ชิคุนกุนยา อีกหนึ่งโรคร้ายจากยุงลายที่ควรรู้จัก

ชิคุนกุนยา อีกหนึ่งโรคร้ายจากยุงลายที่ควรรู้จัก

HIGHLIGHTS:

  • โรคชิคุนกุนยา หรือโรคไข้ปวดข้อ มีสาเหตุจากยุงลาย และมีอาการเช่นเดียวกับไข้เลือดออก
  • ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดข้อและกล้ามเนื้อ มีผื่นแดงตามแขนขา ตาแดง ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ ท้องเสีย
  • แม่ตั้งครรภ์ที่เป็นโรคชิคุนกุนยาสามารถถ่ายทอดไปยังทารกได้

ยุงลาย พาหะไข้เลือดออกและโรคชิคุนกุนยา

นอกจากเป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออกแล้ว  ยังเป็นพาหะของโรคชิคุนกุนยา (Chikungunya) หรือโรคไข้ปวดข้ออีกด้วยซึ่ง 2 โรคนี้ มีอันตรายไม่แพ้กัน  โดยเฉพาะเมื่อเกิดขึ้นกับเด็ก อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนและรุนแรง ต่ออวัยวะสำคัญของร่างกาย เช่น ตับ ไต และหัวใจได้

การติดต่อของโรคชิคุนกุนยา

ชิคุนกุนยา เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา เป็นเชื้อไวรัสที่อยู่ในตระกูล Togaviridae โดยมียุงลายสวน (Aedes albopictus) และยุงลายบ้าน (Aedes aegypti) เป็นพาหะนำโรค   ซึ่งพบได้ทั่วไปทั้งในเมืองใหญ่และชนบท  มักระบาดในช่วงฤดูฝน หรือ บริเวณที่มีน้ำขัง  ทั้งนี้ยุงลายมักชุกชุมและออกหากินช่วงกลางวัน  ทำให้เด็กๆ ที่ชอบออกมาเล่นนอกบ้านหรืออยู่ในโรงเรียน เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรค นอกจากนี้แม่ตั้งครรภ์ที่เป็นโรคชิคุนกุนยายังสามารถถ่ายทอดไปยังทารกได้อีกด้วย

อาการของโรคชิคุนกุนยา

เนื่องจากโรคไข้เลือดออก และโรคชิคุนกุนยามียุงลายเป็นพาหะเช่นเดียวกัน รวมถึงอาการที่แสดงออกยังคล้ายคลึงกัน  จึงอาจพบผู้ป่วยเป็นทั้ง 2 โรคพร้อมๆ กันได้  อย่างไรก็ตาม โรคชิคุนกุนยามีความรุนแรงน้อยกว่าโรคไข้เลือดออกมาก  ทั้งนี้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อชิคุนกุนยาจะมีไข้สูงขึ้นอย่างเฉียบพลันกว่าโรคไข้เลือดออก และระยะเวลาของไข้ก็สั้นกว่าเพียง 2 วันเท่านั้น ขณะที่ไข้เลือดออก จะเป็นไข้นานถึง 4 วัน  ส่วนใหญ่ไม่พบว่าผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยาเกิดอาการช็อค เพราะเชื้อชิคุนกุนยาไม่ทำให้ พลาสม่ารั่วออกนอกเส้นเลือด ทั้งนี้ยังพบผื่นแดงตามร่างกาย ตาแดง และภาวะปวดตามข้อได้มากกว่าผู้ป่วยไข้เลือดออกด้วย

เชื้อชิคุนกุนยามีระยะฟักตัวของโรค 3-7 วัน หลังจากถูกยุงลายกัด และเมื่อครบระยะฟักตัว อาการจะแสดงออกดังนี้

  • ไข้สูงเฉียบพลัน และอาจสูงถึง 40 องศาเซลเซียส หลังจากนั้น 2-3 วัน ไข้จะเริ่มลดลง
  • ปวดข้อและเมื่อยกล้ามเนื้อ มีภาวะข้ออักเสบ โดยพบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก แต่สามารถหายเองได้ใน 2 สัปดาห์ ในผู้ใหญ่ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไปอาจมีภาวะปวดข้อเรื้อรังได้
  • เกิดผื่นแดงตามแขนขาหรือทั่วร่างกาย
  • ตาแดง
  • รับประทานอาหารไม่ได้
  • คลื่นไส้ อาเจียน และปวดศีรษะ
  • อ่อนเพลีย หรืออาจท้องเสีย

การวินิจฉัยโรคชิคุนกุนยา

แพทย์เริ่มต้นด้วยการซักประวัติและอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้น หลังจากนั้นแพทย์จะใช้การเจาะเลือดผู้ป่วยส่งห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันโรค และหาเชื้อไวรัส ซึ่งเป็น การวินิจฉัยโรคชิคุนกุนยาที่ดีที่สุด  โดยทราบผลเร็วภายใน 1 – 2 วัน หรือถ้านานอาจทราบใน 1 – 2 สัปดาห์

การรักษาโรคชิคุนกุนยา

ปัจจุบันยังไม่มียารักษาไวรัสชิกุนคุนยาโดยเฉพาะ รวมถึงไม่มีวัคซีนป้องกัน  ดังนั้นการรักษาจึงเป็นไปตามอาการ โดยแพทย์อาจให้ยาลดไข้ แก้ปวด ซึ่งผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวดังนี้

  • ดื่มน้ำมากๆ ให้เพียงพอ อย่าปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำเด็ดขาด
  • พักผ่อนให้เต็มที่
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่
  • รับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด

การป้องกันโรคชิคุนกุนยา

วิธีป้องกันโรคชิคุนกุนยาที่สำคัญที่สุดคือการหลีกเลี่ยงไม่ถูกยุงลายกัด ซึ่งสามารถทำได้โดย

  • รักษาความสะอาดของบ้าน  ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง  โดยไม่ให้มีน้ำท่วมขัง
  • ปลูกต้นไม้หรือจัดสวนให้โปร่งโล่ง ให้แสงแดดส่อง
  • นอนในมุ้งหรือห้องที่มีมุ้งลวดเพื่อป้องกันยุงกัด
  • ช่วงที่มีการระบาดของยุงลาย ควรใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว รวมถึงทายากันยุง แม้จะเป็นเวลากลางวันก็ตาม

แม้โรคชิกุนคุนยาจะไม่อันตรายถึงชีวิตและมีความร้ายแรงน้อยกว่าโรคไข้เลือดออกก็ตาม แต่โรคภัยไข้เจ็บทุกโรคย่อมส่งผลเสียให้กับร่างกาย โดยเฉพาะผู้ที่มีความต้านทานโรคต่ำ เช่น เด็กและผู้สูงอายุ  อาจเกิดผลแทรกซ้อนที่ยากแก่การรักษา ดังนั้น จึงควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ  รวมถึงหากมีอาการไข้สูง เบื่ออาหาร ขาดน้ำ ฯลฯ ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกวิธีและมีประสิทธิภาพ

 

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?