เป็นโรคที่พบได้ทุกช่วงอายุ แต่จะพบมากในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โรคนี้จะติดต่อกันได้ในสถานที่ที่มีเด็กๆ อยู่รวมกันจำนวนมาก เช่น โรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก โดยโรคนี้สังเกตได้จากการเกิดแผลขนาดเล็กในลำคอ มีไข้ อ่อนเพลีย ทำให้เด็กๆ เบื่ออาหาร ไม่ยอมกินข้าว อาจมีการอาเจียนด้วย เด็กเล็กจะซึม งอแง สำหรับเด็กโตมักพบอาการเจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดคอ แต่โรคนี้ไม่รุนแรง สามารถหายได้เองภายใน 7-10 วัน โดยพบได้บ่อยในช่วงฤดูฝน และฤดูร้อน
Herpangina เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส Enterovirus โดยเกิดในระบบทางเดินอาหารเป็นสำคัญ ไวรัสในกลุ่มนี้มีหลายขนิด หลายสายพันธุ์ การป่วยเป็นโรคนี้แล้วครั้งหนึ่งก็จะทำให้มีภูมิคุ้มกันและไม่เป็นโรคจากไวรัสสายพันธุ์เดิมนี้ได้อีก แต่ก็มีโอกาสเป็นซ้ำจากการติดไวรัสสายพันธุ์อื่น
โรคนี้แพร่เชื้อผ่านทางน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ อุจจาระ หรือการแพร่เชื้อที่ปนเปื้อนมาในน้ำ อาหาร ภาชนะ มือ ของเล่น โต๊ะเก้าอี้ วัสดุต่างๆ ผ่านเข้าทางปาก ซึ่งไวรัสกลุ่มนี้มีศักยภาพสูงมากในการก่อโรค การได้รับเชื้อเพียงแค่ 10-100 ตัวก็สามารถเกิดการติดเชื้อได้
อาการของโรคแตกต่างกันไปในเด็กแต่ละคน ที่พบได้คือ มีไข้แบบเฉียบพลัน ได้รับยาลดไข้แล้วไม่ดีขึ้น และอาจมีไข้สูง 40 องศา เด็กบางคนอาจมีอาการชักจากไข้สูง กลืนลำบาก ทำให้ปฏิเสธอาหาร เบื่ออาหาร น้ำลายไหล อาเจียน อาจพบมีภาวะร่างกายขาดน้ำ เช่น ริมฝีปากแห้ง ตาโหล ร้องไห้ไม่มีน้ำตา ปัสสาวะสีเข้ม ปัสสาวะน้อย พบแผลในปาก เป็นแผลเล็กๆ หลายแผลบริเวณเพดานอ่อน ต่อมทอนซิล ผนังคอด้านหลัง ลักษณะของแผลที่พบจะเกิดใน 2 วันหลังการติดเชื้อ โดยแผลมีขนาด 2-4 มิลลิเมตร สีขาวหรือเทาอ่อนมีขอบแดง ซึ่งส่วนใหญ่แผลหายภายใน 7 วัน
แพทย์จะวินิจฉัยจากลักษณะรอยแผลในปาก โดยเฮอแปงไจน่าจะมีลักษณะเฉพาะแตกต่างจากแผลจากโรคอื่นๆ ทั้งนี้แพทย์จะซักประวัติอาการป่วย เพิ่มเติมอย่างละเอียด
แต่หากเด็กมีไข้สูง ได้ยาลดไข้แล้วไม่ดีขึ้น เด็กมีอาการชักจากไข้สูง ไม่ยอมดื่มน้ำ นม หรือรับประทานอาหารได้น้อยมาก มีภาวะขาดน้ำที่เห็นได้ชัด เช่น ปัสสาวะน้อยและมีสีเข้มมาก ริมฝีปากแห้ง ตาโหลลึก ซึมผิดสังเกตุ หรือแสดงอาการกระสับกระส่าย ผู้ปกครองควรรีบพาเด็กมาพบแพทย์โดยเร็ว
เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันโรคนี้ คุณพ่อคุณแม่จะต้องดูแลเรื่องสุขอนามัย หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ โดยเฉพาะก่อนหลังรับประทานอาหาร รวมถึงก่อนปรุงอาหาร ใช้กระดาษชำระหรือผ้าเช็ดหน้าปิดเวลาไอจาม หรือใช้ท้องแขนปิดปาก ทิ้งกระดาษชำระที่ใช้แล้วลงถังขยะ และล้างมือหลังจากใช้ห้องน้ำทุกครั้ง ผู้ที่ดูแลเด็กที่ป่วยเป็นโรคนี้ ต้องล้างมือก่อนและหลังการเปลี่ยนผ้าอ้อม ชุดชั้นในเด็ก หรือหลังการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ อุจจาระของเด็ก หมั่นทำความสะอาด พื้น โต๊ะ เก้าอี้ ของเล่น และวัสดุอื่นที่เด็กชอบหยิบจับ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อบ่อยๆ และหากเด็กป่วยเป็นโรคเฮอแปงไจน่า ต้องหยุดเรียน 1 สัปดาห์ เพื่อไม่ให้แพร่เชื้อ
สมัครสมาชิกเพื่อจัดเก็บข้อมูลของคุณสำหรับการนัดหมายครั้งต่อไป
มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว? เข้าสู่ระบบที่นี่