อาการชักจากไข้สูง (Febrile Seizures)

อาการชักจากไข้สูง (Febrile Seizures)

HIGHLIGHTS:

  • เมื่อเด็กมีไข้ ควรดูแลให้ยาลดไข้และเช็ดตัวลดไข้ สิ่งที่สำคัญ คือ หากเด็กชักจากไข้ ควรพาเด็กมาพบแพทย์เพื่อประเมินอาการ และรับการรักษาที่ถูกต้องหากพบอาการผิดปกติ
  • หากเด็กชักไม่ควรใส่ด้ามช้อนหรือวัตถุใดๆ เข้าไปในปากเด็กเพื่อป้องกันการกัดลิ้น เพราะอาจทำให้เกิดบาดแผลหรือบาดเจ็บในช่องปากได้
  • หากเด็กเกิด อาการชักจากไข้สูง สิ่งสำคัญที่สุดผู้ปกครองต้องทำคือ ตั้งสติ ทำจิตใจให้สงบ และให้การช่วยเหลืออย่างถูกต้อง

อาการชักจากไข้สูง ในเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 6 ปี

อาการชักจากไข้สูง มักจะเกิดขึ้นในวันแรกของการมีไข้ โดยเฉพาะในช่วงอายุ 6 เดือนถึง 6 ปี และ ถึงแม้ว่าอาการชักจะดูน่ากลัว แต่มักจะหยุดชักได้เองหลังชักเพียงไม่กี่นาที โดยไม่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่นใดตามมา แต่ทางที่ดีพ่อ แม่ ผู้ปกครองควรพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อตรวจหากความผิดปกติหลังการชักอย่างละเอียด

ในระหว่างการชัก เด็กอาจจะมีอาการแขนขากระตุก ตัวสั่น ร้องคราง ไม่รู้สึกตัว


กรณีฉุกเฉิน โทร: 0 2022 2222 โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช เพื่อเรียกรถพยาบาลฉุกเฉิน ตลอด 24 ชม.


สิ่งที่ต้องทำเมื่อเด็กมีอาการชัก

ที่สำคัญคือพ่อ แม่ ผู้ปกตรองต้องตั้งสติ ทำจิตใจให้สงบ และอยู่กับเด็กเพื่อให้การช่วยเหลือ อย่างถูกต้อง ดังนี้

  • ป้องกันเด็กจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้น โดยเคลื่อนย้ายวัตถุมีคมหรือของแข็งออกห่างจากตัวเด็ก
  • หาหมอนหรือวัตถุแบนราบและนุ่ม หนุนรองบริเวณศีรษะเด็ก
  • ให้เด็กนอนตะแคงข้างเพื่อป้องกันการสำลัก
  • คลายเสื้อผ้าที่รัดแน่นให้หลวม
  • เช็ดตัวลดไข้ เช็ดถูแรงๆ ด้วยผ้าชุบน้ำธรรมดา พร้อมบีบนวดมือเท้ากระตุ้นการไหลเวียนโลหิตให้ดีขึ้น
  • ถ้ามีอาเจียนหรือมีเศษอาหารในปากให้ล้วงออก และระวังการสำลัก
  • ในกรณีที่ชักนานเกิน 5 นาที ให้ผู้อื่นช่วยโทรศัพท์แจ้งแผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาล ที่อยู่ใกล้บ้าน เพื่อขอความช่วยเหลือ ไม่ควรทิ้งเด็กให้อยู่คนเดียว
  • ไม่ควรใส่ด้ามช้อนหรือวัตถุใดๆ เข้าไปในปากเด็กเพื่อป้องกันการกัดลิ้น เพราะอาจทำให้เกิดบาดแผลหรือบาดเจ็บในช่องปากได้
  • ไม่ควรจับยึดตรึงเด็กขณะกำลังชักและกระตุกเกร็งแขนขา  เพราะอาจทำอันตรายต่อท่านและเด็กได้
  • ไม่ควรป้อนยาหรือน้ำขณะกำลังชัก
  • ไม่ควรตื่นกลัว อาการชักจากไข้ส่วนใหญ่มักเป็นอยู่ไม่นานเกิน 3 นาที และหยุดได้เอง เด็กอาจมีอาการเขียวบ้างเล็กน้อยซึ่งเป็นสิ่งที่พบได้ในขณะที่กำลังชัก

กรณีฉุกเฉิน โทร: 0 2022 2222 โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช เพื่อเรียกรถพยาบาลฉุกเฉิน ตลอด 24 ชม.


การดูแลหลังเด็กชัก

เด็กอาจรู้สึกสับสน หรือ ง่วงนอนภายหลังชักได้ ปล่อยให้เด็กหลับ

เด็กบางรายอาจหงุดหงิดร้องกวน หรือ อาจมีอาเจียน ในขณะชักเด็กบางรายอาจกัดลิ้นหรือแก้มตัวเอง ให้ใช้ผ้าสะอาดกดบริเวณบาดแผลเพื่อห้ามเลือด

จะป้องกันได้อย่างไร

อาการชักจากไข้เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และไม่ทราบว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด ดังนั้นเมื่อเด็กมีไข้ ควรดูแลให้ยาลดไข้และเช็ดตัวลดไข้

สิ่งที่สำคัญ คือ หลังจากเด็กชักจากไข้ ควรพาเด็กมาพบแพทย์เพื่อประเมินอาการหลังชักและรับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?