วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด ชนิดใหม่

วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด ชนิดใหม่

Highlights:

  • ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป มีภาวะภูมิคุ้มกันที่เสื่อมถอยลง และมากกว่า 90% ของผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี เคยติดเชื้อโรคอีสุกอีใสมาแล้ว ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดโรคงูสวัดได้ 
  • ภาวะแทรกซ้อนจากการเป็นโรคงูสวัดที่พบบ่อยที่สุด คือ โรคปวดเส้นประสาท (Post Herpetic Neuralgia – PHN) จะมีอาการปวดเส้นประสาทตลอดเวลา  ภาวะแทรกซ้อนบางอย่าง แม้พบไม่บ่อยแต่รุนแรงมาก เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เนื้อหุ้มสมองตาย ใบหน้าเป็นอัมพาตครึ่งซีก (Ramsay Hunt syndrome)
  • วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด ชนิดใหม่ มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคงูสวัด 97% และประสิทธิภาพในการป้องกันอาการปวดเส้นประสาท (PHN) 91.2% แนะนำฉีดในผู้ใหญ่ อายุ 50 ปีขึ้นไป โดยฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 2-6 เดือน

งูสวัดเกิดจากอะไร

โรคงูสวัด คือ โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส VZV (Varicella Zoster Virus) ซึ่งเป็นไวรัสชนิดเดียวกันกับไวรัสที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส โรคงูสวัดมักจะเกิดขึ้นกับผู้ใหญ่อายุ 50 ปีขึ้นไปที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสแล้ว เพราะเมื่อหายจากการเป็นโรคอีสุกอีใส เชื้อไวรัสอีสุกอีใสจะไปหลบอยู่ในปมประสาท เมื่อร่างกายอ่อนแอ หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันถดถอยตามวัย เชื้อจะถูกกระตุ้นขึ้นมาก่อให้เกิดโรค “งูสวัด

ผู้ที่เสี่ยงต่อโรคงูสวัด

  • ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป มีภาวะที่ภูมิคุ้มกันเสื่อมถอยลง และมากกว่า 90% ของผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี เคยติดเชื้อโรคอีสุกอีใสมาแล้ว ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดโรคงูสวัด 
  • ผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคปอด โรคไต รวมถึงผู้ที่เคยติดเชื้อ Covid-19 
  • กลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น กลุ่มที่ปลูกถ่ายไขกระดูกหรือปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ที่เป็นโรคแพ้ภูมิตัวเองอย่างโรคเอสแอลอี ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี กลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น

งูสวัด อาการเป็นอย่างไร

โรคงูสวัดอาการเริ่มแรก ผู้ป่วยจะมีผื่นแดงขึ้นตรงบริเวณที่ปวดแล้วกลายเป็นตุ่มน้ำใส มักเรียงกันเป็นกลุ่มหรือเป็นเเถวยาวตามแนวเส้นประสาท ต่อมาจะแตกออกเป็นแผลและตกสะเก็ด และมักมีอาการปวดแสบร้อนบริเวณผิวหนังร่วมด้วย  บางรายมีอาการปวดบริเวณผิวหนัง 4-5 วัน ก่อนที่จะมีตุ่มน้ำเกิดขึ้น 

ภาวะแทรกซ้อนและอันตรายของโรคงูสวัด

  • ภาวะแทรกซ้อนจากการเป็นโรคงูสวัดที่พบบ่อยที่สุด คือ โรคปวดเส้นประสาท (Post Herpetic Neuralgia – PHN) คือ มีอาการปวดเส้นประสาทตลอดเวลา อาจจะเกิดชั่วคราวหรือจะเกิดรุนแรงจนมีอาการปวดถาวรหลังจากผื่นหาย
  • ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังจนเกิดเป็นแผลเป็น อาการงูสวัดขึ้นตา (HZO) ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นของการโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) หรือโรคหลอดเลือดหัวใจ (Cardiovascular disease)
  • ภาวะแทรกซ้อนบางอย่าง แม้พบไม่บ่อยแต่รุนแรงมาก เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เนื้อหุ้มสมองตาย ใบหน้าเป็นอัมพาตครึ่งซีก (Ramsay Hunt syndrome)

