จากสถิติทั่วโลกที่ทำการศึกษาโดย Eric L. Cheung ได้ตีพิมพ์ออกมาในวารสาร Pediatrics ปี 2017 พบว่า ในโซนทวีปอเมริกา ยุโรป กลุ่มอเมริกาใต้ และกลุ่มแอฟริกัน-อเมริกัน มีความชุกของภาวะน้ำหนักเกินผิดปกติโดยรวมถึง 39-43% โดยเป็นเด็กอ้วน 21-23% ในขณะที่เด็กเอเชียเป็นเด็กอ้วนประมาณ 10%
ความดันโลหิตของช่วงวัยเด็กและปัจจัยที่มีผล
- อายุ ความดันโลหิตแปรผันและจะเพิ่มขึ้นตามอายุ และจะมีค่าเทียบเท่าผู้ใหญ่เมื่อเด็กมีอายุ 13 ปี
- เพศ เป็นปัจจัยที่มีผลต่อความดันโลหิต ซึ่งอาจเป็นปัจจัยเรื่องของฮอร์โมนร่วมด้วย โดยเด็กผู้ชายจะมีค่าความดันโลหิตที่สูงกว่าเด็กผู้หญิง
- ความสูง เด็กที่มีส่วนสูงมากกว่าในช่วงอายุเดียวกันก็จะมีแนวโน้มความดันโลหิตที่สูงกว่า
- กิจกรรมทางกายและภาวะเครียดทางด้านจิตใจ ปัจจัยนี้จะมีผลให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงขึ้นได้ชั่วคราว
ความดันโลหิตสูงใน เด็กอ้วน เกิดขึ้นได้อย่างไร
มีการศึกษาเกี่ยวกับความดันโลหิตสูงจากภาวะอ้วนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะมาจากปัจจัยของภาวะดื้ออินซูลิน ฮอร์โมนจากไขมัน เช่น เลปติน กลุ่มสารอนุมูลอิสระ และที่น่าสนใจอีกตัวคือ ฮอร์โมนอัลโดสเตอโรน (Aldosterone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีส่วนสำคัญในการควบคุมระดับเกลือแร่และความดันโลหิตของร่างกาย จากการศึกษาของอาจารย์ Wakako Kawarazaki ที่ตีพิมพ์เมื่อ 2016 พบว่า ในภาวะอ้วนการรับรู้ต่อกลไกการขับและปรับระดับเกลือโซเดียมที่ไตในคนอ้วนผิดปกติ และมีผลทำให้มีภาวะความดันโลหิตสูงผิดปกติ รวมถึงความดันในไตก็จะสูงกว่าปกติด้วย
ความเสี่ยง เมื่อเด็กมีภาวะ ความดันโลหิตสูง
- เพิ่มความเสี่ยงต่อเส้นเลือดหัวใจผิดปกติ เส้นเลือดเสื่อมเร็วขึ้นเหมือนกับผู้สูงอายุ หรือที่เรียกว่า เส้นเลือดแก่ตัวเร็วขึ้น ทำให้มีแนวโน้มความเสี่ยงของภาวะฉุกเฉินต่างๆ ทั้งหัวใจ เส้นเลือดสมอง หรือแม้แต่ความเสี่ยงของภาวะไตวายเรื้อรัง
- เสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดแดงแข็ง ส่งผลให้สมองเกิดการขาดเลือดได้ มักมีอาการชาในบริเวณแขนขา หากไม่ได้รับการรักษาจะทำให้เป็นอัมพาต ก่อนวัยอันควร
- การตรวจคัดกรองภาวะความดันโลหิตสูงในเด็ก สามารถสะท้อนโรคแฝงอื่นๆในครอบครัว อันอาจเป็นการกระตุ้นการสืบค้นและเฝ้าระวังภาวะความดันโลหิตสูงหรือโรคแฝงอื่นของสมาชิกในครอบครัวแต่เนิ่นๆ