หลุดซ้ำๆ เจ็บซ้ำๆ

หลุดซ้ำๆ เจ็บซ้ำๆ

“ ข้อไหล่หลุด ” แค่พูดก็เสียวแล้ว เพราะทุกคนต่างรู้ดีว่าข้อไหล่สามารถเคลื่อนไหวได้มากที่สุดในบรรดาข้อต่างๆ ของร่างกาย ช่วยให้เรา หยิบ จับ ขยับ เคลื่อนไหวได้อย่างคล่องตัว หากหลุดขึ้นมาจะทำให้การใช้ชีวิตประจำวันลำบาก การเรียนรู้เรื่องราวปัญหาและการดูแลรักษาข้อไหล่หลุดจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย ถึงแม้คุณจะเป็นคนที่ไม่เคยข้อไหล่หลุดก็ตาม

ข้อไหล่หลุด สาเหตุและอาการ

ข้อไหล่เป็นข้อที่มีพิสัยการเคลื่อนไหวได้มากที่สุด ในขณะที่มีโอกาสหลุดได้ง่ายที่สุดเช่นกัน สาเหตุหลักมาจากการเกิดอุบัติเหตุ มีบ้างที่เกิดจากการพิการแต่กำเนิด

หากเกิดข้อไหล่หลุดจะมีอาการปวดมาก ปวดในทันที หัวไหล่ผิดรูป กล้ามเนื้อแบนลงขยับแขนไม่ได้ บางรายอาจมีอาการชาแขนจากการบาดเจ็บของเส้นประสาทร่วมด้วย

โอกาสการเกิด ข้อไหล่หลุดซ้ำ

โอกาสการเกิดข้อไหล่หลุดซ้ำมีมากกว่า 90% หลังจากการหลุดครั้งแรก โดยเฉพาะในคนที่อายุน้อยกว่า 20 ปี เพราะการที่ข้อไหล่หลุด ไม่ใช่เพียงแค่ข้อไหล่หลุดออกจากเบ้าเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเยื่อหุ้มข้อไหล่ และหมอนรองกระดูกข้อไหล่ที่ทำหน้าที่ให้ความมั่นคงของข้อไหล่ฉีกขาดไปด้วย จึงทำให้ข้อไหล่เสียความมั่นคงและมีโอกาสหลุดซ้ำได้

ในทางกลับกัน ถ้าคนที่อายุมาก โดยเฉพาะผู้ที่อายุมากกว่า 50 ปี ขึ้นไป โอกาสในการหลุดซ้ำนั้นอาจจะไม่มาก แต่มักจะมีการฉีกขาดของเส้นเอ็นรอบหัวไหล่ร่วมด้วย เพราะเมื่ออายุมากคุณภาพของเส้นเอ็นเริ่มไม่ค่อยดี เริ่มเสื่อมจึงมีโอกาสฉีกขาดได้ง่าย

รักษาอย่างไรเมื่อข้อไหล่หลุด

ข้อไหล่หลุดถือเป็นภาวะเร่งด่วนที่ต้องได้รับการรักษาทันที การช่วยเหลือเบื้องต้น คือ การใช้ผ้าคล้องแขนให้ข้อไหล่อยู่นิ่งๆ แล้วประคบเย็น เนื่องจากเมื่อเกิดการบาดเจ็บมักจะมีเส้นเลือดฝอยฉีกขาด การประคบเย็นช่วยทำให้เลือดหยุด หลังจากนั้นจะเกิดการอักเสบ ต้องตามด้วยการประคบร้อน เพื่อทำให้เลือดไหลเวียนได้ดี ที่สำคัญควรรีบไปพบแพทย์ทันที

ในกรณีที่ข้อไหล่หลุดครั้งแรก โดยปกติอาจไม่จำเป็นต้องผ่าตัด แพทย์จะให้ยาแก้ปวดลดการอักเสบ และดึงหัวไหล่กลับเข้าที่ จากนั้นให้ใส่อุปกรณ์พยุงแขน แล้วให้ข้อไหล่อยู่นิ่งๆ ประมาณ 2 สัปดาห์ จากนั้นจึงให้ทำกายภาพบำบัดเพื่อเพิ่มพิสัยการทำงานของข้อไหล่ ฝึกกล้ามเนื้อบริเวณรอบสะบัก และรอบหัวไหล่ให้มีความแข็งแรงมากขึ้น แต่ควรหลีกเลี่ยงบางท่าที่จะทำให้ข้อไหล่หลุดซ้ำได้

