รู้ทัน ป้องกันโรคหืด

รู้ทัน ป้องกันโรคหืด

HIGHLIGHTS:

  • โรคหอบหืด คือ โรคที่มีการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม พบในเด็กมากถึง 10 –15% และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
  • ผู้ป่วยโรคหืดทุกคนควรได้รับการตรวจสมรรถภาพปอด เพื่อวินิจฉัยว่าเป็น โรคหืด จริงหรือไม่ หรือความรุนแรงของโรคอยู่ในระดับไหน
  • อาการหอบหืด เช่น หอบเหนื่อย หายใจลำบาก หรือหายใจเร็ว โดยเฉพาะกลางคืน เช้ามืด ขณะออกกำลังกาย ขณะเป็นไข้หวัด

โรคหอบหืด (Asthma) คืออะไร

โรคหอบหืด (Asthma) คือ โรคที่มีการอักเสบเรื้อรังของหลอดลมร่วมกับมีภาวะหลอดลมไวและหลอดลมตีบแคบ เกิดจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อหลอดลม ซึ่งเป็นๆ หายๆ

เป็นโรคเรื้อรังที่พบบ่อยในประเทศไทย พบในเด็กจำนวนมากถึง 10 –15% (ผู้ใหญ่พบน้อยกว่าคือ 8-10%) จากการสำรวจพบว่าอุบัติการณ์ของโรคนี้เพิ่มขึ้นสูงกว่าแต่ก่อนมาก และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

อาการของผู้ป่วยโรคหืด จะหอบเหนื่อยเป็นๆ หายๆ สมรรถภาพในการทำงานของปอดลดลง ทำให้เหนื่อยง่ายกว่าคนปกติ บางครั้งจะมีอาการหอบรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉิน เข้านอนรับการรักษาต่อเนื่องในโรงพยาบาล


2 ใน 3 ของเด็กที่เป็นโรคหืดจะมีภาวะภูมิแพ้ร่วมด้วย

เด็กที่มี อาการหอบหืด ภูมิแพ้ เมื่อผู้ป่วยเด็กมีอาการทางจมูกมากขึ้น ก็จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการหอบมากขึ้นได้ และในทางตรงกันข้ามถ้าได้ควบคุมอาการของโรคทางจมูกได้ดี ก็จะทำให้อาการหอบหืดน้อยลงด้วย

โรคหอบหืดเกิดจากอะไร

  • พันธุกรรม ถ้าพ่อแม่เป็นโรคหืด ลูกจะมีโอกาสเป็นโรคหืดเพิ่มขึ้น
  • สิ่งแวดล้อม ได้แก่ สารก่อภูมิแพ้พวก ไรฝุ่น ขนสุนัข-แมว บุหรี่ ฯลฯ

อาการโรคหอบหืด

  • ไอแห้งๆ มีเสมหะขาวใส
  • หายใจขัด หายใจมีเสียงหวีด
  • แน่นหน้าอก
  • หอบเหนื่อย หายใจลำบาก หรือหายใจเร็ว โดยเฉพาะกลางคืน เช้ามืด ขณะออกกำลังกาย ขณะเป็นไข้หวัด

เนื่องจากหลอดลมผู้ป่วยโรคหืดไวต่อสิ่งกระตุ้นผิดปกติ ดังนั้นเวลาสัมผัสสิ่งกระตุ้นหลอดลมจะหดตัวทำให้หลอดลมตีบ

  • ถ้าหลอดลมไม่ตีบมากนัก ผู้ป่วยอาจมีแต่อาการไอเพียงอย่างเดียว โดยไม่รู้สึกเหนื่อยหอบหายใจลำบากหรือมีเสียงเสียงหวีด

อาการหอบ หายใจลำบากและมีเสียงหวีดนี้ บางครั้งอาจทุเลาหายไปได้เองหรือดีขึ้นเมื่อกินยาหรือพ่นยาขยายหลอดลม

