โรคสมองเสื่อมในคนอายุน้อย

โรคสมองเสื่อมในคนอายุน้อย

HIGHLIGHTS:

  • ภาวะสมองเสื่อมในคนอายุน้อยมักพบในผู้ป่วยวัยทำงาน สาเหตุมาจากความเครียดหรือภาวะซึมเศร้าจากการทำงาน มักคิดว่าไม่อันตรายจนกลายเป็นภัยเงียบที่ไม่รู้ตัว
  • ผู้มีภาวะสมองเสื่อมอาจจะไม่ได้มีเพียงแค่การหลงลืมเท่านั้น แต่ยังมีภาวะเครียด ซึมเศร้า แยกตัวออกจากสังคม ไม่ว่าจะครอบครัวหรือเพื่อนร่วมงาน
  • การบำบัดด้วยศิลปะ การฝึกสมาธิ การเล่นดนตรีช่วยลดภาวะสมองเสื่อมลงได้

ภาวะสมองเสื่อม (Dementia) คือความเสื่อมประสิทธิภาพของสมองลดลงเรื่อยๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่งผลให้เกิดความผิดปกติทางความคิด ความจำ การใช้เหตุผล และการสื่อสาร รวมถึงบุคคลิกภาพเปลี่ยนแปลงหรือผิดปกติ ในบางกรณีอาจมีอารมณ์แปรปรวน เครียด ซึมเศร้า รู้สึกแปลกแยก ต่อต้าน และแยกตัวออกจากสังคม โดยปกติมักเกิดในคนที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป แต่อย่างไรก็ตามภาวะสมองเสื่อมก็สามารถเกิดในผู้อายุน้อยตั้งแต่ 30-65 ปี

ภาวะสมองเสื่อมในคนอายุน้อย (Dementia in younger) เริ่มพบมากขึ้นถึง 6.9% ของจำนวนผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมทั้งหมด ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน จึงมักถูกมองว่าเป็นเพียงเรื่องของความเครียด หรือภาวะซึมเศร้าจากการทำงาน หรือภาวะหลังหมดประจำเดือน( post menopause) จึงไม่ได้สังเกตความผิดปกติ ละเลยคิดว่าไม่อันตราย จนกลายเป็นภัยเงียบที่ไม่รู้ตัว

สาเหตุของโรคสมองเสื่อมในคนอายุน้อย

อาจเกิดจาก

  • คนในครอบครัวมีประวัติว่าเป็นภาวะสมองเสื่อมตอนอายุน้อยๆ
  • ภาวะเส้นเลือดสมองตีบ ซึ่งมักพบในผู้ป่วยอายุน้อยที่มีภาวะเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง ทำให้เส้นเลือดฝอยในสมองตีบ ส่งผลให้เซลล์สมองตาย
  • ฮอร์โมนผิดปกติ โดยเฉพาะฮอร์โมนไทรอยด์ที่มีระดับต่ำกว่าปกติ
  • ภาวะร่างกายขาดวิตามินบี 12,วิตามิน D หากขาดเป็นเวลานานอาจส่งผลให้เซลล์สมองเสื่อม
  • สูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ซึ่งบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงของภาวะหลอดเลือดสมองตีบ ส่วนแอลกอฮอล์จะไปยับยั้งการดูดซึมของวิตามินบี12 ทั้งนี้การดื่มแอลกอฮอล์มาเป็นระยะเวลานานหรือดื่มในปริมาณมากอาจทำลายสมองส่วนต่างๆได้
  • การติดเชื้อในสมอง เช่น เอชไอวี ซิฟิลิส และไวรัสอื่นๆเช่นหลังการติดเชื้อ COVID
  • ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ มีเลือดออกในสมองมาก่อนหรือเนื้องอกในสมอง

การสังเกตอาการเบื้องต้นของโรคสมองเสื่อมในคนอายุน้อย

  • ลืมเรื่องง่ายๆ เช่น วัน เดือน ปี สถานที่ที่เพิ่งไปมา ลืมสิ่งที่กำลังจะพูด ลืมนัดสำคัญ มักจะต้องใช้ตัวช่วย เช่น สมาร์ทโฟน หรือสมุดโน้ตมาช่วยจำ
  • บุคลิกภาพเปลี่ยน เช่น พูดไม่ได้ใจความ บางครั้งพูดติดๆ ขัดๆ ,พูดซ้ำๆ หรือใช้เวลาในการนึกคำพูดนาน ทำให้ประสิทธิภาพในการสื่อสารกับคนรอบข้างถดถอยลง
  • การตัดสินใจแย่ลง การตัดสินใจไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ หรือต้องใช้เวลานานในการตัดสินใจ
  • มักเกิดความผิดพลาดในการกะระยะ การบอกสี บอกความแตกต่าง ซึ่งเป็นปัญหามากถ้าผู้ป่วยต้องขับรถ
  • ภาวะเครียด ซึมเศร้า แยกตัวออกจากสังคม ไม่ว่าจะครอบครัวหรือเพื่อนร่วมงาน
  • ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ไม่มีสมาธิ กระวนกระวาย ย้ำคิดย้ำทำ