ข้อไหล่หลุดซ้ำ รักษาอย่างไร

ปัญหาที่พบบ่อย คือ ข้อไหล่เมื่อหลุดแล้วมักมีการหลุดซ้ำ หลุดง่าย หลุดมากกว่า 2 ครั้งขึ้นไป ไม่ว่าจะทำอะไรในชีวิตประจำวันก็หลุด หรือในกรณีของนักกีฬา โดยเฉพาะกีฬาที่ต้องมีการปะทะ ในกรณีแบบนี้ จำเป็นที่ต้องได้รับการรักษาโดยการผ่าตัด เพื่อทำให้ข้อไหล่เข้าที่ โดยเฉพาะหมอนรองกระดูกเบ้าหัวไหล่ที่ฉีกขาดต้องผ่าตัด เย็บให้เข้าที่ เพื่อให้หัวไหล่กลับมามีความมั่นคงมากขึ้น

การผ่าตัดส่องกล้องรักษา ข้อไหล่หลุด

ปัจจุบันการผ่าตัดส่องกล้องได้รับความนิยมและได้ผลดีมาก เพราะข้อไหล่เป็นข้อที่อยู่ลึก การผ่าตัดโดยวิธีเปิดจะต้องแหวกผ่านกล้ามเนื้อหลายชั้น แผลผ่าตัดค่อนข้างใหญ่ เนื้อเยื่อบอบช้ำมาก แต่การผ่าตัดส่องกล้องทำโดยเจาะรูเล็กๆ ประมาณ 3 รู เพื่อใส่เครื่องมือและกล้อง ทำให้สามารถมองเห็นพยาธิสภาพภายในข้อไหล่ได้ชัดเจน ซึ่งการผ่าตัดแบบเปิดอาจมองไม่เห็น ทำให้สามารถเข้าไปจัดการกับปัญหาในข้อไหล่ได้เป็นอย่างดี แผลผ่าตัดเล็ก มีการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อน้อย ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว หลังผ่าตัดสามารถทำกายภาพได้เร็ว ผลการรักษาใกล้เคียงกับการผ่าตัดแบบเปิด

การดูแลร่างกายหลังผ่าตัดข้อไหล่หลุด

การดูแลหลังการผ่าตัด คนไข้นอนพักฟื้นในโรงพยาบาลเพียงวันเดียว สามารถทำกายภาพบำบัดได้ทันที โดยโปรแกรมที่แพทย์จัดให้ เพื่อเพิ่มพิสัยการเคลื่อนไหวของข้อ โดยทั่วไปพักฟื้นประมาณ 4-6 เดือน ก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติรวมทั้งสามารถกลับไปเล่นกีฬาได้

ข้อจำกัดของการผ่าตัดส่องกล้อง จะเกิดขึ้นในกรณีที่ผู้ป่วยมีกระดูกกร่อนหรือหักร่วมด้วย อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดแบบเปิด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณกระดูกที่กร่อนว่าหายไปมากน้อยแค่ไหน ถ้าไม่มากก็อาจสามารถผ่าตัดส่องกล้องได้

ข้อไหล่หลุดควรดึงกลับเข้าที่เองหรือไม่

สำหรับผู้ป่วยที่มีข้อไหล่หลุดซ้ำบ่อยๆ ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากโครงสร้างของข้อไหล่ไม่มั่นคง ข้อไหล่หลวมและหลุดง่าย ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้สามารถดึงหัวไหล่กลับเข้าที่ได้เอง แต่ไม่แนะนำให้ทำ เพราะในบางกรณีการที่ข้อไหล่หลุด อาจมีกระดูกหักหรือเส้นเอ็นฉีกขาดร่วมด้วยได้ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการตรวจร่างกาย เพื่อหาอาการบาดเจ็บอื่นๆ ให้ชัดเจนเพื่อการรักษาอย่างถูกวิธี

ปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์ก้าวล้ำนำสมัย ทำให้การรักษามีประสิทธิภาพ เพียงแต่คุณควรรู้ถึงรายละเอียดของอาการอย่างชัดเจน เพื่อจะได้รับการรักษาอย่างตรงจุด ถึงแม้ข้อไหล่จะหลุด ก็จะช่วยให้คุณสามารถหายจากอาการเจ็บป่วยได้อย่างรวดเร็ว และไม่กลับมาหลุดซ้ำๆ ให้ต้องชอกช้ำกันอีกต่อไป

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?