ปรับสมดุลด้วยแพทย์แผนจีน ฝังเข็มรักษาโรคและอาการผิดปกติ

ปรับสมดุลด้วยแพทย์แผนจีน ฝังเข็มรักษาโรคและอาการผิดปกติ

Highlight:

  • ผู้ที่มีภาวะอ้วนส่วนมากจะเจริญอาหาร ท้องอืด ไม่มีแรง เคลื่อนไหวช้า เคลื่อนไหวร่างกายแล้วมีเหงื่อออกมาก การฝังเข็มจะช่วยกระตุ้นการหมุนเวียนของเลือด แก้ท้องผูก ปรับระบบการขับถ่าย ช่วยลดความหิว การเห็นผลขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล หลังจากการฝังเข็มไปแล้ว 5 ครั้ง จะรู้สึกได้ถึงรูปร่างที่กระชับขึ้น 
  • การฝังเข็มในผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อน จะช่วยปรับสมดุลการทำงานของกระเพาะอาหาร ลดปริมาณการหลั่งน้ำย่อย ลดอาการแน่นท้อง ท้องอืด จุกเสียด ในผู้ที่มีอาการไม่มาก อาการจะทุเลาลงหลังจากฝังเข็ม 1-3 ครั้ง 
  • สาเหตุของโรคนอนไม่หลับ เช่น อาการป่วยเรื้อรัง ความเครียด การทำงานหนักมากเกินไป ผลจากออฟฟิศซินโดรม ตลอดจนเรื่องอาหารการกิน แพทย์แผนจีนจะมุ่งเน้นไปในการปรับสมดุลของร่างกาย รักษาเป็นองค์รวม อ้างอิงถึงสิ่งต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ 

แพทย์แผนจีน เป็นศาสตร์ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นศาสตร์ที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน เน้นการรักษาแบบองค์รวม โดยการปรับสมดุลภายในร่างกาย ซึ่งโรคหรืออาการเจ็บป่วยที่สามารถให้การรักษาได้ด้วยแพทย์แผนจีนนั้น มีดังนี้ 

ประจำเดือนไม่ปกติ

ประจำเดือนไม่ปกติหมายถึงการมีรอบเดือนผิดปกติ รอบเดือนมาก่อนหรือหลังกำหนด รอบเดือนไม่แน่นอน หรือมีความผิดปกติของลักษณะ สี ปริมาณ เช่น ปริมาณมากหรือน้อยผิดปกติ รวมถึงอาการหงุดหงิด โมโห เศร้า กินจุ สิวขึ้น ปวดท้องประจำเดือน เครียด นอนไม่หลับ ซึ่งอาการเหล่านี้เกิดขึ้นในขณะที่มีประจำเดือน หรือก่อนและหลังมีประจำเดือน 

การรักษา: สามารถฝังเข็มเพื่อปรับสมดุลของร่างกาย ปรับเลือดให้ประจำเดือนมาได้ดีขึ้น 
การฝังเข็มควรทำ 3-5 วันก่อนมีรอบเดือนในแต่ละครั้ง รักษาติดต่อกัน 1 คอร์ส หรือ 10 ครั้ง  โดย 4 ครั้งแรกเป็นการฝังเข็มเพื่อปรับสมดุลร่างกาย หลังจากนั้นเน้นการปรับการไหลเวียนของเลือด 

โรคอ้วน

เกิดจากร่างกายสะสมไขมันมากเกินไป โดยหากมีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน 20% ขึ้นไป จะเป็นภาวะโรคอ้วน โดยโรคอ้วนแบ่งเป็น Simple obesity และ Secondary obesity ประเภทแรกมักไม่มีความเด่นชัดของการทำงานของระบบประสาทและต่อมไร้ท่อที่ผิดปกติ ประเภทที่ 2 มักเกิดจากโรคทางระบบประสาท ต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึมหรือการรับประทานยา 

การรักษาโดยแพทย์แผนจีนจะรักษาผู้ป่วยกลุ่ม Simple obesity โดยผู้ที่มีภาวะอ้วนส่วนมากจะเจริญอาหาร มีความชื้นสะสมเกิดเป็นเสมหะ ท้องอืด ไม่มีแรง เคลื่อนไหวช้า เคลื่อนไหวร่างกายแล้วมีเหงื่อออกมาก ใบหน้าและแขนขาบวม อาจมีโรคเบาหวานและไขมันสูงร่วมด้วย 

