เปิดเทอมทีไร ทำไมลูกป่วยทุกที ทั้งที่ใส่หน้ากากอนามัย

เปิดเทอมทีไร ทำไมลูกป่วยทุกที ทั้งที่ใส่หน้ากากอนามัย

HIGHLIGHTS:

  • ในทางปฏิบัติแล้ว การเว้นระยะห่างทางสังคมแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยโดยเฉพาะในเด็กเล็กๆ เพราะเวลาเจอกัน เด็กๆ ก็มักจะต้องเข้าหากัน วิ่งเล่นด้วยกัน สัมผัสถูกตัวกัน ดังนั้น โอกาสที่เชื้อจะแพร่กระจายจากคนหนึ่งไปถึงอีกคนหนึ่งจึงเป็นเรื่องง่าย
  • เด็กควรให้ได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เพราะมีส่วนทำให้ร่างกายแข็งแรงมีภูมิต้านทาน และเด็กๆ ที่ขาดวิตามิน ควรได้รับวิตามินรวมและวิตามินซี พร้อมทั้งปฏิบัติตามหลัก New normal เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคต่าง ๆ

หลังจากเปิดเทอมไปแค่ไม่กี่วัน ลูกๆ ก็ไม่สบาย ต้องหยุดเรียนอีกแล้ว ปัญหาเดิมๆ คือ ลูกป่วย คุณพ่อคุณแม่ก็กลุ้มใจ ไม่รู้จะทำยังไง ใส่หน้ากากก็แล้ว ล้างมือก็แล้ว ทำไมลูกยังป่วยได้อีกก็ไม่รู้ ทั้งๆ ที่โรงเรียนก็มีมาตรการในการรักษาความสะอาดตามวิถีนิว นอร์มอลแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการให้นักเรียนทุกคนใส่หน้ากาก การวัดไข้ก่อนเข้าโรงเรียน หรือแม้กระทั่งการมีฉากกั้นระหว่างโต๊ะเรียน แต่ลูกๆ ก็ยังป่วยอยู่ดี

การใส่หน้ากากอนามัย (mask for kid) ช่วยป้องกันโรคได้แค่ไหน

หลังจากเกิดแนวทางปฏิบัติต่างๆ ในโรงเรียน หรือ New normal ของเด็กๆ รวมถึงมาตรการของโรงเรียนเอง ที่ต้องทั้งเว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัย หรือแม้กระทั่งบางโรงเรียนมีฉากกั้นระหว่างโต๊ะเรียนก็ตาม พ่อแม่ยังคงเจอกับปัญหาลูกป่วย ลูกไม่สบาย

สาเหตุที่ลูกป่วยทั้งที่ใส่หน้ากากอนามัย เกิดจากอะไร

  1. หน้ากากอนามัย เด็กๆ อาจจะไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา โดยเฉพาะตอนที่วิ่งเล่นกับเพื่อนๆ เด็กก็อาจจะถอดเพื่อให้หายใจได้สะดวกขึ้น ยิ่งถ้าเป็นเด็กเล็กๆ โอกาสที่จะถอดหน้ากากออกเองก็ยิ่งมีสูงขึ้น เพราะความไม่คุ้นชิน ซึ่งนั่นก็อาจทำให้เด็กๆ สูดอากาศที่มีเชื้อหวัดปนอยู่เข้าไป
  2. การเว้นระยะห่างทางสังคม Social distancing หรือ Physical distancing ในทางปฏิบัติแล้วแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยโดยเฉพาะในเด็กเล็กๆ เพราะเวลาเจอกัน เด็กๆ ก็มักจะต้องเข้าหากัน วิ่งเล่นด้วยกัน สัมผัสถูกตัวกัน ดังนั้น โอกาสที่เชื้อจะแพร่กระจายจากคนหนึ่งไปถึงอีกคนหนึ่งก็ไม่ใช่เรื่องยากเลย
  3. สภาพอากาศ โดยเฉพาะช่วงนี้ที่เป็นฤดูฝน บวกกับลม ส่งผลให้เชื้อแพร่กระจายได้ง่ายกว่าปกติ ซึ่งเชื้อโรคเองก็ชอบอากาศแบบนี้ เพราะจะช่วยให้พวกมันเจริญเติบโตได้ดี
  4. โรคประจำตัวของเด็ก เช่น ภูมิแพ้ ยิ่งในสภาพอากาศในหน้าฝน ก็อาจจะทำให้อาการของโรคที่มีอยู่แล้วกำเริบขึ้นได้

