- การฉีดโบท็อกซ์ หรือการใช้กระแสไฟฟ้ารักษาอาการ เหงื่อออกมือ ได้แค่ชั่วคราวเท่านั้น
- วิธีการรักษาชนิดเดียวที่ทำให้ผู้ป่วยหายจากอาการเหงื่อออกมากผิดปกติในระยะยาวได้ คือ การผ่าตัดส่องกล้อง
หากไม่ประสบปัญหาด้วยตัวเอง คงไม่ทราบว่าการมีเหงื่อออกที่บริเวณฝ่ามือมากกว่าปกติเป็นเรื่องรบกวนจิตใจ นอกจากสร้างความรำคาญกับความเปียกชื้นแล้ว ส่งผลให้ขาดความมั่นใจ สร้างความวิตก จนเกิดปัญหากับการใช้ชีวิตประจำวันหรือการงานได้
การล้างมือ ทาแป้ง หรือใช้พัดลมเป่ามือให้แห้ง รวมถึงการพยายามไม่ปล่อยให้เกิดความเครียด เป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ช่วยให้ผ่านช่วง เหงื่อออกมือ ไปชั่วขณะ เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่ใช่การแก้ปัญหาอย่างแท้จริง
หากมีการวินิจฉัยแล้วว่า อาการเหงื่อออกมือมากผิดปกติที่เกิดขึ้นนั้น เป็นเหงื่อออกมือที่ไม่ทราบสาเหตุ หรือไม่ได้เกิดจากผลกระทบของโรคไทรอยด์เป็นพิษ สามารถรักษาได้ตั้งแต่การเลือกใช้ยาระงับกลิ่นกาย ซึ่งมีส่วนผสมของอลูมิเนียมคลอไรด์ (Aluminium chloride) ทำให้ต่อมเหงื่อทำงานน้อยลง เหงื่อก็จะออกน้อยลงด้วย แต่ก็สามารถระงับเหงื่อเฉพาะเวลาช่วงที่ทาเท่านั้น
การฉีดโบท็อกซ์ หรือการใช้กระแสไฟฟ้าที่เรียกว่า ไอออนโตฟอรีซีส (Iontophoresis) เพื่อกระตุ้นให้เส้นประสาทส่วนขับเหงื่อหยุดทำงาน สามารถระงับเหงื่อที่ออกมากผิดปกติได้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง เมื่อยาหมดฤทธิ์ อาการเหงื่อออกก็จะกลับมาเป็นอีก
ทั้งนี้การรักษาอาการเหงื่อออกมือมากผิดปกติที่ได้ผลระยะยาวได้ และสามารถเห็นผลได้ทันที คือการรักษาด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง หรือ Thoracoscopic sympathectomy สามารถทำได้โดยการส่องกล้องและเครื่องมือเข้าไปทาง บริเวณรักแร้ แล้วนำกล้องส่องผ่านช่องปอดเข้าไปยังตำแหน่งปมประสาทอัตโนมัติซิมพาเทติค (sympathetic nervous system) เพื่อทำลายปมประสาทบางส่วนที่ส่งสัญญาณมาบริเวณมือหรือรักแร้ ส่งผลให้ไม่มีการหลั่งเหงื่อเกิดขึ้นที่บริเวณนั้นๆ ซึ่งการผ่าตัดจะต้องทำทั้ง 2 ข้างของช่องอก ใช้เวลาในการผ่าตัดไม่นาน เพียงแค่ 1-2 ชั่วโมง พักฟื้นในโรงพยาบาลเพียงแค่ 1 คืน ก็สามารถกลับบ้านได้
หลังผ่าตัดรักษาแล้ว อาจมีภาวะเหงื่อออกชดเชยตามส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เช่น หลัง ท้อง หรือต้นขา ซึ่งเหงื่อชดเชยเหล่านี้มักมีไม่มากและไม่รบกวนชีวิตประจำวันเท่ากับเหงื่อที่เคยออกมากบริเวณฝ่ามือ แต่บางรายก็อาจไม่มีอาการใดๆ ทั้งนี้การผ่าตัดยังให้ผลดีและสามารถเห็นผลทันทีที่ผ่าตัดเสร็จ และส่วนใหญ่จะไม่กลับมาเป็นมากเท่าเดิมอีก (มีผู้ป่วยน้อยกว่า 5% เท่านั้นที่อาจจะกลับมาเป็นซ้ำได้)
ผลแทรกซ้อนอื่นที่ที่อาจจะพบได้ก็เหมือนกับการผ่าตัดอื่นๆ คืออาจจะมีเลือดออกบริเวณที่ผ่าตัด หรือเกิดอาการแผลติดเชื้อได้
เนื่องจากแผลจากการผ่าตัดเล็กมาก ราว 5-10 มิลลิเมตร อาจมี 2-3 แผล บริเวณรักแร้ทั้ง 2 ข้าง การดูแลหลังผ่าตัดจึงควรดูแลแผลดังกล่าวให้สะอาด เลี่ยงการถูกน้ำประมาณ 1 สัปดาห์ และพบแพทย์ตามนัด เพื่อติดตามผล
ในปัจจุบัน การผ่าตัด Thoracoscopic sympathectomy ถือว่าเป็นวิธีการรักษาชนิดเดียวที่ทำให้ผู้ป่วยหายจากอาการเหงื่อออกมากผิดปกติได้ในระยะยาว ช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตด้วยความมั่นใจและมีความสุข แต่ด้วยกระบวนการผ่าตัดที่ซับซ้อน และต้องใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ดังนั้นหากต้องการรักษาอาการเหงื่อออกบริเวณฝ่ามือมาก ควรเลือกโรงพยาบาลและปรึกษาแพทย์เฉพาะทางที่มีความพร้อม เพื่อความปลอดภัยและการรักษาที่ได้ผลดีที่สุด
สมัครสมาชิกเพื่อจัดเก็บข้อมูลของคุณสำหรับการนัดหมายครั้งต่อไป
มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว? เข้าสู่ระบบที่นี่