10 ข้อควรทำ ถ้าไม่อยากเข่าพัง

10 ข้อควรทำ ถ้าไม่อยากเข่าพัง

HIGHLIGHTS:

  • หากพบว่ามีเสียงเบาๆ ในข้อเข่า ขณะลุกนั่ง หรือเดิน  บางครั้งรู้สึกว่ากระดูกเกิดการเสียดสีกัน อาจเป็นอาการหนึ่งของข้อเข่าเสื่อม
  • การลดน้ำหนักลง 5 กิโลกรัม จะช่วยความเสี่ยงโรคเข่าเสื่อมได้ถึง  50 %  และช่วยลดอาการปวดเข่าลงได้
  • ผู้ที่มีอาการปวดข้อเข่ามากจนไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ  ร่วมกับการมีข้อเข่าผิดรูปมาก ควรรับการรักษาโดยการผ่าตัดข้อเข่าเทียม (Total Knee Arthroplasty)

เมื่อก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุ สิ่งที่ตามมาด้วยเสมอคืออาการเข่าเสื่อม

ซึ่งพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยเฉพาะผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก  ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้น

ภาวะเข่าเสื่อมเกิดจากการสึกกร่อนของกระดูกอ่อน  ซึ่งเป็นผลจากอายุที่เพิ่มขึ้น การใช้งานอย่างหนัก  รวมถึงการได้รับบาดเจ็บหรือมีแรงกระทบต่อข้อติดต่อกันเป็นเวลานาน  นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสริมอื่น ๆ เช่น กระดูกบางในหญิงวัยหมดประจำเดือน  กรรมพันธุ์ หรือการได้รับยาฉีดเข้าข้อ รวมถึงโรคข้ออักเสบจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น โรคเกาต์ และโรครูมาตอยด์ ข้อเข่าเสื่อมเป็นอาการที่ไม่มีอันตรายร้ายแรง แต่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้ผู้ป่วยเจ็บปวดจากอาการปวดข้อและเดินลำบาก ไม่อยากออกไปไหน เก็บตัว และซึมเศร้าในที่สุด

อาการปวดเข่าบางครั้งสามารถหายได้เอง แต่หากเป็นอาการปวดจากภาวะข้อเข่าเสื่อมอาจต้องปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาและปฏิบัติตัวตามคำแนะนำเพื่อไม่ให้มีอาการรุนแรง 

เราสามารถสังเกตอาการข้อเข่าเสื่อมได้ ดังนี้

  1. ปวดข้อเข่า โดยอาการจะรุนแรงขึ้นเมื่อใช้งาน และทุเลาลงหลังได้พัก
  2. ข้อยึดติด มีความลำบากในการยืดเหยียดหรืองอเข่า    
  3. ข้อเข่าบวม เนื่องจากเยื่อบุข้ออักเสบ หรือมีน้ำสะสมในข้อเข่ามากกว่าปกติ 
  4. ขณะลุกนั่งหรือเดินอาจมีเสียงเบาๆ ในข้อเข่า บางครั้งรู้สึกว่ากระดูกเกิดการเสียดสีกัน
  5. กระดูกงอ จนสามารถคลำพบกระดูกยื่นออกจากข้อต่อหรือรู้สึกว่ากระดูกขนาดใหญ่ขึ้น
  6. ข้อเข่าผิดรูปจนเข่าโก่ง กรณีที่อาการเข่าเสื่อมรุนแรง
  7. กล้ามเนื้อรอบข้อเข่าลีบเล็กลงหรืออ่อนแรง

คุณเสี่ยงเป็นข้อเข่าเสื่อมหรือเปล่า ? ทำแบบประเมินอาการข้อเข่าเสื่อมเบื้องต้น คลิกที่นี่ 


การรักษา

สามารถทำการรักษาได้ทั้งแบบใช้ยา และไม่ใช้ยา โดยให้ผู้ป่วยฝึกการออกกำลังเพิ่มความแข็งแรงให้ข้อเข่า รวมถึงการลดน้ำหนัก เพื่อลดแรงกดข้อเข่า บางกรณีอาจใช้การออกกำลังกายควบคู่กับการใช้ยาเพื่อลดอาการปวด ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา และช่วยชะลอภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น กล้ามเนื้อรอบ ๆ ข้อเข่าอ่อนแรง งอหรือเหยียดเข่าไม่สุด

การรักษาโดยการผ่าตัดข้อเข่าเทียม (Total Knee Arthroplasty) ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดข้อเข่ามาก และสูญเสียความสามารถในการดำเนินชีวิตประจำวัน ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีการรักษาโดยไม่ใช้ยา หรือการใช้ยาร่วมกับการออกกำลังกาย ประกอบกับการมีข้อเข่าผิดรูปมาก ทำให้มีการเดินผิดปกติและมีการสึกกร่อนของผิวข้อเข่ามาก

