ปัจจัยในการพิจารณาการรักษาขึ้นอยู่กับ อายุ อาชีพ และความรุนแรงของโรค เมื่อหาสาเหตุได้แล้วควรจะทำการรักษาตั้งแต่ต้นตอ เช่น ถ้ามีการอักเสบของข้อ ใช้ยาลดการอักเสบ ลดกิจกรรมเพื่อลดการอักเสบ หรือการฉีดยาเข้าข้อ เพื่อลดการอักเสบ หรือปรึกษาแพทย์เฉพาะทางของโรคที่เกี่ยวข้องกับข้ออักเสบนั้น เพื่อป้องกันการนำไปสู่ภาวะข้อศอกติด
แต่หากปล่อยทิ้งไว้จนมาถึงปลายทางเมื่อข้อศอกติดไปแล้ว อีกทั้งล้มเหลวจากการรักษาด้วยการให้ยารับประทาน ฉีดยา การทำกายภาพบำบัด ในกรณีที่ทำการรักษาตามขั้นตอนดังกล่าวมาแล้วไม่ประสบผลสำเร็จ ควรจะต้องพิจารณาผ่าตัด โดยเฉพาะในรายที่หาสาเหตุได้ชัดเจน การผ่าตัดจะช่วยให้ข้อศอกสามารถกลับมาใช้งานได้เป็นปกติ

การผ่าตัดข้อศอก รักษาภาวะข้อศอกติด
อย่างที่ทราบกันดีว่าในปัจจุบันการ ผ่าตัดข้อศอก นั้นมี 2 แบบ คือ การผ่าตัดแบบเปิด และการผ่าตัดส่องกล้อง
ซึ่งการผ่าตัดส่องกล้องในปัจจุบัน นอกจากจะให้ผลการรักษาที่ดีแล้ว ยังช่วยลดการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อบริเวณรอบๆ ได้มากขึ้นเมื่อเทียบกับการผ่าตัดแบบเปิดซึ่งจะต้องรบกวนเนื้อเยื่อหลายส่วน การขยายภาพของกล้องช่วยให้เห็นได้ชัดเจนมากขึ้น ทำให้การรักษาตรงจุดมากขึ้น เมื่อมีแผลเล็กเจ็บน้อย จึงช่วยให้โปรแกรมการรักษาหลังการผ่าตัด การทำกายภาพบำบัด ทำได้ดีขึ้น ง่ายขึ้น ผู้ป่วยจึงฟื้นตัวเร็วขึ้นนั่นเอง

การดูแลตัวเองหลังการผ่าตัดข้อศอก
การดูแลหลังการผ่าตัด ในเบื้องต้นควรลดภาวะบวมหรือลดอักเสบหลังผ่าตัด โดยการทานยา หลังจากนั้นให้เน้นการเคลื่อนไหว หรือในบางรายอาจพิจารณาให้ยาป้องกันแคลเซียมพอกในกล้ามเนื้อ เพื่อป้องกันการเป็นซ้ำ
“การรักษาภาวะข้อศอกติดจะมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำหรือไม่ ขึ้นอยู่กับพยาธิสภาพของโรคและร่างกายของคนไข้ ที่สำคัญการได้รับความร่วมมือต่อโปรแกรมหลังผ่าตัด หากคนไข้ให้ความร่วมมือ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด โอกาสการกลับมาเป็นซ้ำนั้นค่อนข้างจะต่ำมากครับ”
