การรักษาภาวะเส้นเอ็นกล้ามเนื้อหัวไหล่ฉีกขาดนั้น ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของการบาดเจ็บ
ระดับที่ 1: เส้นเอ็นหัวไหล่อักเสบ
เป็นกรณีที่ยังไม่พบการฉีกขาดของเส้นเอ็นกล้ามเนื้อหัวไหล่ การรักษาด้วยวิธีการอนุรักษ์ (conservative treatment) ได้แก่ การลดกิจกรรมการใช้งานข้อไหล่ และรับประทานยาต้านการอักเสบ ร่วมกับการทำกายภาพบำบัด ก็เพียงพอที่จะทำให้อาการปวดดีขึ้นได้ นอกจากนี้ การฉีดยากลุ่มสเตียรอยด์ ก็สามารถช่วยลดอาการปวดและอักเสบได้
ระดับที่ 2: เส้นเอ็นหัวไหล่ฉีกขาดบางส่วน เอ็นหัวไหล่ฉีก เมื่อไหร่ที่ต้องผ่าตัด ?
หากผลการตรวจภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) พบว่า มีการฉีกขาดของเส้นเอ็นหัวไหล่บางส่วน กรณีที่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง สามารถให้การรักษาด้วยวิธีอนุรักษ์ดังข้างต้นได้
แต่กรณีที่มีการฉีกขาดมากกว่าครึ่งหนึ่ง แนะนำให้รักษาด้วยการ ผ่าตัดเอ็นหัวไหล่ จะให้ผลการรักษาที่ดีกว่า โดยปกติแล้ว การรักษาด้วยวิธีการอนุรักษ์นั้น จะทำการรักษาประมาณ 3-6 เดือน ซึ่งหากผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาเอ็นหัวไหล่ฉีกดังกล่าวข้างต้น หรือมีอาการเปลี่ยนแปลง เช่น ปวดมากขึ้น หรือ มีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ ก็ถือเป็นข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดเช่นกัน
ระดับที่ 3 : เส้นเอ็นหัวไหล่ฉีกขาดตลอดความหนา
ในกรณีที่เส้นเอ็นกล้ามเนื้อหัวไหล่ฉีกขาดตลอดความหนา กล้ามเนื้อของเส้นเอ็นจะเหี่ยวลีบลง (Muscle atrophy) มีการแทรกของไขมันในกล้ามเนื้อ (Fatty infiltration) และมีการหดย่นเข้าด้านในมากขึ้น (Muscle retraction) ซึ่งทำให้สูญเสียความสามารถในการทำงานของเส้นเอ็นกล้ามเนื้อหัวไหล่
นอกจากนั้น ขนาดของการฉีกขาดก็จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้หัวไหล่สูญเสียความมั่นคง และเกิดการเปลี่ยนแปลงของการกระจายแรงที่กระดูกผิวข้อหัวไหล่ นำไปสู่ข้อหัวไหล่เสื่อมตามมาในอนาคต ดังนั้น ในกรณีที่พบการฉีกขาดของเส้นเอ็นกล้ามเนื้อหัวไหล่ตลอดความหนา จึงแนะนำให้ทำการรักษาด้วยการผ่าตัดซ่อมแซมเส้นเอ็นกล้ามเนื้อหัวไหล่