เช็คก่อนออก ตรวจสุขภาพก่อนออกเดินทาง
ผู้สูงอายุควรได้รับการตรวจสุขภาพเบื้องต้นก่อนออกเดินทาง โดยเฉพาะการเดินทางที่ใช้เวลานาน ระยะทางไกล และต้องมีการออกแรง เช่น ต้องมีการเดินมากกว่าปกติ หรือไปในที่ๆ มีสภาพอากาศไม่เหมือนกับบ้านเรา เพื่อเช็กว่าร่างกายมีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน สำหรับผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้วควรขอคำแนะนำจากแพทย์เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพระหว่างการท่องเที่ยว เช่น
- การปฏิบัติตัวเพื่อควบคุมโรคประจำตัวก่อนออกเดินทาง
- ข้อควรระวัง หรือสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงระหว่างการท่องเที่ยว
- อาการที่ต้องเฝ้าระวัง รวมถึงวิธีดูแลรักษาเบื้องต้น
- การปรับเวลาเพื่อใช้ยาบางประเภท เช่น ยาเม็ดลดเบาหวาน ยาฉีดอินซูลิน ยาลดความดันโลหิต หรือยาขับปัสสาวะ เพราะการเดินทางไปต่างประเทศต้องมีการเปลี่ยนโซนเวลา ดังนั้น จึงต้องปรับเวลาในการใช้ยาให้เหมาะสมด้วย
- ขอเอกสารที่ระบุรายละเอียดของโรคประจำตัวและยาที่ใช้ รวมถึงข้อมูลการติดต่อของแพทย์และประกันสุขภาพ หรือประกันการเดินทางในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน และควรเก็บยาประจำตัวไว้ในภาชนะที่มีชื่อยาและวิธีการรับประทานที่ชัดเจน พกติดตัวไว้ตลอด
- ในกรณีที่ต้องทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงเยอะๆ เช่น เดินป่า ขึ้นเขา ว่ายน้ำ ดำน้ำ ปั่นจักรยานหรือวิ่งระยะไกล ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเช็กความแข็งแรงของระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบทางเดินหายใจ รวมถึงสมรรถนะของกระดูกและกล้ามเนื้อ เพื่อที่แพทย์จะได้แนะนำวิธีเตรียมความพร้อมก่อนทำกิจกรรมได้อย่างเหมาะสม และป้องกันภาวะฉุกเฉิน เช่น หัวใจล้มเหลวเฉียบพลันขณะทำกิจกรรมได้
นั่งปลอดภัย ผู้สูงอายุขึ้นเครื่องบิน หรือรถยนต์ควรเตรียมตัวอย่างไร
การโดยสารรถยนต์หรือเครื่องบินเป็นเวลานานๆ สำหรับผู้สูงอายุ อาจเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดในเส้นเลือดดำบริเวณขา เกิดเป็นโรคลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำระดับลึก (DVT : Deep Venous Thrombosis) โดยผู้สูงอายุที่เป็นโรคนี้จะมีอาการขาบวม เนื่องจากลิ่มเลือดไปขัดขวางการไหลเวียนของเลือด และมีโอกาสที่ลิ่มเลือดจะหลุดลอยผ่านห้องหัวใจไปอุดตันที่หลอดเลือดในปอด ซึ่งอาจทำให้ปอดและหัวใจล้มเหลวได้
แต่เราสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดโรคนี้ได้ด้วยการปรึกษาแพทย์ก่อนออกเดินทาง โดยแพทย์อาจแนะนำให้รับประทานยาแอสไพรินขนาดต่ำในวันเดินทาง และสวมถุงน่องรัดขาแบบยืดหยุ่น นอกจากนี้ การใส่เสื้อผ้าที่สบายๆ ไม่คับจนเกินไป งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และการนั่งไขว่ห้างนานๆ รวมถึงการพยายามเคลื่อนไหวง่ายๆในขณะที่อยู่บนยานพาหนะ เช่น เขย่งปลายเท้าขึ้นลงซ้ำๆ หรือนั่งเหยียดขาและกระดกข้อเท้าขึ้นลง ก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันได้
เดินไม่ล้ม วิธีป้องกันการหกล้มของผู้สูงอายุ ก่อนเที่ยววันหยุด
