ปัจจุบันการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเพื่อรักษาโรคธาลัสซีเมียมีการพัฒนามากขึ้น โดยการนำเซลล์ต้นกำเนิดจากพ่อหรือแม่มาใช้ในการรักษา (Haploidentical Stem cell Transplantation) ซึ่งผู้บริจาคเซลล์ต้นกำเนิดมี HLA ที่เหมือนกันกับผู้ป่วยเพียงครึ่งเดียว ก็สามารถปลูกถ่ายไขกระดูกได้ โดยส่วนใหญ่ผู้บริจาคคือพ่อหรือแม่ของผู้ป่วยเอง จึงเป็นการเพิ่มโอกาสการรักษามากยิ่งขึ้น
การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดชนิดเหมือนกันเพียงครึ่งเดียว ใช้วิธีการเหมือนกับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดแบบธรรมดา โดยไม่ต้องรับการผ่าตัด แต่เป็นการให้ยาเคมีบำบัดเพื่อทำลายไขกระดูกเดิม จากนั้นนำเซลล์ต้นกำเนิด (Stem cell) ของผู้บริจาคให้กับผู้ป่วยทางเส้นเลือด โดยเซลล์จะนำเข้าไปในไขกระดูกและสร้างเซลล์เม็ดเลือดตามปกติ
หลังจากนั้นผู้ป่วยจะได้รับยากดภูมิคุ้มกันเพื่อควบคุมอาการปฏิเสธไขกระดูกเป็นเวลา 6 เดือน ถึง 1 ปี ซึ่งจำเป็นจะต้องอาศัยประสบการณ์ของทีมแพทย์ที่เชี่ยวชาญโรคเลือดและโรคมะเร็งในการเลือกใช้ยาที่เหมาะสมด้วยความระมัดระวัง
การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเพียงครึ่งเดียว จึงเป็นวิธีการรักษาที่จะทำให้เพิ่มโอกาสในการรักษาโรคธาลัสซีเมียให้หายขาดได้มากขึ้น