การฝังเข็ม ลดน้ำหนัก รักษาโรคอ้วน: ฝังเข็มเพื่อปรับชี่ (ลมปราณ) กระตุ้นการหมุนเวียนของเลือด ทะลวงเส้นลมปราณ แก้ท้องผูก ขับความชื้น 

ฝังเข็ม 1 คอร์ส หรือ 15 ครั้ง โดยสัปดาห์แรกที่รับการรักษาควรทำวันเว้นวัน จากนั้นค่อยเว้นเหลือสัปดาห์ละ 2 วัน การเปลี่ยนแปลงหลังจากการฝังเข็มไปแล้ว 5 ครั้ง จะรู้สึกได้ถึงรูปร่างที่กระชับขึ้น ครั้งที่ 6-7 ขึ้นไป น้ำหนักจะค่อย ๆ ลดลง 

หมายเหตุ: การฝังเข็มช่วยทำให้ปรับระบบการขับถ่าย ขับความชื้น ช่วยลดความหิว การเห็นผลมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล 

ปัสสาวะรดที่นอน

เด็กอายุที่เกิน 3-4 ขวบ มักจะสามารถควบคุมปัสสาวะเวลานอนได้ แต่หากไม่สามารถควบคุมปัสสาวะได้ มีการปัสสาวะรดที่นอน 1-2 ครั้งต่อคืน ก่อนปัสสาวะรดที่นอนมักเรียกตื่นลำบาก ตื่นขึ้นมาไม่มีสติ ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ แต่หลังจากปัสสาวะแล้ว เมื่อตื่นขึ้นมารู้สึกตัวดี อาจเกิดจากไตทำงานได้ไม่ดี และมีการเจริญเติบโตของร่างกายค่อนข้างช้าร่วมด้วย 

*ยกเว้นกรณีที่เกิดจาก Spina bifida occulta ไม่อยู่ในขอบข่ายของการรักษา 

การรักษา: ฝังเข็มบำรุงไต กระตุ้นการทำงานของสมอง 
ฝังเข็มสัปดาห์ละ 3 ครั้ง โดยครบ 10 ครั้ง มักจะรักษาอาการให้หายได้ 

รักษาสิว หน้าใส ลดริ้วรอย

อาการต่าง ๆ ที่สะท้อนออกมาทางผิวหนัง เป็นสัญญาณเตือนถึงภาวะไม่สมดุลหรือมีการเปลี่ยนแปลงภายในร่างกาย สิวที่เกิดขึ้นบ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงของอวัยวะภายใน อาจเกิดจากฮอร์โมน การมีรอบเดือน ระบบเลือด ท้องผูก พักผ่อนไม่เพียงพอ  

การฝังเข็ม หน้าใส รักษาสิว: ในทางแพทย์แผนจีนจะใช้วิธีการรักษาด้วยการฝังเข็มบนใบหน้าเพื่อลดการอักเสบ บวม แดงของสิว และฝังเข็มบนร่างกาย เพื่อปรับระบบเลือด ปรับสมดุลการทำงานของร่างกายเพื่อลดการเกิดสิวในอนาคต
ฝังเข็ม 1 คอร์ส หรือ 10 ครั้ง สัปดาห์แรกที่รับการรักษาควรทำสัปดาห์ละ 2-3 วัน หลังจากนั้นควรทำสัปดาห์ละ 1-2 วัน จนกว่าจะจบคอร์ส (ฝังเข็มลดสิวเห็นผลชัดเจนได้ตั้งแต่ครั้งที่ 4-5 ทั้งนี้ขึ้นกับร่างกายของแต่ละบุคคล) 

โรคกรดไหลย้อน (GERD)

โรคกรดไหลย้อน เป็นภาวะที่น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารไหลกลับขึ้นไปในหลอดอาหาร รู้สึกมีน้ำรสเปรี้ยวหรือรสขมไหลย้อนขึ้นมาในปาก ร่วมกับมีอาการเรอ ท้องอืด แน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียน เจ็บหน้าอก จุกคล้ายมีอะไรติดหรือขวางอยู่บริเวณคอ  