ผู้สูงอายุที่มีภาวะข้อเสื่อม น้ำหนักน้อยหรือมากเกินเกณฑ์ปกติ มวลกล้ามเนื้อน้อยและไม่แข็งแรง ป่วยเป็นโรคทางระบบประสาท เช่น หลอดเลือดสมองตีบหรือแตก สมองเสื่อม พาร์คินสัน ภาวะอารมณ์แปรปรวนหรือซึมเศร้า ปลายประสาทชาจากเบาหวาน หรือกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาท จะมีความเสี่ยงต่อการหกล้มมากกว่าผู้สูงอายุในวัยเดียวกัน นอกจากนี้ การใช้ยาบางประเภท เช่น ยานอนหลับ ยาคลายกล้ามเนื้อ ก็อาจทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง และทำให้ผู้ใช้หกล้มได้ง่าย ดังนั้น ทางที่ดี เราจึงควรเตรียมพร้อมให้กับผู้สูงอายุก่อนการเดินทาง ดังนี้
- ออกกำลังกาย โดยเน้นไปที่การบริหารและยืดเหยียดกล้ามเนื้อต้นขา น่อง สะโพก และหลังส่วนล่างเป็นประจำ
- ดื่มน้ำและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และพักผ่อนให้เพียงพอ
- เลือกรองเท้าที่เหมาะกับการเดินและกระชับเท้ามากที่สุด รวมถึงเลือกเสื้อผ้าที่ทำให้เคลื่อนไหวได้สะดวก
- ศึกษาสถานที่ๆ จะไปว่ามีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุอยู่ตรงจุดใดบ้าง เช่น ห้องน้ำแบบที่มีชักโครก ห้องน้ำสำหรับผู้สูงอายุ ทางลาด ราวจับ จุดนั่งพัก จุดบริการอาหารและเครื่องดื่ม บันไดเลื่อน ลิฟท์ หรือถ้ามีอุปกรณ์ช่วยเดินก็ควรนำติดตัวไปด้วยทุกครั้ง
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการหกล้ม
- หากเริ่มมีอาการเดินเซ คล้ายจะหกล้มบ่อยๆ รู้สึกไม่มั่นคงเวลาเคลื่อนไหว หรือรู้สึกว่าขยับตัวได้ช้าลง มีอาการปวดข้อเข่า สะโพก หรือหลังเรื้อรัง ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุและประเมินความสามารถในการทรงตัว
ฉีดให้ชัวร์ ก่อนไปเที่ยว ผู้สูงอายุควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคอะไรบ้าง
ผู้สูงอายุมักมีภูมิต้านทานในร่างกายต่ำกว่าวัยอื่นๆ ดังนั้น การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคติดต่อสำหรับผู้สูงอายุจึงมีความจำเป็น ซึ่งวัคซีนที่ผู้สูงอายุจำเป็นต้องฉีด ได้แก่ วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส ซึ่งทำให้เกิดโรคปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบหรือติดเชื้อในกระแสเลือด รวมถึงอาจต้องฉีดวัคซีนพิเศษเพิ่มเติมหากเดินทางไปยังบางประเทศ ข้อมูลวัคซีนสำหรับการเดินทางไปประเทศต่างๆสามารถค้นหาเพิ่มเติมได้ที่เว็ปไซด์ Travelers’ Health ของ CDC
นอกจากนี้ ในปัจจุบันยังมีโรคโควิด-19 ที่แพร่ระบาดและส่งผลกระทบต่อผู้สูงอายุมากกว่าวัยอื่นๆ ซึ่งข้อมูลจากศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา (CDC) พบว่า ผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ในวัย 60 และ 70 ปี มักมีอาการรุนแรงมากกว่าผู้ที่ติดโควิดในวัย 50 ปี ส่วนผู้ที่มีอายุมากกว่า 85 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยรุนแรงจากโควิดมากที่สุด และอัตราเสี่ยงก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นเมื่อบุคคลนั้นมีโรคประจำตัว ดังนั้น ก่อนการเดินทาง ผู้สูงอายุจึงควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้ครบตามกำหนด เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายและลดโอกาสที่นำเชื้อมาเผยแพร่ให้กับคนในครอบครัว
การเตรียมความพร้อมด้านสุขภาพที่รัดกุมและครอบคลุมก่อนการเดินทาง แม้จะไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ก็ไม่ยากจนเกินไป ซึ่งถ้าเราทำได้ ทริปท่องเที่ยวต่างๆ นั้นก็จะเป็นทริปที่เต็มไปด้วยสุขสนุกสนานและปลอดภัยสำหรับทุกคนในครอบครัวแน่นอน