  • ถ้าหลอดลมตีบมาก ผู้ป่วยก็จะมีอาการมาก อาจต้องมารับการรักษาที่โรงพยาบาลหรือห้องฉุกเฉิน หากหลอดลมตีบมาก ผู้ป่วยจะหายใจไม่ได้ ขาดอากาศและเสียชีวิตได้

สิ่งกระตุ้นทำให้ผู้ป่วยจับหืด ได้แก่

  • สารก่อภูมิแพ้ เช่น ขนสุนัข ขนแมว ไรฝุ่น ละอองเกสรดอกไม้
  • การเปลี่ยนแปลงของอากาศ
  • การออกกำลังกาย การหัวเราะมาก ๆ
  • อารมณ์เปลี่ยนแปลงบ่อย เครียด
  • การรับประทานยาบางตัว เช่น ยากลุ่มแอสไพริน ยาต้านการอักเสบกลุ่ม NSAIDs และยาลดความดันโลหิตกลุ่มบีตาบลอกเกอร์ (Beta-blocker)

การตรวจวินิจฉัย โรคหืด

  • แพทย์ซักประวัติอาการโรคหืด

มีอาการไอหอบ หายใจมีเสียงหวีด เป็นๆ หายๆ หรือมีอาการไอเรื้อรัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าไอมากในเวลากลางคืน หรือคนที่ไอเรื้อรังหลังจากเป็นไข้หวัด

  • ตรวจร่างกาย

ฟังการหายใจเพื่อดูว่ามีหลอดลมตีบหรือไม่ โดยฟังจากเสียงหวีดที่ทรวงอกทั้งสองข้าง

  • การตรวจทางห้องปฏิบัติการ

  • การทดสอบภูมิแพ้ (Allergy testing)

เพราะผู้ป่วยโรคหืดบางส่วนมีภาวะภูมิแพ้ร่วมด้วย การทดสอบดังกล่าวจึงช่วยให้ทราบสารก่อภูมิแพ้ที่เป็นต้นเหตุของอาการหอบหืดได้อีกด้วย จะได้เลี่ยงได้ถูก

  • การตรวจสมรรถภาพปอด (Spirometry)

การตรวจสมรรถภาพปอด โดยเครื่องมือ Spirometry ควรทำในเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป เพื่อวัดปริมาตรและความเร็วลมที่ออกมา

ถ้าหลอดลมตีบความเร็วลมที่เป่าออกมาจะลดลง ซึ่งถ้าพบว่ามีการอุดกั้นทางเดินหายใจ หรือ หลอดลมตีบ ต้องให้ผู้ป่วยพ่นยาขยายหลอดลม เพื่อตรวจความเร็วลมที่เป่าออกมาซ้ำอีกครั้ง

ถ้าค่าการตรวจความเร็วลมดีขึ้นมากกว่าเดิม 12% ก็สามารถวินิจฉัยได้ว่าเป็นโรคหืด (ผู้ป่วยโรคหืดควรได้รับการตรวจสมรรถภาพปอดทุกคน เพื่อวินิจฉัยว่าเป็นโรคหืดจริงหรือไม่ หรือรุนแรงของโรคอยู่ในระดับไหน)

  • การใช้ Peak Flow Meter คือ วิธีตรวจสมรรถภาพปอดแบบง่ายๆ ที่ผู้ป่วยสามารถทำเองได้ที่บ้าน โดยวัดความเร็วลมสูงสุดที่เป่า ซึ่งจะสามารถประเมินความรุนแรงของโรคได้

การวัดความไวของหลอดลมต่อสิ่งกระตุ้น (Bronchial provocation test) บางครั้งแพทย์จะวินิจฉัยโรคหืดด้วยวิธีนี้ ในกรณีผู้ป่วยไม่มีอาการหอบ เพราะค่าการตรวจสมรรถภาพปอดจะออกในเกณฑ์ปกติ ทำให้วินิจฉัยโรคหืดไม่ได้