ในรายที่เป็นมาก จะมีความรู้สึกแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ขึ้นมาที่หน้าอกและคอ มักเกิดหลังรับประทานอาหารมื้อหนัก การโน้มตัวไปข้างหน้า การยกของหนักและการนอนหงาย อาจเป็นมากจนมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย 

การรักษา: การฝังเข็มจะช่วยในการปรับสมดุลการทำงานของกระเพาะอาหาร ลดปริมาณการหลั่งน้ำย่อย ลดอาการแน่นท้อง ท้องอืด จุกเสียด
ในรายที่มีอาการไม่มาก ฝังเข็ม 5 ครั้ง/คอร์ส (สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง) อาการจะทุเลาลงภายใน 1-3 ครั้ง แต่ในรายที่เป็นมาก เรื้อรัง ฝังเข็ม 10 ครั้ง/คอร์ส (สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง) จะทุเลาลงภายใน 3-5 ครั้ง 

โรคกินไม่หยุด (Binge Eating Disorder: BED)

เป็นโรคในกลุ่ม Eating disorder หรือพฤติกรรมการกินผิดปกติ จัดเป็นโรคทางจิตเวชที่สามารถทำให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรงอื่น ๆ ตามมาได้ โดยผู้ป่วยโรคนี้จะกินแบบเป็นช่วง ๆ เช่น ต้องกินทุก 2 ชั่วโมง โดยปริมาณอาหารที่กินจะเยอะกว่าคนทั่วไป (กินเร็วกว่าปกติ กินจนรู้สึกจุก กินมากแม้จะไม่รู้สึกหิว รู้สึกรังเกียจตัวเอง ซึมเศร้า หรือรู้สึกผิดหลังจากกินมาก ๆ ไปแล้ว) สาเหตุยังระบุไม่ได้แน่ชัด แต่ผู้ที่เป็นโรคกินไม่หยุดอาจใช้การกินจนเกินพอดีเป็นวิธีรับมือกับความโกรธ ความเศร้า ความเบื่อหน่าย ความวิตกกังวล หรือความเครียด จนเกิดเป็นความเคยชินและเป็นโรคในที่สุด 

การรักษา: ฝังเข็มเพื่อปรับลดความอยากอาหาร ลดการหลั่งน้ำย่อย ปรับสมดุลกระเพาะอาหาร
รักษาด้วยการฝังเข็ม 10 ครั้ง/คอร์ส (สัปดาห์ละ 1-2 ครั้งขึ้นกับอาการของแต่ละบุคคล) โดยอาการจะทุเลาลงภายใน 3-5 ครั้ง และรักษาต่อเนื่องเพื่อการปรับสมดุลกระเพาะอาหาร 

ภาวะท้องผูก (Constipation)

ท้องผูก คือภาวะที่ถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ร่วมกับการขับถ่ายยาก นั่งนานเกินครึ่งชั่วโมงเพื่อเบ่งถ่าย บางครั้งต้องใช้น้ำฉีด ใช้นิ้วล้วง ถ่ายไม่สุด เหมือนมีอะไรมาอุดกั้นอยู่ ถ่ายออกมาน้อย อุจจาระแข็งมีลักษณะเป็นเม็ด ผิวขรุขระหรือแห้งแตก รู้สึกอึดอัด แน่นท้อง สาเหตุอาจเกิดจากการปฏิบัติตัวที่ไม่ถูกต้อง เช่น รับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย ดื่มน้ำน้อย ไม่ออกกำลังกายหรือไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกาย กลั้นอุจจาระบ่อย ๆ การทำงานของลำไส้ใหญ่ผิดปกติ หรือภาวะลำไส้เฉื่อย คือการที่ลำไส้ใหญ่เคลื่อนไหวน้อยลงทำให้อุจจาระเคลื่อนลงมาช้ากว่าปกติ 