 ผู้ที่เคยเป็นโรคงูสวัด มีโอกาสเป็นซ้ำประมาณ ร้อยละ 6.2 โดยมีปัจจัยเสี่ยง เช่น ความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ อายุมากกว่า 50 ปี ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ติดเชื้อเอชไอวี เป็นโรคมะเร็ง เป็นต้น

โรคงูสวัด สามารถป้องกันได้โดย

  • จัดการความเครียด รักษาสุขอนามัย การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงสัมผัสใกล้ชิดกับผู้มีอาการ
  • วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด ถือเป็นวิธีการป้องกันโรคงูสวัดที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด

วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด ปัจจุบันมี 2 ชนิด คือ

  • วัคซีนป้องกันงูสวัด ชนิดใหม่  ซับยูนิตวัคซีน (ไม่ใช่เชื้อเป็น) - Recombinant subunit zoster vaccine (RZV)
    • วัคซีนชนิดนี้ไม่มีไวรัสวาริเซลลา-ซอสเตอร์ที่มีชีวิต แต่จะใช้โปรตีนเฉพาะของไวรัสที่เรียกว่าไกลโคโปรตีนอีแทน
    • มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคงูสวัด 97% และประสิทธิภาพในการป้องกันอาการปวดเส้นประสาท (PHN) 91.2% ในผู้ใหญ่อายุ 50 ปีขึ้นไป
    • เมื่อติดตามยาวนานถึง 10 ปี พบว่า มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคงูสวัด 89%  
    • แนะนำฉีดในผู้ใหญ่ อายุ 50 ปีขึ้นไป โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อต้นแขน 2 เข็ม ห่างกัน 2-6 เดือน
    • แนะนำฉีดในผู้ที่มีอายุมากกว่า 18 ปี ที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคงูสวัดมากกว่าปกติ  เช่น ผู้ที่ระบบภูมิคุ้มกันมีปัญหา ผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์ และผู้ที่รับการรักษาด้วยรังสีวิทยาหรือเคมีบำบัด เพราะกลุ่มคนเหล่านี้จะมีภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอกว่าคนปกติ จึงทำให้เสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป  ฉีดเข้ากล้ามเนื้อต้นแขน 2 เข็ม ห่างกัน 1-2 เดือน
    • เนื่องจาก วัคซีนป้องกันงูสวัด ชนิดใหม่  ไม่มีไวรัสที่มีชีวิต จึงปลอดภัยสำหรับผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องหรืออ่อนแอ
  • วัคซีนป้องกันงูสวัดชนิดเดิม  เชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ - Live-attenuated zoster vaccine (ZVL) 
    (วัคซีน เชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ หมายถึงวัคซีนที่ผลิตขึ้นโดยใช้เชื้อโรคมาทำให้อ่อนฤทธิ์ลงจนไม่สามารถทำให้เกิดโรคแต่เพียงพอที่จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายได้)
    • มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคงูสวัดในผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป วัคซีนสามารถป้องกันการเกิดโรคได้ 51% และป้องกันการเกิดอาการปวดปลายประสาทอักเสบได้ 39%  
    • อาจพิจารณาให้ ZVL ขนาด 0.65 มล. 1 โดส ฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนัง ในผู้ที่อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป
    • ห้าม ให้วัคซีนชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ (ZVL) ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องรุนแรง หรือสตรีตั้งครรภ์ 

กรณีที่เคยได้รับวัคซีนงูสวัดชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ (ZVL) มาก่อน สามารถรับวัคซีนชนิดซับยูนิตวัคซีนได้ โดยให้ 2 เข็ม และเว้นห่างหลังจากวัคซีนเดิม อย่างน้อย 2 เดือน

คำแนะนำการรับวัคซีนงูสวัด

  1. สามารถให้วัคซีนงูสวัดได้ไม่ว่าจะเคยหรือไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน ไม่จำเป็นต้องตรวจว่ามีภูมิคุ้มกันโรค (varicella IgG) หรือไม่
  2. ในกรณีที่เคยเป็นงูสวัดมาก่อน สามารถให้วัคซีนงูสวัดได้ โดยให้เว้นระยะห่างหลังจากเป็นงูสวัดอย่างน้อย 6 เดือน
  3. หากอายุยังไม่ถึงเกณฑ์ที่จะต้องได้รับวัคซีนงูสวัด พิจารณาให้วัคซีนอีสุกอีใสก่อน ไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนงูสวัดเพื่อป้องกันโรคอีสุกอีใส

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?