แนวทางป้องกัน พ่อแม่จะรับมืออย่างไรเมื่อลูกป่วย

  1. ถ้าลูกไม่สบาย แม้จะเล็กๆ น้อยๆ เช่น ไอ จาม มีน้ำมูก หรือมีไข้เกิน 37.5 องศา ควรให้ลูกหยุดเรียน และรีบพาไปพบแพทย์ และก่อนที่จะไปโรงเรียนให้ลูกอีกครั้ง ก็ต้องดูให้แน่ใจว่าลูกหายดีแล้วจริงๆ เพราะถ้ารีบไปโรงเรียนในขณะที่ภูมิคุ้มกันยังอ่อนแออยู่ เด็กๆ ก็อาจจะกลับมาป่วยซ้ำอีก หรือถ้าเชื้อที่มีอยู่ยังไม่หมดไป ก็อาจจะไปแพร่เชื้อให้กับเด็กคนอื่นได้
  2. ในกรณีที่ลูกมีโรคประจำตัว เช่น เป็นภูมิแพ้ ซึ่งอาจจะทำให้มีอาการคัดจมูกและน้ำมูกไหลเป็นประจำ คุณพ่อคุณแม่ก็ควรแจ้งให้คุณครูทราบ หรือให้แพทย์ออกใบรับรองนำไปยื่นที่โรงเรียน เพื่อบอกว่าลูกของคุณมีโรคประจำตัวเท่านั้นไม่ได้เป็นไข้และไม่ได้มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด 19 คุณพ่อคุณแม่ท่านอื่นๆ หรือคุณครูเองก็จะได้สบายใจ
  3. วัคซีน คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปฉีดวัคซีนตามกำหนดอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในเด็กเล็กๆ ยกตัวอย่างเช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ถ้าได้รับนานเกิน 6 เดือนแล้ว ก็ควรจะพาไปฉีดซ้ำ เพื่อกระตู้นภูมิ
  4. วิตามิน ควรให้เด็กรับประทานวิตามินรวมหรือวิตามินซีเสริมด้วย ก็จะช่วยให้ลูกมีภูมิต้านทานมากขึ้น (แต่ถ้าเด็กๆ ชอบรับประทานผักผลไม้อยู่แล้วก็อาจจะไม่จำเป็น) ซึ่งถ้าไม่แน่ใจว่าจะให้ลูกรับประทานวิตามินชนิดไหน และต้องรับประทานอย่างไร ก็สามารถพาลูกไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำได

อาการเจ็บป่วย หรือไม่สบาย (ไม่ว่าจะในเด็กหรือผู้ใหญ่) เป็นเรื่องธรรมชาติ เพราะเราคงไม่สามารถห้ามเชื้อโรคไม่ให้เข้าใกล้เราได้  สิ่งสำคัญก็คือ คุณพ่อคุณแม่ต้องช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับลูกๆ ให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบทั้ง 5 หมู่ การออกกำลังกายกลางแจ้ง เพื่อให้ร่างกายได้รับวิตามินดีจากแสงแดด การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รวมถึงการดูแลความสะอาดของร่างกาย

ยิ่งในช่วงนี้ ก็อย่าลืมให้ลูกๆ ใส่หน้ากากอนามัยก่อนออกจากบ้าน ล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อยๆ หรืออย่างน้อยก็ทุกครั้งก่อนที่จะรับประทานอาหาร ไม่ไปในที่ที่มีคนเยอะๆ เพียงเท่านี้ก็ช่วยให้ลูกๆ ของเรามีสุขภาพที่แข็งแรงได้


คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?