การรักษา: ฝังเข็มเพื่อช่วยในการปรับสมดุล กระตุ้นการทำงานของลำไส้และระบบทางเดินอาหาร ร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการขับถ่าย
ในรายที่มีอาการไม่มาก ฝังเข็ม 5 ครั้ง/คอร์ส (1-2 ครั้ง/สัปดาห์) อาการจะทุเลาลงภายใน 1-3 ครั้ง ส่วนในรายที่เป็นมากและเรื้อรัง ฝังเข็ม 10 ครั้ง/คอร์ส (2-3 ครั้ง/สัปดาห์) อาการจะทุเลาลงภายใน 3-5 ครั้ง 

โรคลำไส้แปรปรวน (IBS: Irritable Bowel Syndrome)

ลำไส้แปรปรวน เป็นโรคที่เกี่ยวกับการทำงานผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งลำไส้ โดยที่ไม่พบความผิดปกติใด ๆ ที่โครงสร้างของอวัยวะในระบบทางเดินอาหารและไม่มีพยาธิสภาพอื่นๆ จัดว่าเป็นโรคในกลุ่ม Functional Bowel Disorder ชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้อง ท้องเสีย หรือท้องผูก โดยไม่ทราบสาเหตุ โรคนี้ยังไม่พบสาเหตุที่ชัดเจน อาจเกิดจากความผิดปกติของการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบที่ผนังลำไส้ (การบีบตัวหรือการเคลื่อนตัวของลำไส้ผิดปกติ ซึ่งเป็นผลมาจากการหลั่งสารหรือฮอร์โมนบางอย่างในผนังลำไส้ผิดปกติ / ระบบประสาทที่ผนังลำไส้ไวต่อสิ่งเร้าหรือตัวกระตุ้นมากผิดปกติ / ความเครียด หรือการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์) 

การรักษา: การฝังเข็มจะช่วยในการปรับสมดุลการทำงานของหัวใจ ตับ และระบบทางเดินอาหาร ร่วมกับการปรับสมดุลทางด้านอารมณ์ 
รักษาด้วยการฝังเข็ม 20 ครั้ง/คอร์ส (2-3 ครั้ง/สัปดาห์) จะสังเกตการเปลี่ยนแปลงได้ภายใน 5-7 ครั้ง 

โรคการรับกลิ่นผิดปกติ

ได้แก่ จมูกได้กลิ่นน้อยลง (Hyposmia) จมูกไม่ได้กลิ่นเลย (Anosmia) จมูกได้กลิ่นเปลี่ยนไปหรือแปลกไป (Dysosmia) ผู้ป่วยที่ประสบปัญหานี้จะขาดความสุขในการรับกลิ่น การสัมผัสกับรสชาติอาหาร ทั้งยังขาดการรับรู้ถึงอันตรายต่าง ๆ ที่ควรหลีกเลี่ยง อาทิ กลิ่นแก๊สรั่ว กลิ่นไฟไหม้ เป็นต้น โดยผู้ป่วยที่เป็นชนิดเรื้อรังจะมีการอักเสบของเยื่อบุโพรงจมูก โพรงไซนัส ทำให้กลิ่นส่งไปไม่ถึงปลายประสาทรับกลิ่น มีการได้รับสารเคมีบางอย่างที่ทำลายการรับกลิ่น อาทิ การได้รับกลิ่นฟอร์มาลีนเป็นเวลานาน อาจทำให้ปลายประสาทอักเสบและตายลงบางส่วน ส่งผลให้การรับกลิ่นลดลงหรือไม่ได้กลิ่นหรืออาจมีความเสื่อมตามอายุที่เพิ่มขึ้น 

การรักษา: การฝังเข็มจะสามารถช่วยฟื้นฟูประสาทรับกลิ่นได้ ในผู้ป่วยที่มีอาการเรื้อรังข้างต้น 
รักษาด้วยการฝังเข็ม 20 ครั้ง/คอร์ส (2-3 ครั้ง/สัปดาห์ในช่วง 10 ครั้งแรก หลังจากนั้น 1-2 ครั้ง/สัปดาห์) เริ่มสังเกตการเปลี่ยนแปลงได้ภายใน 5-7 ครั้ง ทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงของโรค 

โรคตื่นตระหนก (Panic Disorders)

