4 ชั่วโมงในตอนกลางคืน หรือหากมีข้อสงสัย สามารถรับคำปรึกษาและเข้ารับบริการการส่งเสริมการเลี้ยงลูกน้อยด้วยนมแม่จากเต้าด้วยวิธีที่ถูกต้องได้ที่ คลินิกนมแม่ โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช  
  5. แผลผ่าคลอดจะเป็นอย่างไร 
    สำหรับคุณแม่ท่านไหนที่กังวลเรื่องแผล หลังการผ่าคลอด เช่น ขนาดของแผล รอยแผลเป็น การเกิดคีลอยด์จากการผ่าคลอด ซึ่งแผลสามารถดูแลและรักษาให้ดีขึ้นได้หลังการผ่าคลอด เช่น การฉายรังสี การใช้เจลป้องกันแผลเป็น ประกอบกับการปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ เช่น การไม่แกะแผล การใช้ผ้ารัดหน้าท้อง ท่าทางการลุก เดิน ยืน นั่ง เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้แผลผ่าตัดอักเสบติดเชื้อ และยังทำให้แผลผ่าตัดไม่เป็นแผลเป็นง่ายอีกด้วย  
  6. หากท้องแรกผ่าคลอด ท้องสองสามารถคลอดธรรมชาติได้หรือไม่  
    สามารถทำได้ด้วยวิธีการที่เรียกว่า VBAC (Vaginal Birth after Cesarean) หรือการคลอดแบบธรรมชาติหลังจากเคยผ่าคลอดมาแล้ว นอกจากนี้ สำหรับคนที่กำลังตั้งครรภ์ลูกน้อยคนที่สองที่กังวลว่า จะมีภาวะเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนดหรือไม่ สามารถปรึกษาสูติแพทย์เพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการดูแลตนเองและรูปแบบการคลอดที่เหมาะสมได้ (อ่านเพิ่มเติม คลิกที่นี่

วิธีการเตรียมตัวก่อนผ่าคลอด และระยะเวลาที่เหมาะสม

เนื่องจากแพทย์จะทำการนัดหมายไว้ก่อนแล้ว ดังนั้น หากคุณแม่ทราบกำหนดการคลอดก็สามารถเริ่มต้นเตรียมตัวได้ ตามขั้นตอนดังต่อไปนี้ 

  1. ศึกษาข้อมูลที่ควรรู้ให้เข้าใจ 
    มีหลายเรื่องที่คุณแม่ควรรู้เกี่ยวกับการผ่าตัดคลอด หากคุณแม่สามารถเตรียมตัวและทำความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการผ่าตัด ระยะเวลา รวมถึงขั้นตอนต่างๆ ที่จะต้องเจอในช่วงวันที่จะต้องทำการผ่าตัดไว้ก่อน ก็จะช่วยทำให้คุณแม่คลายกังวลใจไปได้ และรู้ว่าจะต้องทำอะไรก่อน-หลัง 
  2. เรียนรู้สัญญาณต่างๆ ของการตั้งครรภ์ 
    สัญญาณที่ชัดเจนที่จะบอกกับคุณแม่ว่าใกล้คลอดแล้ว คือ มูกเลือดที่ออกมาจากช่องคลอด รวมถึงอาการเจ็บท้อง ซึ่งจะมีระยะเจ็บและระยะห่างที่ค่อนข้างคงที่ เมื่อเวลาผ่านไปอาการเจ็บนี้จะเจ็บถี่ขึ้นเรื่อยๆ และมีอาการน้ำเดินร่วมด้วย คุณแม่ควรจะเรียนรู้สัญญานต่างๆ เอาไว้ เพื่อสังเกตตนเองในช่วงเวลาที่อาจเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นมาได้ 
  3. เตรียมตัวเก็บกระเป๋า 
    การจัดกระเป๋าเตรียมไว้ล่วงหน้า สามารถทำได้ตั้งแต่ช่วงเดือนที่ 8 หรือเมื่อเข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของการคลอด ซึ่งควรเตรียมไว้ทั้งกระเป๋าทารก กระเป๋าคุณแม่ และกระเป๋าคนเฝ้าไข้อย่างคุณพ่อให้พร้อม  
  4. งดน้ำและอาหาร 
    คุณแม่จะต้องมีการเตรียมตัวผ่าคลอดด้วยการงดน้ำและอาหารก่อนทำการผ่าคลอดอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง 
  5. เตรียมตัวตรวจเลือด 
    แพทย์จะทำการตรวจเลือดก่อนการผ่าตัด เพื่อตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธุ์ ดูความเข้มข้นของเลือด การแข็งตัวของเลือด เป็นต้น 
  6. การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ 
    มีความจำเป็น เนื่องจากระหว่างก่อนทำการผ่าตัด คุณแม่จะไม่ได้รับประทานน้ำหรืออาหารเป็นเวลานาน 
  7. การโกนขน 
    บริเวณหน้าท้องและอวัยวะสืบพันธุ์บางส่วนก่อนเข้ารับการผ่าคลอด 
  8. การใส่สายสวนปัสสาวะก่อนทำการผ่าตัด 
    เนื่องจากขณะที่ทำการผ่าตัดจะมีการให้ดมยาสลบหรือบล็อกหลัง จะทำให้ควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะไม่ได้ จึงต้องขับถ่ายผ่านสายสวนปัสสาวะแทน 

