เด็กขาดวิตามินบี 1 เสี่ยงโรคหัวใจ

เด็กขาดวิตามินบี 1 เสี่ยงโรคหัวใจ

HIGHLIGHTS:

  • วิตามินบี 1 เป็นวิตามินที่ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นเอง ต้องได้รับจากการรับประทานเท่านั้น และต้องรับประทานเป็นประจำ เพราะร่างกายสามารถสะสมไว้ในจำนวนจำกัด
  • เด็กๆ ที่ขาดวิตามินบี 1 ไม่ได้ทำให้มีอาการเหน็บชา เท่านั้น แต่มีผลกับระบบประสาทและการทำงานของหัวใจ ส่งผลให้เกิดโรคหัวใจได้
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำลายวิตามิน เช่น ปลาร้า หมาก พลู ชา หอยแมลงภู่ หอยกาบ เพื่อการป้องกันตัวเองให้ห่างไกลจากภาวะขาดวิตามินบี 1

เด็กขาดวิตามินบี 1 อาจเป็นโรคหัวใจได้

เด็กๆ ที่มีอาการเหน็บชาบ่อยๆ อาจไม่ได้เป็นเพียงร่างกายกำลังขาดวิตามินบี 1 เท่านั้น หากแต่เป็นสัญญาณเตือนว่า มีการอักเสบรุนแรงเกิดขึ้นกับระบบประสาทและการทำงานของหัวใจ ส่งผลให้เกิดโรคหัวใจ

วิตามินบี 1 หรือไทอามีน (Thiamine) มีหน้าที่กระตุ้นการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน ให้เป็นพลังงานของร่างกาย   เพื่อใช้ในการเคลื่อนไหวและเสริมสร้างการเจริญเติบโต ทั้งนี้ยังมีส่วนสำคัญในการดูแลระบบประสาท และการทำงานของระบบหัวใจ  โดยร่างกายจะสะสมวิตามินบี 1 ไว้ตามกล้ามเนื้อ สมอง และหัวใจ หากเกิดภาวะขาดวิตามิน ร่างกายจะค่อยๆ ใช้วิตามินที่สะสมไว้จนหมด ภายใน 1 เดือน อาการข้างเคียงจะเริ่มปรากฏ เช่น มีการเคลื่อนไหวผิดปกติ   แขนขาอ่อนแรง หรือรุนแรงจนเป็นอัมพาต และเสี่ยงต่อการเสียชีวิต

อาการที่เกิดขึ้น เมื่อเกิดภาวะ ขาดวิตามินบี 1

  • อ่อนเพลีย ขาดมีสมาธิ ความจำไม่ดี หงุดหงิดง่าย
  • เจ็บหน้าอก นอนไม่หลับ ท้องผูก อืด เบื่ออาหาร ชาตามปลายเท้าสองข้าง
  • ปวดกล้ามเนื้อ ลุกไม่ขึ้น หากอาการรุนแรงอาจเป็นตะคริว ซึ่งมักเกิดในเวลากลางคืน
  • มีอาการเหน็บชาตามปลายมือและปลายเท้า ทำให้รู้สึกเจ็บแปล๊บ
  • เหนื่อยง่ายกว่าปกติ แขนขาอ่อนแรง ปัสสาวะลดลง ปวดตามน่อง อารมณ์แปรปรวน
  • น้ำหนักลด
  • เท้าบวม นอนราบไม่ได้ ผิวร้อน ใจสั่น ชีพจรเต้นเร็วผิดจังหวะ

การขาดวิตามินบี 1 ในระยะแรก อาจทำให้หัวใจเต้นช้าลง หากปล่อยไว้เป็นระยะเวลานานโดยไม่ได้รับการรักษาอาจเสี่ยงทำให้หัวใจล้มเหลว และเสียชีวิตในที่สุด

การรักษาการ ขาดวิตามินบี 1

แพทย์จะทำการตรวจเลือดและปัสสาวะ เพื่อวินิจฉัยให้แน่ชัดว่าผู้ป่วยมีภาวะขาดวิตามินบี 1 หรือเกิดขึ้นจากภาวะแทรกซ้อนอันเนื่องมาจากโรคทางกายชนิดอื่น สังเกตปริมาณของวิตามินที่ถูกขับออกมา บางรายอาจมีการตรวจหาค่าเอนไซม์จากเม็ดเลือดแดง (Erythrocyte Transketolase Activity) ในช่วงก่อนและหลังให้วิตามิน หากพบว่าการขาดวิตามินแบบไม่รุนแรง แพทย์จะให้รับประทานวิตามินบี 1 ชนิดอาหารเสริม วันละ 20-30 มิลลิกรัม ติดต่อกันประมาณ 3 สัปดาห์

ผู้ที่เกิดภาวะหัวใจวาย แพทย์จะใช้การฉีดวิตามินบี 1 จำนวน 50-100 มิลลิกรัมเข้าสู่เส้นเลือดดำ เพราะตอบสนองได้ดีกว่า  กรณีที่มีอาการทางประสาท ต้องฉีดเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 2 ครั้ง จนว่าอาการจะดีขึ้น และให้รับประทานวิตามินเสริมต่อเนื่องวันละ 20-30 มิลลิกรัม

การป้องกันตัวเองให้ห่างไกลจากภาวะ ขาดวิตามินบี 1

  • เลือกทานอาหารให้ครบตามหลักโภชนาการ  ซึ่งถ้าเป็นวิตามินบี 1 จะพบได้มากในข้าวซ้อมมือ ไข่แดง เนื้อสัตว์ นม ถั่ว โยเกิร์ต น้ำส้ม น้ำมะเขือเทศ และธัญพืชเปลือกบาง
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำลายวิตามิน เช่น ปลาร้า หมาก พลู ชา หอยแมลงภู่ หอยกาบ
  • ไม่รับประทานกุ้งดิบ เนื้อสัตว์ดิบ และปลาน้ำจืดบางชนิด เพราะมีเอนไซม์ Thiaminase ที่ลดการดูดซึม Thiamine

เนื่องจากวิตามินบี 1 เป็นวิตามินที่ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นเอง ต้องได้รับจากการรับประทานเท่านั้น อีกทั้งร่างกายยังสามารถสะสมไว้ในจำนวนจำกัด จึงจำเป็นต้องรับประทานอาหารที่มีวิตามินบี 1 เป็นประจำ

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?