ผู้ป่วยจะมีอาการหัวใจเต้นเร็ว หายใจติดขัด จุกแน่น เวียนศีรษะ คล้ายจะเป็นลม ร่วมกับมีภาวะวิตกกังวล ขาดความมั่นใจในตัวเอง โดยการเกิดครั้งแรกจะเกิดขึ้นเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่มีเรื่องกดดันหรือถูกกระตุ้นให้ตื่นตัว อาจเกิดขึ้นได้อีกบ่อย ๆ โดยไม่ทราบล่วงหน้า สาเหตุมาจากการถูกกระทบกระเทือนทางอารมณ์และจิตใจ ตรวจไม่พบความผิดปกติใด ๆ ทางร่างกาย 

การรักษา: การฝังเข็มจะช่วยในการปรับสมดุลการทำงานของหัวใจและตับ เพิ่มการหมุนเวียนเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และช่วยผ่อนคลายความเครียด 
รักษาด้วยการฝังเข็ม 10 ครั้ง/คอร์ส (2-3 ครั้ง/สัปดาห์) อาการจะทุเลาลง ผู้ป่วยจะรู้สึกสบายขึ้นภายใน 3-5 ครั้ง 

โรคปวดศีรษะ (Tension headache / Migraine headache

ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะ ปวดแบบตุบๆ เป็นจังหวะ มักเกิดข้างเดียวของศีรษะ แต่ก็เป็นทั้งสองข้างได้ โดยอาการปวดในช่วงแรกมักมีความรุนแรงเพียงเล็กน้อย และจะค่อย ๆ เพิ่มความรุนแรงขึ้น อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนแรง และไวต่อแสง เสียง หรือกลิ่นมากขึ้น โดยยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่มีปัจจัยที่สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการได้ เช่น การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในผู้หญิง ความเครียด สภาพแวดล้อม เช่น แสงจ้าหรือแสงแฟลช เสียงดัง กลิ่นที่รุนแรง การใช้ยาบางชนิด การนอนหลับไม่เพียงพอ ออกกำลังกายหักโหม การสูบบุหรี่ อาการถอนคาเฟอีน เป็นต้น 

การรักษา : การฝังเข็มจะช่วยในการปรับสมดุล เพิ่มการหมุนเวียนเลือดไปเลี้ยงบริเวณศีรษะดีขึ้น และช่วยลดความตึงของกล้ามเนื้อใกล้เคียง 
ในรายที่มีอาการไม่มาก ฝังเข็ม 5 ครั้ง/คอร์ส (1-2 ครั้ง/สัปดาห์) อาการจะทุเลาลงภายใน 1-3 ครั้ง ส่วนในรายที่เป็นมากหรือเรื้อรัง ฝังเข็ม 10 ครั้ง/คอร์ส (2-3 ครั้ง/สัปดาห์) อาการทุเลาลงภายใน 3-5 ครั้ง 

โรคเสียงในหู (Tinnitus)  

โรคเสียงในหู คือ โรคที่ผู้ป่วยจะมีอาการมีเสียงในหู ได้ยินเสียงคล้ายเสียงจิ้งหรีด หรือเสียงจั๊กจั่นร้องดังอยู่ภายในหู หรืออาจได้ยินเป็นเสียงลมอื้อ ๆ แน่น ๆ วิ้ง ๆ อยู่ภายในหูก็ได้ ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นนี้อาจเกิดขึ้นข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้ง 2 ข้าง ในบางรายอาจมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ หรือก็มีอาการตลอดเวลา มักจะมีเสียงดังชัดเจนขณะอยู่ที่เงียบ ๆ หรือในเวลากลางคืน  

โรคเสียงในหูทางแผนจีนแบ่งได้เป็น 2 ประเภท  

  1. ประเภทอาการแกร่ง มีอาการเสียงในหูแบบเฉียบพลัน แน่นหู มีเสียงดังถี่ๆ ไม่ขาดสาย การได้ยินถดถอย มักมี มักมีอาการร่วม คือ ปวดศีรษะ หน้าแดง คอแห้ง ปากขม หงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย หรือมีอาการร่วมจากลมภายนอกเข้ารุกรานเส้นลมปราณ จะมีอาการกลัวลม มีไข้  
  2. ประเภทอาการพร่อง มีอาการสะสมเรื้อรังมานาน มีเสียงคล้ายจิ้งหรีดหรือจั๊กจั่นร้องดังในหู มีเสียงดัง ๆ หยุด ๆ เป็นพัก ๆ โดยเฉพาะเมื่อพักผ่อนน้อย ทำงานเยอะ เครียดสะสม อาการจะยิ่งกำเริบหนักมากขึ้น มักมีอาการร่วมคือ เวียนศีรษะ ปวดเมื่อยเอวและเข่า อ่อนแรง 

