ความเสี่ยงของครรภ์แฝด

ความเสี่ยงของครรภ์แฝด

HIGHLIGHTS:

  • ครรภ์แฝด ที่มีความเสี่ยงสูงและแพทย์เป็นห่วงมากที่สุดคือครรภ์แฝดที่มีรกอันเดียวและใช้ถุงน้ำคร่ำเดียวกัน ซึ่งกลุ่มนี้อาจเกิดภาวะตัว หรือ อวัยวะอื่นๆ ติดกัน และมีปัญหาเรื่องของน้ำหนักของทารกและการเจริญเติบโตช้า
  • การตั้งครรภ์แฝดอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนแก่มารดาในระยะตั้งครรภ์ได้ ที่พบบ่อยคือ ภาวะแท้ง โลหิตจาง ความดันโลหิตสูง และมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานได้มากกว่าครรภ์ปกติ

สำหรับคู่สมรสที่อยากมีลูกหลายคน การตั้งครรภ์แฝดเป็นสิ่งที่หลายๆ คู่ แอบรู้สึกดีและต้องการให้เกิดขึ้น คุณแม่บางคนก็รู้สึกสบายที่ไม่ต้องอุ้มท้องและเจ็บตัวคลอดหลายครั้ง แต่ในอีกมุมหนึ่งนั้น การตั้งครรภ์แฝดในทางการแพทย์ถือเป็นการตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูง เพราะมดลูกของมนุษย์ถูกออกแบบมารองรับการตั้งครรภ์เพียงครั้งละ 1 คน การมีครรภ์แฝดอาจส่งผลให้มีปัญหาต่างๆ ตามมาได้ง่ายขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายต่อทั้งแม่และเด็กได้

ครรภ์แฝด เกิดขึ้นได้บ่อยแค่ไหน

ถ้าในสมัยก่อนอัตราก็จะอยู่ที่ 3 ใน 1,000 แต่ในปัจจุบันพบว่าการตั้งครรภ์แฝดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้เนื่องจากมีปัจจัยหลายประการ แต่หลักๆ แล้วโอกาสที่จะทำให้เกิดครรภ์แฝดได้มีอยู่ 2 ประการ คือ

  1. ประวัติครอบครัวมีครรภ์แฝดมาก่อน
  2. เทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ ซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีในการเจริญพันธุ์ ทั้งการใช้ยากระตุ้นให้ไข่ตก การทำเด็กหลอดแก้ว การใส่ตัวอ่อน และ อื่นๆ ทั้งหมดนี้มีส่วนช่วยทำให้โอกาสเกิดครรภ์แฝดมีสูงขึ้น

ประเภทของครรภ์แฝด

ครรภ์แฝด มีอยู่ด้วยกัน 3 ลักษณะ คือ

  1. ครรภ์แฝดที่มีรกสองอัน และถุงน้ำคร่ำแยกกัน
  2. ครรภ์แฝดที่มีรกอันเดียว แต่ถุงน้ำคร่ำแยกจากกัน
  3. ครรภ์แฝดที่มีรกอันเดียว และใช้ถุงน้ำคร่ำเดียวกัน

ซึ่งแต่ละประเภทก็มีความเสี่ยงที่แตกต่างกันไป แต่ประเภทที่มีความเสี่ยงสูงและแพทย์จะเป็นห่วงมากก็คือประเภทที่ 3 ซึ่งกลุ่มนี้อาจมีปัญหาได้หลายอย่าง ตั้งแต่ตัวติดกัน อวัยวะอื่นๆ ติดกัน ซึ่งปกติกรณีแบบนี้ก็เสี่ยงอยู่แล้ว หากไม่ใช่กรณีตัวหรืออวัยวะติดกัน อาจจะมีกรณีเด็กดิ้นมากจนสายสะดือพันกันในที่สุดทำให้เด็กทั้ง 2 คนเสียชีวิตก็มีโอกาสเป็นไปได้ หรือ การแย่งอาหารกันของทารกในครรภ์ เพราะรกมีอันเดียว เด็กมีสองคนจึงต้องแบ่งกันใช้ จึงทำให้เกิดปัญหาเรื่องของน้ำหนักของทารกและเรื่องการเจริญเติบโตช้า

สัญญาณบ่งบอกว่ากำลังมีครรภ์แฝดคืออะไร

สำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์เองตามธรรมชาติ ในช่วงแรกนั้นอาการอาจไม่แตกต่างจากครรภ์ปกติทั่วไป แต่ให้สังเกตอยู่  2 ประการหลักๆ คือ แพ้ท้องมากกว่าปกติหรือไม่ เพราะอาการแพ้ท้องจะมาจากฮอร์โมนที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ และประการที่สองคือขนาดหน้าท้อง ต้องสังเกตดูว่าหน้าท้องมีขนาดโตผิดปกติหรือไม่ ทางที่ดีที่สุดแนะนำให้เข้ามาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจครรภ์ เพราะครรภ์ที่โตขึ้นนั้นอาจเป็นได้หลายอย่างทั้งการตั้ง ครรภ์แฝด หรือเป็นเพราะคุณแม่อ้วนมาก มีไขมันหน้าท้องมาก หรือมีน้ำคร่ำมากกว่าปกติ สำหรับคุณแม่ที่มีบุตรยากและได้รับการรักษาดูแลจากแพทย์โดยใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์จะทราบอยู่แล้วว่าตนเองตั้งครรภ์แฝด เพราะแพทย์จะต้องตรวจดูแลคุณแม่โดยใช้เครื่องอัลตราซาวด์อย่างสม่ำเสมอ

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?