ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ ก็ยังได้ยินข่าวว่าไข้เลือดออกได้คร่าชีวิตเด็กและผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อย ไข้เลือดออกเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (dengue virus) ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะนำโรค มักพบในประเทศเขตร้อนและระบาดในช่วงฤดูฝนของทุกปี อาการแสดงของโรคมีตั้งแต่ ไม่มีอาการผิดปกติไปจนถึงมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ อาเจียน และรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที นอกจากนี้ไข้เลือดออกยังเป็นโรคที่คาดเดาได้ยากว่าจะอาการรุนแรงหรือไม่
สาเหตุการติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออก
โรคไข้เลือดออก มีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี 1 ใน 4 สายพันธุ์ ได้แก่ DENV-1, DENV-2, DENV-3 DENV-4 ผ่านการกัดของยุงลายบ้าน หรือยุงไข้เหลืองเพศเมีย (aedes aegypti) เมื่อยุงลายกัดและดูดเลือดผู้ที่มีเชื้อไวรัสเดงกีช่วงที่ไวรัสแพร่กระจายในกระแสเลือด และยุงตัวนั้นไปกัดผู้อื่น เชื้อไวรัสเดงกีจะแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดของผู้ที่ถูกกัดจนทำให้เกิดการติดเชื้อไวรัส
อาการของโรคไข้เลือดออกในเด็ก
เนื่องจากเชื้อไวรัสเดงกีทั้ง 4 สายพันธุ์ มีการแพร่ระบาดสลับหมุนเวียนกัน ทำให้ในแต่ละปีมีสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดแตกต่างกันออกไป ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อไวรัสเดงกีได้มากกว่า 1 ครั้ง กรณีติดเชื้อครั้งที่ 2 เกิดจากสายพันธุ์ที่แตกต่างจากครั้งแรก อาจมีอาการรุนแรงเพิ่มมากขึ้น โดยอาการของโรคไข้เลือดออกแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้
-
ระยะไข้สูง (febrile phase) เป็นระยะไข้สูงลอยแบบเฉียบพลัน มีไข้ 39-40 องศาเซลเซียส นานติดต่อกัน 2-7 วัน ระยะนี้มักไม่ตอบสนองต่อยาลดไข้ และมักมีอาการอื่นร่วมด้วย ได้แก่
-
ปวดศีรษะ
- ปวดเบ้าตา
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
- เบื่ออาหาร
- ปวดข้อ ปวดกระดูก
- มีจ้ำเลือดบริเวณผิวหนัง
-
ระยะวิกฤติ (critical phase) หลังระยะไข้สูงประมาณ 3-7 วัน ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะช็อก หมดสติ หัวใจหยุดเต้น และเสียชีวิต โดยมีอาการ ดังนี้
-
ระยะฟื้นตัว (recovery phase) หากผ่านระยะไข้สูงโดยไม่ได้เข้าสู่ระยะวิกฤต หรือพ้นจากระยะวิกฤต 1 - 2 วัน จะเป็นช่วงระยะฟื้นตัว โดยอาการต่างๆ จะเริ่มดีขึ้น ร่างกายกลับมาทำงานตามปกติ เป็นระยะที่ปลอดภัย มีสัญญาณ ดังนี้
- ไข้ลดลง
- ชีพจรเต้นปกติ
- สามารถปัสสาวะเองได้
- มีความอยากอาหารมากขึ้น
- มีผื่นเป็นวงสีขาวสากๆ ขึ้นตามร่างกาย
การรักษาโรคไข้เลือดออก
เมื่อแพทย์ยืนยันผลการตรวจพบโรคไข้เลือดออก จะเริ่มทำการรักษาด้วยการช่วยให้ร่างกายของผู้ที่ติดเชื้อกลับเข้าสู่สภาวะปกติเร็วที่สุด และป้องกันภาวะช็อก ดังนี้
- ให้สารน้ำทางหลอดเลือด หรือให้น้ำเกลือผ่านทางเส้นเลือดดำ
- รับประทานยาแก้ปวด ลดไข้
- ดื่มผงเกลือแร่ เพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำ
- ให้เลือด กรณีมีเลือดออกมาก
- การรักษา จำเป็นต้องมีการเจาะเลือดเป็นระยะเพื่อตรวจค่าเลือด เพื่อเฝ้าระวังภาวะเกล็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดขาวลดต่ำ เม็ดเลือดแดงเข้มข้น หรือความดันโลหิตต่ำ
การป้องกันโรคไข้เลือดออก
- ป้องกันไม่ให้ยุงกัด เช่น ทายากันยุง สวมเสื้อแขนยาว
- กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยเฉพาะบริเวณน้ำนิ่งและน้ำขัง
- ปัจจุบันมีการรณรงค์ให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก ชนิดล่าสุด อย่างแพร่หลาย ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันไข้เลือดออกจากทุกสายพันธุ์ ได้ศูงถึง 80.2% และป้องกันอาการรุนแรงได้ 90.4% โดยฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 3 เดือน สามารถฉีดได้ทั้งผู้ที่เคยและไม่เคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน