หัวใจดวงเล็ก (ของเด็ก) เต้นผิดจังหวะ

หัวใจดวงเล็ก (ของเด็ก) เต้นผิดจังหวะ

หลายครั้งที่เด็กเล็กมีการเต้นของหัวใจผิดจังหวะ ช้าบ้าง เร็วบ้าง หรือในบางรายอาจอ่อนเพลีย หรือร้องไห้โยเย แต่พ่อแม่ไม่คิดว่าเป็นความผิดปกติ เนื่องจากไม่คิดว่าเด็กๆ ก็เป็นโรคหัวใจได้เช่นกัน

โรค หัวใจเต้นผิดจังหวะในเด็ก มักพบว่าหัวใจเต้นเร็วผิดปกติเป็นๆ หายๆ ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาและมีอาการอยู่นานกว่า 24 ชั่วโมง อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจวายได้

สาเหตุของ โรคหัวใจในเด็ก

หัวใจเต้นผิดจังหวะในเด็ก ส่วนใหญ่เกิดจากความผิดปกติของหัวใจมาตั้งแต่เกิด หรืออาจเกิดภายหลังจากภาวะลิ้นหัวใจรั่ว ส่งผลให้คลื่นไฟฟ้าหัวใจทำงานผิดปกติ หรือคลื่นไฟฟ้าหัวใจถูกทำลาย ทำให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ของร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โรคหัวใจในเด็ก อาการเป็นอย่างไร

ส่วนใหญ่ หัวใจเต้นผิดจังหวะในเด็ก มักไม่มีอาการ แต่อาจพบอาการที่สังเกต ได้คือ

  • ใจสั่น หัวใจเต้นแรง ขณะนอนหลับ หรือพักผ่อน โดยที่เด็กไม่ได้ร้องไห้ หรือวิ่งเล่น
  • จังหวะการเต้นของหัวใจไม่สม่ำเสมอ อาจรู้สึกเหมือนหัวใจหยุดเต้นเป็นพักๆ
  • เด็กๆ อ่อนเพลีย หรือมีอาการหน้ามืด

หากหัวใจเต้นผิดจังหวะจนไม่สามารถสูบฉีดโลหิตได้ตามปกติเป็นเวลานาน หัวใจอาจหยุดทำงานได้ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรรีบพาเด็กๆ ไปโรงพยาบาลทันที เมื่อเกิดอาการเหล่านี้

  • งอแงกระสับกระส่าย
  • แขนขาอ่อนแรงเฉียบพลัน
  • หน้ามืด เป็นลม
  • หายใจไม่ออก
  • แน่นหน้าอก ใจสั่น

การตรวจวินิจฉัย หัวใจเต้นผิดจังหวะในเด็ก

  • ซักประวัติและตรวจร่างกาย เนื่องจากเด็กบางคนอาจดื่มกาแฟหรือเครื่องดื่มชูกำลังโดยไม่บอกผู้ปกครองหรืออาจเกิดจากโรคบางชนิด เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น
  • ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram) ขณะมีอาการ
  • ติดเครื่องบันทึกคลื่นหัวใจ (Holter monitor) สำหรับ โรคหัวใจในเด็ก เด็กที่มีอาการบ่อยแต่ไม่ได้เป็นตลอดเวลา โดยแปะสติ๊กเกอร์เล็กๆ ที่มี electrode ต่อเข้ากับเครื่อง recorder เพื่อบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจไว้ประมาณ 24 – 48 ชั่วโมง เพื่อดูลักษณะของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
  • ตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echocardiogram) เพื่อดูประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจ

การรักษา หัวใจเต้นผิดจังหวะในเด็ก

  • การใช้ยา เพื่อช่วยควมคุมจังหวะการเต้นของหัวใจให้มีความสม่ำเสมอ กลุ่มยาที่ใช้รักษา ได้แก่ ยากลุ่มเบต้าบลอกเกอร์ (Beta Blocker) ยากลุ่มแคลเซียมแชนแนล บลอกเกอร์ (Calcium Channel Blocker) และยากลุ่มแอนติอาร์ริทมิก (Anti-Arrhythmic) ซึ่งอาจต้องใช้ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulant) เพื่อป้องกันเลือดแข็งตัว
  • ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ (Pacemaker) ในกรณีที่เด็กมีภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ โดยใส่ใต้ผิวหนังบริเวณหน้าอก เพื่อตรวจจังหวะการเต้นของหัวใจ และกระตุ้นให้หัวใจเต้นในจังหวะที่เหมาะสม
  • ปรับจังหวะการเต้นของหัวใจด้วยไฟฟ้า (Cardioversion) สำหรับเด็กที่หัวใจเต้นเร็วเกินไป โดยใช้แผ่นแปะที่หน้าอกของผู้ป่วย จากนั้นเปิดกระแสไฟฟ้าจากเครื่องส่งภายนอกร่างกาย ช่วยปรับการเต้นของหัวใจใหม่
  • ใส่ขดลวดขยายหลอดเลือดหัวใจ (Intracoronary Stent) หรือผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Bypass Graft ) กรณีที่หัวใจเต้นผิดจังหวะเกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Disease)

การสังเกตอาการของ โรคหัวใจในเด็ก หรืออาการหัวใจเด็กเต้นผิดจังหวะอาจทำได้ยาก โดยเฉพาะในเด็กเล็กๆ อย่างไรก็ตามผู้ปกครองไม่ควรมองข้ามอาการผิดปกติเล็กๆ น้อยๆ ของลูกหลาน รวมถึงช่วยเด็กๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดย ไม่ปล่อยให้เด็กมีน้ำหนักเกิน รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ไขมันต่ำ และเกลือต่ำ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และหมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลงของเด็กๆ เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นภายหลัง

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?