การผ่าคลอด ใช้เวลานานเท่าใด

โดยปกติแล้วการผ่าตัดคลอดอาจใช้เวลาเพียงแค่ 45 นาที ถึง 1 ชั่วโมงเท่านั้น เนื่องจากการผ่าคลอดไม่ต้องรอให้ปากมดลูกเปิดเหมือนกับการคลอดธรรมชาติ

ผ่าคลอดแบบฉุกเฉิน คืออะไร

การผ่าคลอดแบบฉุกเฉิน คือ การเข้าผ่าคลอดหลังจากการพยายามคลอดธรรมชาติแล้วไม่สำเร็จ โดยจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคุณแม่เริ่มเจ็บครรภ์คลอด หรือมีปัจจัยจำเป็นอื่นๆ ที่ทำให้ต้องทำการผ่าคลอดแทนการคลอดแบบธรรมชาติ เช่น  

  • ปากมดลูกเปิดออกช้าหรือไม่ยอมเปิดออกเลย 
  • ร่างของทารกไม่สามารถลงมาสู่บริเวณกระดูกเชิงกรานได้ ซึ่งหมายความว่า กระดูกเชิงกรานเล็กเกินไปจนทารกไม่สามารถผ่านออกมาได้ 
  • มีอาการเจ็บครรภ์คลอดนานกว่าปกติ  
  • ทารกอยู่ในท่าที่ผิดปกติ เช่น เอาเท้าลงมาทางปากช่องคลอด 
  • รกเริ่มหลุดออกจากผนังมดลูกและมีความเสี่ยงต่อการตกเลือดภายใน 

การดูแลตัวเองหลังผ่าคลอด

การดูแลตัวเองหลังผ่าคลอดของคุณแม่ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะช่วยให้คุณแม่สามารถฟื้นฟูสุขภาพหลังคลอดให้กลับคืนมาได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ซึ่งคุณแม่สามารถอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการดูแลตัวเองในทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหาร การทำกิจวัตรประจำวัน ตลอดจนการดูแลบุตรหลังคลอดได้ ที่นี่

ทำไมต้องมาพบแพทย์หลังคลอด ตามนัดหมาย

ขั้นตอนนี้ถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่สำคัญมากๆ เนื่องจากเป็นการตรวจเช็กสุขภาพโดยรวมของคุณแม่ เช่น การตรวจภายใน ดูแผลฝีเย็บ ดูแผลผ่าตัดคลอด ตรวจมะเร็งปากมดลูก รวมไปถึงการตรวจสอบอาการซึมเศร้าหลังคลอด หรือความผิดปกติอื่นๆ เพื่อประเมินว่าฮอร์โมนของคุณแม่ผิดปกติหรือไม่ร่วมด้วย ซึ่งคุณแม่ควรปฏิบัติตัว ดังนี้ 

  • งดการมีเพศสัมพันธ์ก่อนไปตรวจภายใน 
  • ถ่ายปัสสาวะเพื่อให้กระเพาะปัสสาวะว่างก่อนขึ้นเตียงตรวจ  
  • ถ้ายังมีน้ำคาวปลาหรือประจำเดือน ให้งดการตรวจมะเร็งปากมดลูก  
  • วางแผนสำหรับการคุมกำเนิด ในกรณีที่ยังไม่ทำหมัน  
  • ควรนำบุตรไปด้วยในกรณีที่กุมารแพทย์นัดตรวจทารกหลังคลอด  
  • คุณแม่จะได้รับการประเมินหลังคลอดในกรณีที่ให้นมแม่ 

การผ่าตัดคลอดโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ อาจจะนำมาซึ่งอันตรายต่อคุณแม่และลูกในครรภ์ได้โดยไม่จำเป็น ดังนั้น จึงควรที่จะเตรียมตัวในการผ่าคลอดอย่างถูกต้องตั้งแต่เริ่มต้นฝากครรภ์ ด้วยการปรึกษาทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ พร้อมทั้งมองหา โปรแกรมคลอด ที่ช่วยทำให้การพักฟื้นและการเตรียมตัวคลอดเป็นไปอย่างปลอดภัยที่สุด ซึ่งหากคุณแม่ท่านไหนมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและนัดหมายได้ที่ ศูนย์สุขภาพสตรี ชั้น 1 อาคาร 2 โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท หรือคลิกที่นี่ 

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?