กรดไหลย้อนในเด็ก

กรดไหลย้อนในเด็ก
  • กรดไหลย้อนในเด็ก เด็กๆ ก็เป็นโรคกรดไหลย้อนได้ เพราะหูรูดหลอดอาหารอาจจะยังพัฒนาไม่เต็มที่ มีกล้ามเนื้อหูรูดที่อ่อนแอ ทำให้ไม่สามารถปิดกั้นอาหารที่ย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหารได้ 
  • แม่ให้นมเวลาที่ให้นมควรประคองลูกน้อยให้ศีรษะสูงขึ้น 30 องศา เพื่อป้องกันการไหลย้อนกลับ และให้ลูกนั่งประมาณ 30 นาทีหลังให้อาหารก่อนให้นอนราบ  
  • ในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบ การติดเชื้อทางเดินหายใจ ปอดอักเสบเรื้อรัง หายใจลำบาก หรือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ อาจเป็นโรคกรดไหลย้อนร่วมได้ด้วย   

การที่เด็กเป็นกรดไหลย้อน มาจากการที่มีอาหารไหลย้อนขึ้นมาทางหลอดอาหาร เมื่อมีอาการเช่นนี้บ่อย ๆ ซึ่งเด็กหลายคนอาจมีอาการเกือบทุกวันหรือทุกสัปดาห์ จะทำให้หลอดอาหารอักเสบจากกรดในกระเพาะอาหารได้  

กรดไหลย้อนในเด็ก เกิดจากอะไร

สังเกตได้อย่างไรว่า เด็กมีอาการกรดไหลย้อน

พ่อแม่ต้องหมั่นสังเกต หากพบว่าลูกชอบบ้วนหรือแหวะอาหารออกมาบ่อยๆ ร้องกวนแบบไม่ทราบสาเหตุบ่อยๆ  หรือในเด็กที่โตพอที่จะพูดรู้เรื่องบ่นว่าแสบท้องหรือปวดท้อง แต่อาการส่วนใหญ่ในเด็กเล็กคือมักจะบ้วนอาหารออกมา แต่ก็อาจไม่สามารถตัดสินได้ชัดเจนว่าลูกมีอาการกรดไหลย้อน ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จะรู้ได้ว่าลูกเป็นกรดไหลย้อนได้โดย 

  • ถ้าเด็กไม่ได้เป็นโรคกรดไหลย้อน จะบ้วนอาหารออกมาและยังสามารถหัวเราะและยังเล่นได้  
  • แต่ถ้าเด็กเป็นกรดไหลย้อน จะสังเกตเห็นว่าหลังจากเด็กบ้วนอาหารออกมาแล้ว เด็กจะร้องไห้โยเย แอ่นตัวไปข้างหลัง และมีเสียงลมวี๊ดในจมูก หรือเสียงแหบ บางครั้งเด็กจะแหวะ หรือ มีเลือดปนออกมากับเศษอาหารด้วย ซึ่งคืออาการของกรดไหลย้อนในเด็กเล็ก โดยมักจะเกิดอาการดังกล่าวหลังรับประทานอาหารไปแล้วประมาณครึ่งชั่วโมง หรืออาจสังเกตว่าถ้าเด็กไม่ยอมกลืน ไม่ยอมทานอาหาร หรือถ้าดูเหมือนจะกลืนอาหารเข้าไปในทางเดินหายใจบ่อย ๆ มีอาการกระแอม ไอช่วงกินอาหาร ก็เป็นอาการของกรดไหลย้อนได้เช่นกัน 

กรดไหลย้อนในเด็กเล็ก (แรกเกิด-1 ปี)

ถ้าเด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบ การติดเชื้อทางเดินหายใจ ปอดอักเสบเรื้อรัง หายใจลำบาก หรือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (หายใจตื้นระหว่างการนอนหลับ) ก็อาจเป็นโรคกรดไหลย้อนร่วมด้วยได้   

ในทารกที่คลอดก่อนกำหนดบางคน หูรูดหลอดอาหารส่วนล่างที่ยังไม่เติบโตเต็มที่อาจทำให้เกิดภาวะกรดไหลย้อนและบ่งชี้ว่าเป็นโรคปอดเรื้อรัง ทารกที่มีความบกพร่องทางระบบประสาทจะเสี่ยงต่อการเป็นโรคกรดไหลย้อน ดังนั้นควรสังเกตอย่างระมัดระวัง


การวินิจฉัยโรคกรดไหลย้อนในเด็ก 

โรคกรดไหลย้อนในเด็กทารกและเด็กโตมีอาการแตกต่างกัน แต่การวินิจฉัยทำในแนวทางเดียวกัน คือ 