10 ข้อควรทำถ้า ไม่อยากเข่าพัง

1. ไม่อ้วน อย่าปล่อยให้น้ำหนักตัวเกินจนเข่าต้องทำงานหนัก สำหรับผู้มีน้ำหนักเกิน หากสามารถลดน้ำหนักลงได้ 5 กิโลกรัม จะช่วยความเสี่ยงโรคเข่าเสื่อมได้ถึง  50 % รวมถึงผู้ที่มีอาการปวดเข่าจะมีอาการดีขึ้นด้วย

2. พบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัย รักษา และรับคำแนะนำในการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง 

3. หลีกเลี่ยงแรงปะทะ ส่วนใหญ่มักเกินจากการเล่นกีฬา เช่น ฟุตบอล รักบี้ เป็นต้น 

4. เลิกทำร้ายเข่า ด้วยการคุกเข่า นั่งยอง หรือนั่งทับเข่าเป็นเวลานาน ควรหาเก้าอี้เล็กๆ หรือเบาะรองนั่ง เสริมไม่ให้เข่างอมากเกินไป หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้ใช้วิธีเปลี่ยนท่านั่งบ่อยๆ   

5. หยุดการกระแทก เช่น กระโดด การยกของหนัก หรือกิจกรรมที่ต้องใช้เข่า เช่น เดินทางชัน หรือขึ้นบันได 

6. ออกกำลังกาย ด้วยการเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหน้าขา เพื่อช่วยพยุงเข่า และลดอาการเจ็บปวดลง

7. รักษาทันที ที่รู้ตัวว่าเริ่มมีอาการข้อเข่าเสื่อม หรือเมื่อได้รับบาดเจ็บ รวมถึงหยุดพักร่างกายให้หายดีก่อนกลับไปเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมเดิมๆ 

8. เลือกรองเท้าให้เหมาะสม การเลือกรองเท้าให้เหมาะกับกิจกรรมที่ทำจะช่วยลดความเสี่ยงการบาดเจ็บ รวมถึงยังช่วยพยุงข้อเข่าให้ไม่ต้องเกร็งหรือทำงานหนักมากเกินไ ป โดยเฉพาะสาวๆ ไม่ควรใส่รองเท้าส้นสูงมากเกินไป เพราะจะทำให้เข่าแอ่นได้ง่ายขึ้น

9. เพิ่มการรับประทานอาหาร ที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้ข้อเข่า เช่น

  • ผลไม้รสเปรี้ยว หรือผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ซึ่งอุดมด้วยวิตามินซีและสารต้านอนุมูลอิสระ เพื่อช่วยลดการอักเสบของข้อเข่า
  • ชาเขียว มะเขือเทศ และหัวหอม อาหารเหล่านี้มีฟลาโวนอยด์ ซึ่งช่วยต้านอนุมูลอิสระ  ลดอาการบาดเจ็บและการอักเสบ 
  • อาหารทะเล นม และไข่ รวมถึงการรับแสงแดดยามเช้า เพื่อเพิ่มวิตามินดีให้ร่างกาย   เสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง
  • ปลาทะเล แซลมอน และทูน่า  อุดมด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 เสริมสร้างความแข็งแรงให้กระดูก บรรเทาปวดข้อ และลดการอักเสบ 
  • เครื่องเทศต้านการอักเสบ เช่น ขิง และขมิ้น  ช่วยลดภาวะบาดเจ็บและอาการปวดบวมของข้อเข่า

10. ลดอาหารทำร้ายเข่า

  • โซเดียม  ทำให้น้ำในร่างกายเสียสมดุล รวมถึงน้ำในข้อเข้า ส่งผลให้ข้อเข่าขาดความยืดหยุ่น อาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น อาหารสำเร็จรูป อาหารหมักดอง และอาหารแปรรูปต่างๆ 
  • น้ำตาล   การรับประทานน้ำตาลมากเกินไป นอกจากทำให้อ้วนแล้ว ยังเป็นการเพิ่มน้ำตาลในเลือด  ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นการอักเสบในร่างกาย
  • อาหารไขมันสูง   มีไขมันอิ่มตัวปริมาณมาก ส่งผลให้ร่างกายเกิดการอักเสบได้ง่ายและมากขึ้น   
  • แอลกอฮอล์ มีผลยับยั้งเลือดให้ไปเลี้ยงข้อเข่าไม่เพียงพอ อีกทั้งยังเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการอักเสบรุนแรงขึ้นด้วย

ภาวะเข่าเสื่อมตามความถดถอยของร่ายกายในผู้สูงอายุอาจเป็นเรื่องปกติ  แต่หากรู้จักการปฏิบัติให้ถูกต้อง อาจช่วยชะลอและบรรเทาอาการเจ็บปวดลงได้    แต่หากมีอาการจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันควรปรึกษาแพทย์

ปรึกษาหมอออนไลน์ ผ่าน Video Call คลิกที่นี

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?