สูงวัย ใครว่าไม่ต้องฉีดวัคซีน

สูงวัย ใครว่าไม่ต้องฉีดวัคซีน

HIGHLIGHTS:

  • วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้ถึง 90 % ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ในวัคซีนที่ตรงกับสายพันธุ์ที่ระบาดในขณะนั้น
  • การฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อปอดบวมนิวโมคอคคัสรุนแรงในผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง สามารถป้องกันโรคได้ประมาณ 68-78%

 

ผู้สูงอายุจะมีภูมิคุ้มกันโรคลดลง ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย การให้วัคซีนในผู้สูงอายุจึงเป็นการป้องกันการติดเชื้อก่อโรคสำคัญๆ ช่วยลดความรุนแรงของโรค ลดการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล และลดการเสียชีวิต

วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์

เนื่องจากสายพันธุ์ของเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่ มีการเปลี่ยนแปลงทุกปี ดังนั้นจึงควรฉีดวัคซีนเป็นประจำทุกปี ช่วยลดการเกิดโรคในผู้สูงอายุ ซึ่งหากเป็นแล้วจะมีอาการรุนแรงและเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่าคนทั่วไป อาจทำให้ระบบการหายใจล้มเหลวและเสียชีวิตได้

ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ ประกอบไปด้วย ชนิด A 2 สายพันธุ์ และ ชนิด B 2 สายพันธุ์ วัคซีนสามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้ และมีประสิทธิภาพสูงถึง 90% ในการป้องกันไข้หวัดใหญ่ ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ในวัคซีนที่ตรงกับสายพันธุ์ที่ระบาดในขณะนั้น นอกจากมีความปลอดภัยสูงแล้วยังช่วยลดโอกาสการป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ (รวมทั้งลดการเกิดหูชั้นกลางอักเสบในทารกและเด็กได้อีกด้วย) หลังฉีดวัคซีนอาจมีไข้ต่ำๆ ไม่รุนแรง 1-2 วัน และมักหายได้เอง

วัคซีนป้องกันบาดทะยัก คอตีบ ไอกรน

ในผู้สูงอายุ ภูมิคุ้มกันโรคบาดทะยัก คอตีบ ไอกรน ที่ได้รับมาในวัยเด็กจะลดลง จึงควรได้รับการฉีดวัคซีนกระตุ้น เพื่อช่วยลดความเจ็บป่วยและช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษา หากถูกของมีคมสกปรกทิ่มแทง รวมทั้งยังช่วยป้องกันโรคคอตีบและไอกรน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่คลุกคลีกับลูกหลานที่เป็นเด็ก มีความเสี่ยงในการติดโรคเหล่านี้จากเด็กหรือเอาโรคเหล่านี้ไปติดเด็กๆ ได้หากภูมิคุ้มกันไม่เพียงพอ ผู้สูงอายุที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อนแนะนำให้ฉีดวัคซีนรวมบาดทะยัก-คอตีบ-ไอกรน (Tdap) 1 เข็ม จากนั้นฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีน บาดทะยัก-คอตีบ (Td) ทุก 10 ปี วัคซีนนี้ยังสามารถฉีดได้ในผู้ใหญ่ตั้งแต่อายุ 19 ปีขึ้นไป เพื่อเสริมภูมิคุ้มกันให้ดีขึ้น

วัคซีนป้องกันโรคปอดบวมแบบรุนแรง

ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคปอดบวมรุนแรงหรือเชื้อนิวโมคอคัส (Streptococcal pneumonia) และมีความเสี่ยงที่เชื้อนี้จะลุกลามเข้ากระแสเลือด หรือขึ้นสมองเกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้ วัคซีนป้องกันเชื้อปอดบวมนิวโมคอคคัสรุนแรงสามารถครอบคลุมโรคได้ประมาณ 68-78 % ที่ใช้กันแพร่หลายในประเทศไทย มี 2 ชนิด ได้แก่

1.วัคซีนนิวโมคอคคัสแบบคอนจูเกต (Prevnar 13) มีหลายประเภท วัคซีนที่แนะนำให้ใช้คือ ประเภท 13 สายพันธุ์

2.วัคซีนนิวโมคอคคัสแบบโพลีแซคคาไรด์ (PPSV23)

กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อปอดอักเสบ

นอกจากผู้สูงอายุแล้ว ยังแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปอดบวมรุนแรงในกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อปอดอักเสบกลุ่มต่างๆ ดังนี้

  • ผู้ป่วยอายุ 19 -64 ปี มีโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคหัวใจ(ยกเว้นความดันโลหิตสูง) โรคปอดเรื้อรัง เช่น หอบหืด ถุงลมโป่งพอง เบาหวาน ตับแข็ง ดื่มสุรา สูบบุหรี่เป็นประจำ แนะนำฉีดวัคซีน PPSV23 1 เข็ม และเมื่ออายุ 65 ปี ให้ฉีด Prevnar 13 1 เข็ม ตามด้วย PPSV23 1 เข็มในอีก 1 ปีต่อมา
  • ผู้ป่วย อายุ ≥ 19 ปี ที่ไม่มีม้ามแต่กำเนิด หรือตัดม้าม หรือม้ามทำงานผิดปกติ โรคธาลัสซีเมีย ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำ หรือได้รับยาที่มีผลกดภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยติดเชื้อเอดส์ ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง หรือโรคไตรั่ว (Nephrotic syndrome) ผู้ป่วยที่มีโรคเฉพาะ ได้แก่ มีน้ำไขสันหลังรั่วในระบบทางเดินน้ำไขสันหลัง (Cerebral fluid leakage) และผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดฝังอุปกรณ์ช่วยฟังในหูชั้นใน (Cochlear implant) แนะนำฉีดวัคซีน Prevnar 13 1 เข็ม ตามด้วย PPSV23 1 เข็ม ในระยะเวลาสองเดือนหลังจากเข็มแรก จากนั้นฉีด PPSV23 ซ้ำทุก 5 ปี และหลังจากอายุ 65 ปี ให้ฉีด PPSV23 ซ้ำอีก 1 เข็ม (ห่างจากเข็มที่ฉีดก่อนอายุ 65 ปี อย่างน้อย 5 ปี) และไม่ต้องฉีดซ้ำอีก
  • สำหรับผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไปที่ไม่ได้มีข้อบ่งชี้ข้างต้น และไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันปอดบวมมาก่อนเลย แนะนำฉีด Prevnar 13 1 เข็ม ตามด้วย PPSV23 1 เข็มในอีก 1 ปีต่อมา แล้วไม่ต้องฉีดกระตุ้นซ้ำอีก

 

วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด

การเกิดโรคงูสวัดเพิ่มขึ้นมากอย่างชัดเจนในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ภาวะแทรกซ้อนจากโรคที่สำคัญคือ อาการปวด แสบร้อนตามผิวหนัง อาจเกิดแผลที่กระจกตา ตาอักเสบ ผู้สูงอายุมักจะมีอาการรุนแรง มีผื่นลามไปหลายตำแหน่ง หรืออาจมีการติดเชื้อขึ้นสมอง และยังมีอาการนานกว่าคนอายุน้อย จึงควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคและอาการแทรกซ้อนดังกล่าว

ปัจจุบันมีการใช้วัคซีนป้องกันงูสวัดในผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง แนะนำให้ฉีด 1 เข็ม จากการศึกษาในผู้สูงอายุที่ได้รับวัคซีนพบว่าสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้ 51.3 % ในช่วง 3 ปีหลังได้รับวัคซีน

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?