ผู้มีภาวะสมองเสื่อมอาจจะไม่ได้มีเพียงแค่การหลงลืมเท่านั้น จะต้องอาศัยอาการอื่นๆ ตามที่กล่าวไปข้างต้นประกอบการวินิจฉัย ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักไม่รู้ตัว ต้องใช้การสังเกตโดยคนรอบข้าง สำหรับผู้ที่ไม่แน่ใจว่ากำลังเผชิญภาวะสมองเสื่อมอยู่หรือไม่ ควรเข้าพบแพทย์เพื่อทำการทดสอบและวินิจฉัย ซึ่งมีวิธีการตรวจหลายอย่างดังนี้ 

  • ทำแบบทดสอบ เพื่อประเมินภาวะสมองเสื่อม และแบบประเมินภาวะทางอารมณ์และจิตใจ
  • ตรวจสมองด้วยเครื่องสแกนแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อดูความผิดปกติของเส้นเลือดในสมอง เนื้อสมองตายจากการขาดเลือดหรือเนื้องอกในสมอง
  • เจาะน้ำไขสันหลังไปตรวจ ในกรณีสงสัยการติดเชื้อเช่น เอชไอวี, ซิฟิลิส,เชื้อราหรือเชื้อไวรัสอื่นๆ
  • ตรวจวัดระดับวิตามินบี 12,วิตามินD ในร่างกาย
  • ตรวจความผิดปกติของฮอร์โมนไทรอยด์
  • ตรวจเลือด (genetic testing)โดยพิจารณาเป็นรายๆเช่นมีประวัติโรคสมองเสื่อมตั้งแต่อายุน้อยในครอบครัว,อาการเริ่มตั้งแต่อายุน้อยกว่า 45 ปี

การรักษาโรคสมองเสื่อมในคนอายุน้อย จะเริ่มจากการรักษาสาเหตุของภาวะที่นำไปสู่ภาวะเซลล์สมองเสื่อมหรือตาย หากพบภาวะสมองเสื่อมจากสาเหตุขาดวิตามิน(B12) หรือจากปัญหาฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ แพทย์จะให้การรักษาโดยการให้วิตามินทดแทนหรือใช้ฮอร์โมนเสริม บางสาเหตุสามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด เช่น เนื้องอกในสมองบางชนิด ควบคุมโรคประจำตัวที่ทำให้เส้นเลือดในสมองตีบ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง หรือรักษาภาวะติดเชื้อ หากตรวจพบเชื้อจากน้ำไขสันหลัง 

การรักษาด้วยยา มักพิจารณาให้สำหรับผู้ป่วยในระยะเริ่มต้นของโรค เพื่อประคองระดับของอาการไม่ให้แย่ลงเร็ว  หรือใช้วิธีการบำบัดทางจิตใจและพฤติกรรม โดยการส่งเสริมให้ผู้ป่วยได้มีการพูดคุย ร่วมกิจกรรม หรือเข้าร่วมกลุ่มบำบัด (Group therapy) เป็นการพาผู้ป่วยกลับเข้าสังคมอีกครั้ง บำบัดด้วยศิลปะ การฝึกสมาธิ การเล่นดนตรี นอกจากนั้นยังต้องมีการให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องภาวะสมองเสื่อมในคนอายุน้อยกับคนในครอบครัว เพื่อนและผู้ใกล้ชิดร่วมด้วย

การลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เส้นเลือดในสมองตีบเช่น ควบคุมน้ำหนักเพื่อลดระดับความดันโลหิต ทานผักหลากชนิด ลดแป้ง ลดอาหาร fast food หรืออาหารที่มีไขมันทรานส์ ควบคุมโรคเบาหวาน รวมถึงงดสูบหรี่ ลดหรือเลิกดื่มแอลกอฮอล์ก็มีส่วนช่วยให้อาการของโรคดีขึ้นได้

ปัจจุบันแม้จะยังไม่สามารถรักษาโรคสมองเสื่อมให้หายขาดได้ ดังนั้นหากรู้สึกว่าตัวเองหรือคนใกล้ชิดมีภาวะสมองเสื่อม ควรพบแพทย์เพื่อปรึกษา โดยเฉพาะภาวะสมองเสื่อมที่เกิดจากโรคติดเชื้อเช่น HIV หรือซิฟิลิส หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงทีอาจส่งผลให้อาการแย่ลงหรือเกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนในระบบอื่นๆ ของร่างกายในอนาคตได้

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?