  • การตรวจเอกซเรย์ระบบทางเดินอาหารด้วยการกลืนแป้งแบเรียม เพื่อหาสิ่งอุดตันในหลอดอาหาร กระเพาะและลำไส้ 
  • การตรวจวัดค่าความเป็นกรด impedance เพื่อวัดการไหลย้อนของกรดในกระเพาะอาหาร (ใช้เวลาในการวัดประมาณ 24 ชั่วโมง)

 การรักษากรดไหลย้อนในเด็กเล็ก 

บ่อยครั้งที่เมื่อลูกน้อยโตขึ้นหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างจะทำงานเป็นปกติ ดังนั้นการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเล็กน้อยจะช่วยจัดการกับโรคกรดไหลย้อนได้ โดยการทานอาหารมื้อเล็ก ๆ แต่บ่อย ๆ การให้ลูกน้อยทานนมแม่ก็มีประโยชน์ โดยควรให้ทีละน้อยแต่บ่อย ๆ  และอาจให้ทานควบคู่กับนมสำหรับทารกที่เติมผงหนืด เป็นต้น เพื่อไม่ให้อาหารไหลย้อนขึ้นหลอดอาหาร   

เวลาที่ให้นมควรประคองลูกน้อยให้ศีรษะสูงขึ้น 30 องศา เพื่อป้องกันอาหารไหลกลับ และให้ลูกนั่งประมาณ 30 นาทีหลังรับประทานอาหารก่อนให้นอนราบ ถ้าลูกน้ำหนักลดหรือยังโยเยหลังจากปรับวิถีชีวิตแล้ว แพทย์อาจแนะนำให้กินยาลดกรดไหลย้อน 

กรดไหลย้อนในเด็กโต

ในเด็กโตที่เป็นโรคกรดไหลย้อนอาจจะบ่นว่า

  • เจ็บหน้าอก
  • แสบร้อนกลางอก
  • เจ็บเวลากลืน
  • ปวดท้อง
  • อาเจียน
  • มีรสเปรี้ยวในปาก
  • ไอ
  • กินอาหารหรือกลืนลำบาก เป็นต้น

อาการเหล่านี้อาจทำให้ไม่ยอมทานอาหาร ทำให้น้ำหนักจะค่อยๆ ลดลง 


สาเหตุของโรคกรดไหลย้อนในเด็กโต หรือ ผู้ใหญ่  

เกิดจากทางพยาธิวิทยา ซึ่งหมายถึง อาการดังกล่าวเกี่ยวข้องหรือเกิดจากโรคนั้นเอง ดังนั้นการรับประทานอาหารมื้อหนักบ่อย ๆ เด็กโรคอ้วน การกินมากเกินไป ดื่มคาเฟอีนหรือน้ำอัดลมมากเกินไป การติดเชื้อแบคทีเรีย ปฏิกิริยาต่อยาปฏิชีวนะ การกลืนกินสิ่งแปลกปลอม และการสูบบุหรี่ก็สามารถทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อนได้ นอกจากนี้ยังเป็นไปได้ที่หูรูดกระเพาะอาหารส่วนล่างอาจยืด ซึ่งอาจเป็นผลพวงจากการเป็นกรดไหลย้อนตั้งแต่เด็ก จำเป็นต้องตรวจหาสาเหตุต่อไป 


การรักษากรดไหลย้อนในเด็กโต 

การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเป็นทางหนึ่งที่สามารถรักษาโรคกรดไหลย้อนโดยอาจไม่ต้องใช้ยา โดยแนะนำไม่ให้เด็ก ๆ ทานอาหารอย่างน้อย 3 ชั่วโมงก่อนเข้านอน  และควรบริโภคเนย กาแฟ ชีส น้ำอัดลมและช็อกโกแลต ในปริมาณที่พอเหมาะ  

เรื่องสิ่งแวดล้อมก็สำคัญ คือคนในบ้าน คุณพ่อคุณแม่ หรือพี่เลี้ยงไม่ควรสูบบุหรี่เพราะมีผลต่อการเกิดโรคได้ โดยการรักษากรดไหลย้อนในเด็กโต แพทย์อาจสั่งยาลดกรดเพื่อให้ปรับสภาพสมดุลในกระเพาะอาหาร  โดยทั่วไปยาลดกรดจะต้องทานติดต่อกัน 2 เดือนหรือน้อยกว่านั้น แต่ถ้ายังไม่หาย อาจต้องมีการตรวจเพิ่มเติม เช่น การส่องกล้องทางเดินอาหาร ในกรณีที่น้ำหนักลด ควรพาเด็กไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด 

* การส่องกล้องด้วยการใส่หลอดเล็ก ๆ ที่ติดกล้องที่ปลายหลอดเข้าไปดูหลอดอาหารเพื่อตรวจหาแผล และความผิดปกติ แต่การตรวจวิธีนี้อาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัวและอาจต้องใช้ยาสลบ 

* สำหรับทั้งเด็กทารกและเด็กโต การตรวจและรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการจัดการกับโรคกรดไหลย้อน 

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?