วิธีการวัดความไวของหลอดลมทำได้ไม่ยาก โดยให้ผู้ป่วยเป่าลมในการตรวจสมรรถภาพปอดแล้วให้สูดดมสารกระตุ้นเช่น สารเมธาโคลีน (Methacholine) หลังจากนั้นวัดค่าการเป่าลมซ้ำแล้วค่อยๆ เพิ่มความเข้มข้นของสารกระตุ้นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งค่าเป่าลมลดลง 20% ซึ่งแพทย์จะแปลผลและวินิจฉัยโรคหืดได้จากการนำค่าสมรรถภาพปอดที่ลดลงและขนาดของสารกระตุ้นมาเขียนเป็นรูปกราฟ

  • นอกจากนี้แพทย์อาจสั่งตรวจเอกซเรย์ปอดเพิ่มเติม

การรักษาโรคหอบหืด

ก่อนหน้านี้เข้าใจกันว่า โรคหืดเป็นโรคที่รักษาไม่ได้ จึงรักษาแต่อาการที่เกิดจากหลอดลมหด โดยการให้ยาคลายกล้ามเนื้อ หรือ ยาขยายหลอดลม แต่ปัจจุบันความรู้เกี่ยวกับโรคหืดพัฒนาไปมาก มีวิธีการรักษาโรคหืดที่ได้ผล ทำให้ผู้ป่วยโรคหืดมีชีวิตเหมือนคนปกติธรรมดาได้ โดยมีแนวทางดังนี้

  1. ผู้ป่วยและญาติต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคหืด และ ยารักษาโรค พร้อมให้ความร่วมมือกับแพทย์ในการรักษา
  2. ผู้ป่วยต้องหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้หอบ โดยเฉพาะพวกสารก่อภูมิแพ้ ฝุ่นบ้าน ไรฝุ่น และขนสัตว์
  3. ผู้ป่วยจะต้องรู้จักการประเมินโรค ต้องมีการประเมินสมรรถภาพปอดด้วย และถ้ามีพีคโฟลว์ มิเตอร์ (Peak Flow Meter) ไว้ที่บ้านจะสามารถประเมินและติดตามอาการของโรคได้ดีขึ้น
  4. การใช้ยารักษามี 2 ชนิดคือ

4.1. ยาควบคุมโรค (Controllers) เป็นยาที่ใช้เพื่อควบคุมโรคต้องใช้สม่ำเสมอแม้ว่าจะไม่มีอาการประกอบด้วยยาพ่นสเตียรอยด์ (inhaled corticosteroids) เป็นยาหลักที่ใช้ในการรักษาโรคหืดโดยเฉพาะ และเป็นยาที่ปลอดภัย เพราะขนาดยาที่ใช้จะต่ำมาก

แต่ก็อาจมีอาการข้างเคียงตามมาได้ เช่น เสียงแหบและมีฝ้าขาวในปากจากเชื้อรา ซึ่งสามารถป้องกันได้โดยบ้วนปากทุกครั้งหลังพ่นยาด้วยน้ำสะอาดหรือน้ำเกลือ

4.2. ยาขยายหลอดลม หรือ ยาบรรเทาอาการ (relievers) จะใช้เฉพาะเวลาที่มีอาการหอบเท่านั้น อาการข้างเคียงของยากลุ่มนี้คืออาจจะมีใจสั่น มือสั่นบ้าง

ยาพ่นเป็นยาที่ดี เพราะเป็นยาที่ใช้เฉพาะที่ ได้ผลดีและปริมาณยาที่ใช้มีขนาดต่ำมาก ทำให้มีอาการข้างเคียงน้อยกว่ายากิน ปัจจุบันการรักษาจึงนิยมใช้ยาชนิดสูดพ่นเป็นหลัก

โรคหืด กับวัคซีนไข้หวัดใหญ่

ผู้ป่วยโรคหืด ควรได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ ที่จะทำให้อาการของโรคหืดกำเริบ รวมทั้งเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้


คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?