การรักษา ในกลุ่มอาการแกร่งจะเน้นวิธีการระบาย ผ่านจุดตามแนวเส้าหยางมือ-เท้าเป็นหลัก และในกลุ่มอาการพร่องจะเน้นวิธีการบำรุง ผ่านจุดตามแนวเส้าอินเท้าเป็นหลัก  

โรคนอนไม่หลับ

โรคนอนไม่หลับ คือโรคที่ผู้ป่วยไม่สามารถนอนหลับได้ตามเวลานอนปกติ ช่วงเวลาที่เข้านอนหลับได้ไม่ลึก มีอาการหลับ ๆ ตื่น ๆ ตื่นกลางดึกแล้วนอนหลับต่อไม่ได้ หรือหลังจากตื่นนอนมีอาการเพลีย ไม่สดชื่น ซึ่งอาการเหล่านี้จะกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เนื่องจากร่างกายไม่ได้รับการพักผ่อนตามเวลาที่เหมาะสม  

การนอนไม่หลับจะส่งผลกับอวัยวะภายในร่างกาย โดยเฉพาะในส่วนของสมอง ทำให้ประสิทธิภาพในการใช้ความคิดและความจำลดลง จะทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่สดชื่นในตอนเช้า ขอบตาดำ ใบหน้าหมองคล้ำ ดูแก่ก่อนวัย เสียบุคลิกภาพ ตลอดจนส่งผลให้เกิดโรคหรืออาการต่าง ๆ ตามมาได้ 

ในปัจจุบัน สาเหตุของโรคนอนไม่หลับ มีหลายสาเหตุ เช่น ผลจากอาการป่วยเรื้อรัง ความเครียด การทำงานหนักมากเกินไป ผลจากออฟฟิศซินโดรม อาการทางกายภาพต่าง ๆ ตลอดจนเรื่องอาหารการกินในชีวิตประจำวัน  

ส่วนอาการนอนไม่หลับตามศาสตร์การแพทย์แผนจีนจะมุ่งเน้นไปในทางด้านการปรับสมดุลของร่างกาย โดยจะมองภาพการรักษาเป็นองค์รวม อ้างอิงถึงสิ่งต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ  

โดยกลุ่มอาการนอนไม่หลับ แบ่งได้ออกเป็น 5 ประเภทคือ 

  1. ไฟหัวใจและตับมากเกินไป 
    อาการ นอนหลับแล้วตื่นง่าย ฝันเยอะ โมโหฉุนเฉียวบ่อยและหงุดหงิดง่าย ปวดหรือเวียนศีรษะ เจ็บเสียดหน้าอก และสีข้าง ในปากมีรสขม หิวน้ำบ่อย ปัสสาวะมีสีเข้ม และอาจมีอาการท้องผูกหรืออุจจาระแข็งร่วมด้วย 
  2. เสมหะร้อนกระทบหัวใจ
    อาการ นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ปวดศีรษะแบบหนัก ๆ จุกแน่นบริเวณหน้าอก มีอาการแน่นท้อง หรืออาจมีอาการอาเจียนมีเสมหะเหนียวปนอยู่ ในปากมีรสขม รู้สึกเหนียวปาก 
  3. ลมปราณติดขัดและเลือดคั่ง
    อาการ นอนไม่หลับเรื้อรัง จิตใจหดหู่ มีความเครียดสะสม เจ็บเสียดบริเวณหน้าอก เรอบ่อย สีหน้าหมองคล้ำ 
  4. หัวใจและม้ามพร่อง
    อาการ นอนหลับยาก ตื่นง่าย ฝันเยอะ ความจำไม่ดี อ่อนเพลีย หน้าซีด และไม่อยากอาหาร 
  5. หัวใจและไตทำงานไม่ประสานกัน 

