PM2.5 ฝุ่นเล็ก ๆ กับสุขภาพของเด็กตัวน้อย

PM2.5 ฝุ่นเล็ก ๆ กับสุขภาพของเด็กตัวน้อย

HIGHLIGHTS:

  • ฝุ่นในเด็กที่เป็นโรคภูมิแพ้และโรคหืด ทางเดินหายใจของเด็กกลุ่มนี้จะมีความไวต่อการกระตุ้นจากฝุ่นละออง หากได้รับฝุ่นละออง PM 2.5 จะทำให้อาการของโรคแย่ลงง่ายกว่าคนทั่วไป 
  • พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ไม่ควรให้เด็กๆ ทำกิจกรรมนอกบ้านหรือกลางแจ้ง ทั้งในโรงเรียนและสถานที่อื่นๆ เพื่อหลีกเลี่ยงจากฝุ่นละออง PM 2.5 
  • หากเด็กมีอาการ น้ำมูกไหล ไอจาม แน่นหน้าอก หายใจลำบาก แสบตา น้ำตาไหล ตาแดง ให้พบกุมารแพทย์ เพื่อตรวจร่างกายให้ละเอียด หากมีภาวะจำเป็นอาจต้องตรวจเพิ่มเติมโดยแพทย์เฉพาะทาง

สถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในปัจจุบันได้สร้างความหวาดกลัวให้แก่ประชาชนเป็นอย่างมาก

ทุกคนคงต้องความรู้จักกับ PM 2.5 และการป้องกันมลพิษทางอากาศชนิดนี้ จะได้ไม่เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของตัวเองและคนในครอบครัวโดยเฉพาะเด็กเล็ก

PM (Particulate Matter) 2.5

คือ อนุภาคขนาดเล็กที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเฉลี่ยน้อยกว่า/เท่ากับ 2.5 ไมครอน แขวนลอยอยู่ในอากาศรวมกับไอน้ำ ควัน และก๊าซต่างๆ  เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงธรรมชาติที่ไม่สมบูรณ์ เช่น การเผาไหม้ของรถยนต์ การเผาสิ่งปฏิกูล ควันบุหรี่ รวมถึงฝุ่นจากการก่อสร้าง เนื่องจาก PM 2.5 มีขนาดเล็กมาก ทำให้เมื่อเราสูดเข้าไป อนุภาคเล็กๆ เหล่านี้จะสามารถผ่านลงไปได้ลึกจนถึงถุงลมซึ่งเป็นส่วนปลายสุดของปอด ทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อหลอดลมฝอย ถุงลม และยังดูดซึมผ่านเส้นเลือดฝอยผ่านเข้าสู่กระแสเลือดได้ในที่สุด ซึ่งสารเหล่านี้จะมีผลต่อร่างกายมากมาย ทำให้สารต้านอนุมูลอิสระของร่างกายลดลง เกิดการอักเสบของทางเดินหายใจในคนสูงอายุและโดยเฉพาะเด็กเล็ก รวมถึงคนที่มีโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรังได้แก่ โรคภูมิแพ้ โรคหืด และโรคถุงลมโป่งพอง ซึ่งจะทำให้มีอาการกำเริบได้ ในระยะยาวยังมีผลต่อาการทำงานของปอดด้วย

ในเด็กที่เป็นโรคภูมิแพ้และโรคหืด ทางเดินหายใจของเด็กกลุ่มนี้จะมีความไวต่อการกระตุ้นจากฝุ่นละออง ซึ่งทำให้อาการของโรคแย่ลงง่ายกว่าคนทั่วไป มีวิธีสังเกตุอาการว่าได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศดังกล่าว หรือได้สูดฝุ่นละอองเข้าไปปริมาณมากหรือไม่นั้นสามารถสังเกตุจากอาการ น้ำมูกไหล ไอจาม แน่นหน้าอก หายใจลำบาก แสบตา น้ำตาไหล ตาแดง 

ถ้าพบว่าเด็กๆ มีอาการดังกล่าว แนะนำให้พบกุมารแพทย์ เพื่อตรวจร่างกายให้ละเอียด หากมีภาวะจำเป็นอาจต้องตรวจเพิ่มเติมโดยแพทย์เฉพาะทางต่อไป

สำหรับการป้องกันผลกระทบจากสภาพอากาศดังกล่าว ที่จะเกิดขึ้นกับเด็ก ๆ สามารถทำได้โดย

  1. ให้เด็ก ๆ หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง
  2. หากจำเป็นต้องออกนอกอาคาร แนะนำให้ใส่หน้ากากอนามัย N95 เพื่อปิดปากและจมูก

    “สำหรับหน้ากาก N95 คือหน้ากากอนามัยที่มีคุณสมบัติป้องกันโมเลกุลขนาดเล็กทั้งฝุ่น PM2.5 รวมทั้งเชื้อโรคขนาดเล็ก เช่น วัณโรค สามารถป้องกันฝุ่นละอองและมลพิษทางอากาศได้ดี กรองฝุ่นละอองที่มีขนาด 0.1-0.3 ไมครอนได้ 95% เป็นอย่างน้อย โดยหากจะสวมหน้ากาก N95 ต้องสวมให้ถูกวิธี ต้องมีการทำ Fit test คือการกดขอบลวดด้านบนให้แนบกับดั้งจมูก และดึงสายรัดให้ตึง ระหว่างการหายใจต้องไม่มีลมรั่วออกด้านข้าง”

  3. ปิดประตูหน้าต่างที่บ้าน เพื่อป้องกันฝุ่นละอองเข้าบ้าน 
  4. ช่วยกันป้องกันไม่ให้เกิดมลพิษ ช่วยกันควบคุมแหล่งกำเนิดของมลพิษ
  5. เด็ก ๆ ที่มีโรคประจำตัว เช่น หอบหืด ภูมิแพ้โรคทางเดินหายใจ ควรเตรียมยาประจำตัวให้พร้อม และทานยาประจำสม่ำเสมอ คุณพ่อ คุณแม่ควรพกยาที่จำเป็นติดตัว เพื่อให้เด็กใช้เมื่อมีอาการกำเริบ
คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?