มะเร็งปอด โอกาสรอด ถ้ารู้ทัน

มะเร็งปอด โอกาสรอด ถ้ารู้ทัน

HIGHLIGHTS:

  • มะเร็งปอด มักไม่มีสัญญาณเตือน กว่าจะตรวจพบก็มักจะเป็นระยะลุกลามแล้ว และผู้ป่วยจะมีอัตราการเสียชีวิตสูงมาก
  • มะเร็งปอดสามารถรักษาให้หายขาดได้สูงถึง 90% ถ้าพบตั้งแต่ระยะแรก
  • การตรวจคัดกรองมะเร็งปอดด้วยการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำ จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้ถึง 20%

มะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่คร่าชีวิตคนทั่วโลกเป็นอันดับต้นๆ ความน่ากลัวคือ ไม่มีสัญญาณเตือนที่ชัดเจนในช่วงแรก

กว่าจะตรวจพบก็มักเป็นระยะลุกลามแล้วและหลังตรวจพบว่าเป็นมะเร็งปอด ผู้ป่วยจะมีอัตราการเสียชีวิตสูง หากสามารถตรวจได้ตั้งแต่ในระยะแรก มีโอกาสรักษาให้หายขาดสูงถึง 90%

สาเหตุที่สำคัญของมะเร็งปอด คือ การสูบบุหรี่ การตรวจคัดกรองจึงมักทำในคนที่สูบบุหรี่เป็นหลักเพราะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ในปัจจุบันพบว่า นอกเหนือจากผู้ที่สูบบุหรี่แล้ว ยังมีคนกลุ่มอื่นสามารถเป็นมะเร็งปอดได้ เช่นผู้ที่รับควันบุหรี่บ่อยครั้ง ผู้ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีสารจำพวกใยหิน สารกัมมันตรังสี ควันพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมและรถยนต์ รวมทั้งผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งปอดหรือมะเร็งอื่นๆ

การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอดตั้งแต่เริ่มต้น นิยมใช้ การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำ หรือ low-dose computed tomography (low-dose CT) เพราะมีความไวสูง เมื่อเทียบกับเอกซเรย์ปอดแบบธรรมดา สามารถตรวจหาก้อนมะเร็งได้ แม้ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กหรือถูกบดบังโดยอวัยวะอื่น ทำให้แพทย์ตรวจพบก้อนมะเร็งได้ตั้งแต่ระยะแรกๆ ให้การรักษาได้ทันท่วงที และหายขาดได้ ทำให้อัตราการเสียชีวิตลดลง

ใครบ้างที่ควรตรวจความเสี่ยงมะเร็งปอด

  • ผู้ที่ไอแบบไม่มีสาเหตุ เป็นระยะเวลานานมากกว่า 1 เดือน
  • ผู้ที่มีความกังวลต่อการเกิดมะเร็งปอด
  • ผู้ที่สูบบุหรี่ หรือเคยมีประวัติสูบบุหรี่ที่อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป
  • ผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวสูบบุหรี่หรืออยู่ใกล้ชิดกับคนสูบบุหรี่
  • ผู้ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีสารจำพวกใยหิน สารกัมมันตรังสี ควันพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมและรถยนต์
  • ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งปอดหรือมะเร็งอื่นๆ

 

ผู้ที่มีความเสี่ยงข้างต้นควรมาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสม และเพื่อไม่ให้มะเร็งปอดเป็นอีกหนึ่งโรคที่ต้องพรากเราหรือคนที่เรารักไป

อ้างอิง https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/29425790
Adv Med Sci. 2018 Feb 6;63(2):230-236. doi: 10.1016/j.advms.2017.12.002.
Low-dose computed tomography screening reduces lung cancer mortality.

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?