อาการ นอนไม่หลับ เวียนศีรษะบ่อย มีเสียงวี้ดในหู รู้สึกหูแน่นๆ ปากแห้ง ปวดเมื่อยเอว ความจำไม่ดี และมีอาการร้อนทั้ง 5 (ร้อนบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้าและหน้าอก) 

การรักษาโรคนอนไม่หลับด้วยการฝังเข็ม: รักษาด้วยการฝังเข็ม จะเน้นวิธีการระบาย ในกลุ่มอาการโรคที่มีอาการติดขัด หรือมีไฟและเสมหะสะสมมากเกินไป และเน้นวิธีบำรุง ในกลุ่มอาการที่มีภาวะพร่อง 

การฝังเข็มและจัดกระดูกปรับโครงสร้าง

วิธีการรักษา จะเน้นการใช้ฝังเข็มและทุยหนาโดยการใช้มือเพื่อทำหัตถการ โดยเน้นฝังเข็มเพื่อคลายกล้ามเนื้อชั้นลึกแล้วค่อยนวดจัดกระดูกทำการปรับกระดูกส่วนต่าง ๆ ที่เคลื่อนอยู่ในตำแหน่งที่ผิดปกติให้กลับมาอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม 

การฝังเข็มและนวดจัดกระดูก เน้นเพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย ลดการกดทับและการนวด สามารถช่วยบรรเทาปวด โดยที่ไม่ต้องฉีดยา ไม่ต้องทานยาและยังสามารถแก้อาการปวดได้อย่างตรงจุด และเมื่อกล้ามเนื้อผ่อนคลายดีแล้ว จึงสามารถทำหัตถการจัดกระดูกได้ง่ายขึ้น โดยที่กล้ามเนื้อไม่อักเสบหรือบาดเจ็บ 

ในปัจจุบัน อาการของผู้ป่วยที่เหมาะสมกับวิธีการนี้ สามารถใช้ได้กับโรคและอาการที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ปวดต้นคอ ปวดไมเกรน ปวดศีรษะร้าวเข้าตา ปวดหลัง หมอนรองกระดูกเคลื่อน ข้อไหล่ติด ปวดข้อศอก ปวดเข่า กระดูกสันหลังผิดรูป ปวดหลังร้าวลงขา กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ เอ็นข้อต่ออักเสบ เป็นต้น 

สาเหตุที่ควรมารับการรักษาด้วยการฝังเข็มและจัดกระดูก เช่น 

  1. สาเหตุจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ ทำให้มีการดึงโครงสร้างของร่างกายบิดงอ เดินตัวเอียง แขนขา 2 ข้างไม่เท่ากัน ไหล่เอียง สะโพกเอียง ซึ่งในสาเหตุนี้ จะพบได้มากในปัจจุบัน โดยเกิดจากท่าทางและพฤติกรรม ที่ใช้อย่างผิด ๆ หรือเป็นกลุ่มของโรคออฟฟิศซินโดรม หรือแม้กระทั่งการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาก็ตาม 
  2. สาเหตุจากระบบประสาท ในกรณีนี้มักเกิดจากความบกพร่องของระบบประสาท ส่งผลทำให้กระดูกสันหลัง เกิดปัญหาโดยตรง มักพบในผู้ที่มีความพิการแต่กำเนิด โรคสมองพิการ สมองเสื่อม ในกรณีนี้ ถ้าทำการรักษานวดจัดกระดูก จะใช้เวลารักษานานกว่าแบบสาเหตุจากกล้ามเนื้อหดเกร็ง 
  3. ความเสื่อมของร่างกาย เมื่ออายุมากขึ้น ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงของกระดูกสันหลังได้ จำพวกกระดูกเสื่อม กระดูกพรุน หมอนรองกระดูกเสื่อมสภาพ ในกรณีผู้สูงอายุ จะรักษาเพื่อประคองอาการ ลดอาการปวด แต่ไม่อาจช่วยลดความเสื่อมได้ 
  4. สาเหตุอื่น ๆ เช่น กระดูกสันหลังติดเชื้อ มีเนื้องอก กรณีที่โครงสร้างกระดูกผิดปกติจากสาเหตุเหล่านี้จะไม่ทำหัตถการในการจัดกระดูก 
คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?